อิติปิโสรัตนมาลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระคาถารัตนมาลา)

พระคาถารัตนมาลา[แก้]

รัตนมาลา หรือพระคาถาอิติปิโสรัตนมาลา เป็นคาถา หรือร้อยกรองภาษาบาลี บรรยายคุณความดีของพระพุทธเจ้า ความยิ่งใหญ่ของพระธรรมวินัย และความดีงามของพระสงฆ์ โดยนำอักขระแรกบทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ หรือบทสวดอิติปิโสฯ มาแจกแจงเป็นคาถาเอกเทศนับรวมได้ท้งหมด 108 บท โดยแบ่งออกเป็นบทสรรเสริญพุทธคุณจำนวน 56 บท บทสรรเสริญพระธรรมคุณจำนวน 38 บท และบทสรรเสริญพระสังฆคุณจำนวน 14 บท

ประวัติ[แก้]

ในบรรดาผู้นิยมสาธยายบทสวดรัตนมาลาต่างกล่าวถึงที่มาของบทสวดนี้ต่างๆ กันออกไป แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุได้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าผู้ใดที่รจนาพระคาถานี้ หรือพระคาถานี้ได้รับการรจนาขึ้นเมื่อใด บางตำรากล่าวว่า อิติปิโสรัตนมาลา 108 คาถา มีมาแต่โบราณกาล สืบทอดกันมาหลายสำนวน หลายฉบับ บางฉบับเขียนเล่าไว้ว่า พระอาจารย์หลายท่านช่วยกันแต่ง จารึกไว้ในแผ่นศิลา แล้วนำมาแช่ไว้ในสระหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีหลายท่านทรงจำไว้ได้ มากบ้างน้อยบ้างสืบๆกันมา [1] บางความเห็นระบุเพียงว่า ได้รับการสืบทอดมาจากคณาจารย์สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยังใช้ปลุกเสกพระสมเด็จของท่าน [2]

ทั้งนี้ F. Bizot ได้ทำการศึกษาการใช้มนต์ภาาบาลีเขียนยันต์ และพบว่า ในบรรดาคาถาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพิธีพุทธาภิเษกคือ รัตนมาลา ซึ่งพบฉบับต่างๆ ในพม่า ไทย และกัมพูชา โดยพบหลักฐานครั้งแรกในจารึกที่เมืองพุกาม เมื่อปีค.ศ. 1442 [3]

ชื่อ[แก้]

คำว่า รัตนมาลา หมายถึง หรือมาลัยแห่งดวงแก้ว บางแห่งแปลว่า ดอกไม้สวรรค์ เหตุที่เรียกว่า มาลัยดวงแก้ว อาจหมายถึงการร้อยเรียงอักขระเป็นคาถา หรือ ร้อยแก้ว ประหนึ่งร้อยบุปผาเป็นมาลัย ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา อนึ่ง ในคัมภีร์ทีปวงศ์ พงศาวดารลังกา มีการเอ่ยถึงสถานที่ที่มีชื่อว่า รัตนมาลา ไว้ว่า เป็นหนึ่งใน 3 สถานที่ในลังกา ซึ่งพระโกนาคมนพุทธเจ้าเสด็จมาแสดงพระธรรมเทศนา [4]

นอกจากนี้ ยังมีงานนิพนธ์ในพม่าบางฉบับที่ใช้ชื่อว่า รัตนมาลา เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระคาถาอิติปิโส รัตนมาลาแต่อย่างใด แต่คาดว่า อาจได้รับอิทธิพลจากการใช้นามรัตนมาลา ในการสรรเสริญพุทธคุณ อาทิเช่นงานนิพนธ์ที่ชื่อ "รัตนมาลา" เป็นงานร้อยกรองภาษาพม่าเรื่องวิธุรชาดก เป็นต้น ซึ่งรจนาขึ้นในปีพ.ศ. 2336 โดยพระคุณมุนินท์ [5]

ทั้งนี้ ยังมีคัมภีร์ในสารบบอรรถกาพระไตรปิฎกภาษาทิเบต (Tengyur) ที่เรียกว่ารัตนมาลาเช่นกัน แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับพระคาถารัตมาลา [6]

โครงสร้าง[แก้]

พระคาถาแบ่งออกเป็นบทสรรเสริญพุทธคุณจำนวน 56 บท บทสรรเสริญพระธรรมคุณจำนวน 38 บท และบทสรรเสริญพระสังฆคุณจำนวน 14 บท ในส่วนของพุทธคุณมีการแจกแจงอุปเทศครบทั้งหมด 56 บท โดยอุปเทศแต่ละบทอิงกับคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาทิ พระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ

การสาธยาย[แก้]

พระคาถานี้เป็นที่นิยมสาธยายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ หรือกลุ่มประเทศที่นับถือพุทธศาสนาในแถบนี้ อันได้แก่ พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา นิยมใช้กันในพิธีพุทธาภิเษก นอกจากนี้ ยังนำพระคาถาเขียนเป็นยันต์ในลักษณะต่างๆ

ตามความเชื่อแต่โบราณ คณาจารย์ได้มีการสั่งสอนและสืบทอดอุปเทศ (หรือ อุปเท่ห์ หมายถึงการสั่งสอนแจกแจงวิธีการใช้) ว่าด้วยคุณแห่งการสาธยายพระคาถาอิติปิโสรัตนมาลาเฉพาะส่วนของพุทธคุณทั้ง 56 บท นอกจากนี้ แต่ละสำนักและคณาจารย์ยังมีการเสริมรายละเอียดความเชื่อเกี่ยวกับคุณแห่งการสาธยายพุทธคุณแห่งพระคาถาอิติปิโสรัตนมาลาไว้ต่างๆ กัน อาทิ บทที่ 3 คือ

ปิ. ปิโย เทวะมะนุสสานัง พระพุทธเจ้าพระองค์ใด เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ปิโยพรหมานะมุตตะโม เป็นที่รักสูงสุดของพรหมทั้งหลาย

ปิโย นาคะสุปัณณานัง ตลอดไปจนถึงดิรัจฉานมีนาคและครุฑเป็นอาทิ

ปิณินทริยัง นะมามิหัง ข้าฯ ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้มีอินทรีย์อิ่มพระองค์นั้น

โดยอุปเทศตำราระบุว่า "ภาวนานึก สติตรองตรึก อย่าทำร้อนใจ สารพัดเมตตา อย่าได้อาวรณ์ ครูแต่เก่าก่อน เคยได้ใช้มา เสกหมากรับประทาน เป็นที่เสน่หา แก่ชนทั้งหลาย (ภาวนาเสกกระแจะ น้ำมันหอม หมากพลู สารพัดที่กินที่ใช้ เป็นเสน่ห์แก่คนทั้งปวง)"

นอกเหนือจากการสาธยายเพื่อผลทางอานุภาพเหนือธรรมชาติแล้ว พระคาถารัตนมาลา ยังมีประโยชน์ในการสาธยายเพื่อรำลึกถึงคุณแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดเป็นพุทธานสติ อันเป็นหนึ่งใน อนุสสติ 10 หรือ กรรมฐานเป็นเครื่องระลึกถึง มี 10 อย่าง


อ้างอิง[แก้]

  1. คีตะธารา. (2556)
  2. สยามคเณศ. (2554)
  3. Donald K. Swearer. (2004)
  4. G.P. Malalasekera. (2003)
  5. Heinz Bechert, Heinz Braun. (1996)
  6. Donald K. Swearer. (2004)

บรรณานุกรม[แก้]

  • คีตะธารา. (2556). พระคาถาดอกไม้สวรรค์. คีตะธารา
  • สยามคเณศ. (2554). อิติปิโส รัตนมาลา. สำนักพิมพ์สยามคเณศ.
  • G.P. Malalasekera. (2003). Dictionary of Pali Proper Names VOL I. New Delhi. Asian Educational Services.
  • Donald K. Swearer. (2004). Becoming the Buddha: The Ritual of Image Consecration in Thailand. Princeton. Princeton University Press
  • Heinz Bechert, Heinz Braun. (1996). Burmese Manuscripts.