พระครูสันติวีรญาณ (ฟัก สนฺติธมฺโม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระครูสันติวีรญาณ

(ฟัก สนฺติธมฺโม)
พระครูสันติวีรญาณ (ฟัก สนฺติธมฺโม)
ชื่ออื่นหลวงปู่ฟัก
ส่วนบุคคล
เกิด11 ตุลาคม พ.ศ. 2478 (74 ปี 241 วัน ปี)
มรณภาพ9 มิถุนายน พ.ศ. 2553
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดพิชัยพัฒนาราม (เขาน้อยสามผาน) จันทบุรี
อุปสมบท12 พฤษภาคม พ.ศ. 2500
พรรษา53 ปี 28 วัน

พระครูสันติวีรญาณ (ฟัก สนฺติธมฺโม) หรือ หลวงปู่ฟัก นามเดิมคือ สุขจิตร์ พูลกสิ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2478 มรณภาพวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประวัติ[แก้]

กำเนิด[แก้]

พระครูสันติวีรญาณ (ฟัก สฺติธมฺโม) หรือ หลวงปู่ฟัก นามเดิมท่านคือ สุขจิตร์ พูลกะสิน เป็นบุตรของ คุณพ่อสังข์ และ คุณแม่เจน พูลกะสิน เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ณ บ้านเลขที่ 1 หมู่ 4 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

จากคำบอกเล่าของคุณยายท่านหนึ่ง (เพื่อนและญาติรุ่นพี่สมัยเป็นฆราวาส) กล่าวว่า ตอนเด็กพระอาจารย์ฟักท่านอ้วนขาวเหมือนลูกฟัก จึกถูกเรียกว่า "ฟัก" แต่พ่อแม่เรียกว่า "หนู" มีน้องสาวหนึ่งคนชื่อ "แฟง" เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก อายุยังไม่ถึง 9 ขวบ ท่านเลยกลายเป็นลูกโทนไปโดยปริยาย

อุปสมบท[แก้]

งานฉลองกึ่งพุทธกาลเกิดขึ้นเมื่อคืนวันวิสาขบูชาที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 พระสุทธิธรรมรังสี (พ่อลี ธมฺมธโร) ได้ประกาศหลังแสดงพระธรรมเทศนาจบลงว่า "เราจะจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษในปี 2500 ที่วัด อโศการาม....."

ท่านย้ำเหตุที่จะทำงานนี้ว่า 1.ช่วยหมู่คณะ 2.เพื่อเกียรติพระศาสนา 3. เพื่อรักษาข้อปฏิบัติให้ไปสู่จุดหมายคือพระนิพพาน

แผนงานเบื้องต้นของท่านในครั้งนั้นมี 4 ประการ คือ 1.สร้างพระหนึ่งล้านองค์เพื่อแจกผู้มาร่วมงานและบรรจุลงเจดีย์ 2.สรางพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย 3.อุปสมบทพระภิกษุ 80 รูป บรรพชาสามเณร 80 รูป บวชนุ่งขาวถือศีล 8 (อุบาสก) 80 คน อุบาสิกา 80 คน ถเมีจำนวนเกินที่กำหนดไว้ยิ่งดี การบวชมี 7 วันเป็นอย่างต่ำ 4.สร้างพระเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึกในงานสำคัญนี้

ผลของการจัดงานครั้งนั้นได้มีคุณูปการอย่างเอเนกอนันต์ต่อพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนจนถึงทุกวันนี้ เพราะได้ให้กำเนิดพระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ เพื่อความรู้ยิ่ง หนึ่งในนั้น คือ "หลวงปู่ฟัก" ท่านในวัย 22 ปี เป็นหนึ่งใน 637 ชายหนุ่มที่อุปสมบทในงานฉลองกึ่งพุทธกาล ณ วัดอโศการาม เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 มีพระอาจารย์สีลา อิสสโร วัดป่าอิสระธรรม จังหวัดสกลนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระประจักษ์ โอภาโส วัดป่าดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "สนฺติธมฺโม" ความหมายคือ ธรรมะเพื่อความสงบ

ศึกษาธรรม

หลังจากสิ้นท่านพ่อลีในปี พ.ศ. 2504 แล้ว ท่านจึงเดินทางไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด ซึ่งในช่วงนั้นถือเป็น "บ้านตาดยุคแรก" เพิ่งสร้างวัดป่าบ้านตาดได้ไม่นาน ลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัวมีหลายรุ่นมาก จึงมาการจำแนกไว้ 4 ยุค คือ

1."ยุคบ้านห้วยทราย" ช่วงที่หลวงตามหาบัวจำพรรษาที่วัดป่าห้วยทราย อำเภอคำชอี จังหวัดมุกดาหาร คือยุคก่อนสร้างวัดป่าบ้านตาด อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2494-2498 ลูกศิษย์ในยุคนั้นเป็นระดับครูบาอาจารย์อาวุโสที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันหลายท่าน อาทิ หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง จังหวัดร้อยเอ็ด ,หลวงปู่ลี กุสลธโล วัดถ้ำผาแดง จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น 2.หลังจากหลวงตามหาบัวได้พาโยมแม่ออกบวช และน้ำคณะไปสร้างวัดที่สถานีทดลอง จังหวัดจันทบุรี ตามที่ญาติพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท ถวายที่ดิน รวมทั้งไปพำนักที่วัดเขาน้อยสามผานระยะหนึ่งแล้วก็ได้กลับมาสร้างวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เมื่อ พ.ศ. 2499 เพราะโยมแม่ไม่ค่อยสบายและสุงวัยมากแล้ว ไม่สะดวกที่จะเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ยุคนี้เป็นช่วงเวลาที่หลวงตามหาบัวได้เน้นการสอนพระเป็นพิเศษ ครูบาอาจารย์ที่อยู่ร่วมกันในเวลานั้นก็มี อาทิ หลวงปู่ทอง จันทสิริ วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ หลวงปู่ฟัก สนฺติธมฺโม วัดเขาน้อยสามผาน จังหวัดจันทบุรี คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เป็นต้น 3.บ้านตาดยุคกลาง ช่วง พ.ศ. 2511-2528 4.บ้านตาดยุคปัจจุบัน เริ่มจาก พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน

หลวงปู่ฟักเข้าสู่วัดป่าบ้านตาดพร้อมพระอาจารย์แสวง โอภาโส ซึ่งท่านเป็นสหธรรมมิกของหลวงปู่ฟัก ที่ไม่เพียงแต่อุปสมบทเป็นคู่นาคซ้ายขวา ร่วมกันตั้งแต่ในงานฉลองถึ่งพุทธกาลที่วัดอโศการาม หากแต่ยังมาอยู่พร้อมกันที่วัดป่าบ้านตาดและไปอยู่บุกเบิกสร้างวัดเขาน้อยสามผาน กับหลวงปู่ฟัก กระทั่งมรณภาพที่นั่น นับเป็นกัลยาณมิตรองค์สำคัญของหลวงปู่ฟักอย่างยิ่ง

ก่อนหลวงปู่ฟักจะมาถึงวัดป่าบ้านตาดไม่กี่วัน หลวงตามหาบัวได้ถามคุณแม่ชีน้อม ซึ่งพูดภาษาภูไทว่า "เมื่อคนฝันผิเร่อ(ฝันอะไร)" คุณแม่ชีท่านกราบเรียนว่า "ฝันว่าได้ครกตำผักหุ่ง(ตำมะละกอ)จากจันทบุรี ผิวนอกอุยุอะยะ(ขรุขระ) แต่ผิวในเนียนเรียบ" หลวงตามหาบัวถาม "เลี้ยงพระได้ทั้งวัดบ่..." คุณแม่ชีน้อมตอบว่า "เลี้ยงได้ทั่วอยู่" หลวงตามหาบัวถามต่อ "ได้เบิ่ง(ดู)ข้างในไหม" คุณแม่ชีนอมกราบเรียนว่า "จิตเพิ่น (หลวงปู่ฟัก) ผ่องใสดี"

หลายปีผ่านมา เมื่อหลวงปู่ฟักได้ปฏิบัติกิจของพระพุทธศาสนาอย่างหนัก คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ระลึกถึงเรื่องนี้ได้ จึงเอ่ยปากว่า ความฝันของคุณแม่ชีน้อมนั้น "แม่นแท้" และเล่าเรื่องราวความฝันเมื่อครั้งอดีตให้หลวงปู่ฟักฟัง

ในปี 2510 พระอาจารย์หลวงปู่ฟัก สนฺติธมฺโม กลับจันทบุรี “ท่านฟักเป็นพระวัดบ้านตาด แต่ลาไปเยี่ยมพ่อบ้างเยี่ยมแม่บ้าง จนกลายเป็นสมภารวัดเขาน้อยไป” พระอาจารย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กล่าว ถึงเหตุผลที่พระอาจารย์ฟักต้องอำลาชีวิตวัดบ้านตาดกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัด เขาน้อยสามผาน แต่ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือ พระอาจารย์มหาบัวบอกให้พระอาจารย์ฟักกลับมาดูแลโยมบิดาโยมมารดา เมื่อเข้าไปลานั้น หลวงตามหาบัวได้กล่าวต่อท่านว่า “ท่านฟักพอจะตั้งไข่ได้แล้ว แต่ทางจันทบุรียังไม่มีใคร ให้กลับมาพัฒนา” วัดเขาน้อยสามผาน นี้ แต่เดิมเป็นที่พักสงฆ์ ซึ่งเป็นสาขาของวัดอโศการาม เพราะท่านพ่อลี ธัมมธโร ได้เดินธุดงค์ผ่านมาแล้วบอกว่า ที่ดินบนเขานี้ไม่มีเจ้าของ เป็นที่รกร้าง ถ้าทำเป็นที่พักสงฆ์จะเหมาะกว่าข้างล่าง เมื่อชาวบ้านสามผานได้ช่วยกันสร้างกุฏิเล็กๆ ได้ 2-3 หลัง แล้วไปนิมนต์ขอพระสงฆ์กับท่านพ่อลีที่วัดป่าคลองกุ้ง พอดี พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโร เพิ่งเดินทางมาจาก จ.อุดรธานี จึงรับมาจำพรรษาให้

การช่วยเหลือสังคม[แก้]

โครงการช่วยชาติ ศาสนา[แก้]

สิ่งที่หลวงปู่ฟักทุ่มเทแรงใจ แรงกาย และสติปัญญาอย่างเต็มที่ก็คือโครงการผ้าป่าช่วยชาติ โดยหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ที่ระดมศรัทธาจากคนไทยทั้งประเทศสมทบเงินดอลลาร์และทองคำเข้าคลังหลวง หรือบัญชีฝ่ายออกบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการของโครงการผ้าป่าช่วยชาติแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ การรับบริจาคทรัพย์เข้าคลังหลวง กับการป้องกันคลังหลวงไม่ให้ถูกยุบรวมและนำเงินหลวงไปใช้ในทางอื่น โดยหลวงปู่ฟักดำเนินการทั้งสองด้านพร้อมๆ กัน

โครงการผ้าป่าช่วยชาติ โดยพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดพิชัยพัฒนาราม (เขาน้อยสามผาน) ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี รวบรามโดย หลวงปู่ฟัก สนฺติธมฺโม ได้ปัจจัยทั้งสิ้นดังนี้

  • ครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 เป็นทองคำแท่งหนัก 40 กิโลกรัม เงินดอลลาร์ 18,417 ดอลลาร์ และเงินบาท 772,804 บาท คิดเป็นเงินไทยรวม 16,088,474.75 บาท
  • ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2542 เป็นทองคำแท่งหนัก 43 กิโลกรัม 72 สตางค์ เงินดอลลาร์ 11,806 ดอลลาร์ เงินบาท 2,016,763 บาท คิดเป็นเงินไทยรวม 17,549,518 บาท
  • ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2546 เป็นทองคำแท่งหนัก 42 กิโลกรัม 41 บาท 88 สตางค์ เงินดอลลาร์ 10,991 ดอลลาร์ เงินบาท 2,507,552.75 บาท คิดเป็นเงินไทยรวม 23,689,548.75 บาท
  • ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 เป็นทองคำแท่งหนัก 27 กิโลกรัม 20 บาท 21 สตางค์ เงินดอลลาร์ 8,046 ดอลลาร์ เงินบาท 966,095 บาท คิดเป็นเงินไทยรวม 15,246,110.80 บาท
  • ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เป็นทองคำแท่งหนัก 1กิโลกรัม 19 บาท 73 สตางค์ และมอบอีกครั้งในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นทองคำแท่ง 25 กิโลกรัม ทองรูปพรรณ 20 บาท และเงินดอลลาร์ 101 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยรวม 31,068,762 บาท

การถวายทองคำ เงินดอลลาร์ เงินบาท ทั้งห้าครั้ง สรุปได้ว่า คิดเป็นทองคำแท่งรวม 179.5 กิโลกรัม 3.5 บาท 66 สตางค์ เงินดอลลาร์ 49,361 ดอลลาร์ เงินบาท 6,263,214.75 บาท หรือรวมเป็นเงินไทยทั้งหมด 103,642,414.30 บาท (หนึ่งร้อยสามล้านหกแสนสี่หมื่นสองพันสี่ร้อยสิบสี่บาทสามสิบสตางค์) นอกจากนี้ ท่านยังได้ช่วยเหลือสังคมอีกหลายด้าน เช่น สร้างโรงพยาบาลสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี บริจาคเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพญาบาลต่างๆที่ขาดแคลน เป็นต้น

http://a7.sphotos.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-snc6/188757_195279510506121_100000722194416_549115_668393_n.jpg[ลิงก์เสีย]

ด้านการศาสนา[แก้]

นอกจากงานด้านการช่วยเหลือสังคมแล้ว ท่านยังเน้นด้านธรรมะ สอนธรรมะประชาชน โดยให้รักษาศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนา การห้ามใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ห้ามรับประทานผงชูรส เป็นต้น ท่านได้สร้างวัดและสำนักสงฆ์ไว้ 5 แห่ง ดังนี้

  1. วัดหินกอง บ้านหินกอง ตำบลวังใหม่ อำเภอนายยายอาม จังหวัดจันทบุรี
  2. สำนักสงฆ์พุรางหมู ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  3. สำนักสงฆ์สุขแสงธรรม (เขาลูกช้าง) ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
  4. สำนักสงฆ์เขาห้วยสะท้อน ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
  5. สำนักสงฆ์เขาคลองกลาง ตำบลวังใหม่ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี


มรณภาพ[แก้]

เวลาประมาณ 6.30 น.ของวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ที่บ้านสันติธรรม กรุงเทพฯ พระอุปัฏฐากได้พยุงหลวงปู่ฟักเข้าห้องน้ำ ท่านเริ่มมีอาการอ่อนแรง พูดไม่ชัด พระอุปัฏฐากได้ประคองท่านมาที่เตียงอย่างระมัดระวัง จากนั้นได้เรียกรถพยาพาล นำท่านส่งโรงพยาบาลศรีวิชัย 2 ซึ่งอยู่ใกล้บ้านที่พัก เพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ และทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบว่ามีเส้นเลือดในสมองแตก จากนั้นได้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลธนบุรี 1 แพทย์ได้อธิบายว่า จากผลการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบว่า มีเส้นเลือดในสมองแตกขนาดใหญ่เกือบครึ่งสมอง และแตกในจุดสำคัญที่ควบคุม การทำงานของร่างกาย การผ่าตัดคงไม่สามารถช่วยชีวิตท่านพระอาจารย์ได้ โอกาสรอดชีวติน้อยมาก

วันที่ 9 มิถุนายน 2553 หลวงตามหาบัวได้สั่งความมาวันก่อนหน้าแล้วว่า ถ้าไม่ไหวให้นำท่านกลับวัด แต่รุ่งเช้าท่านก็ยังมีอาการทรงตัว ไม่มีใครกล้าย้ายท่านไปไหน จนความดันเริ่มตกในช่วงเที่ยงและเมื่อเวลา 14.00 น. สัญญาณชีพจรของท่านก็หยุดลง สิริรวมอายุได้ 74 ปี 7 เดือน 29 วัน 53 พรรษา

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กล่าวถึงหลวงปู่ฟัก "นี่ก็ทั่วประเทศไทยนะโรงพยาบาล เรียกว่าทุกภาค ภาคไหนมีความจำเป็นอย่างไรๆ ถึงเลยๆ อย่างจันทบุรี ท่านฟักอยู่ที่นั่น ขัดข้องอะไรท่านติดต่อมาทางนี้ก็ทำให้ทางนู้นๆ โรงพยาบาลก็มีทางนู้น เราช่วย ท่านฟักก็เป็นพระวัดป่าบ้านตาด เป็นคนจันท์แต่เป็นพระวัดป่าบ้านตาด เวลาพ่อกับแม่ป่วยลงทีเดียวพร้อมๆ กันเลยนี้ เราส่งให้ไปเลยไปดูแลพ่อแม่ เพราะมีลูกชายคนเดียว เดี๋ยวคนหนึ่งเสียไป อ้าวคนหนึ่งก็ทรุดอยู่ ตกลงให้เฝ้าอยู่ แล้วเฝ้าไปเฝ้ามาอายุพรรษาก็แก่เข้า ทางสามผานก็ไม่มีสมภารวัดเลยให้ยัดเข้าตรงนั้นเลย ให้เป็นสมภารวัดเสียเลย จนกระทั่งป่านนี้เลยไม่มา กลายเป็นสมภารวัดอยู่นั้นท่านฟักท่านฟักนิสัยดี เป็นพระวัดนี้มาตั้งแต่บวชทีแรก มาอยู่วัดนี้เป็นประจำ เหตุที่จะได้ย้อนกลับไปจันท์ก็คือพ่อกับแม่ป่วยลงพร้อมกันเลย แล้วก็มีลูกชายคนเดียว เราก็ส่งให้ไปทันที พ่อกับแม่หายแล้วค่อยกลับมา อ้าว ไปเดี๋ยวคนนี้เสียเรียกว่าตายไป เดี๋ยวคนนั้นป่วยเอาอีกอยู่นั้น สุดท้ายพ่อกับแม่เลยตายเลยอยู่นั้นเลย พรรษาก็แก่แล้วให้อยู่นั้นเสีย ที่นั่นไม่มีสมภารวัดก็พอดีให้อยู่นั้นเลย อยู่จนกระทั่งป่านนี้ละท่านฟัก นิสัยดีนิสัยสุขุม คงจะใจดีมาก บางทีเราไปวัดเขาน้อยสามผาน ก็เราเข้าออกเรื่อยวัดเขาน้อยสามผานไปดูพระดูเณร ดูอะไรๆมันขวางหูขวางตาอะไรก็จี้ท่านฟัก องค์นั้นเป็นอย่างไรๆ จี้ท่านฟักให้ท่านฟักสอน เราเป็นคนไปตรวจ เราเป็นอาจารย์ใหญ่ เราไปดูที่นั่น พระเณรในวัดนี้เป็นอย่างไร องค์นั้นเป็นอย่างไรๆ เราจี้เลย ท่านฟักนิสัยท่านใจดี ไอ้เราใจดีไม่ดีไม่ทราบละ อย่างนี้ละจี้เรื่อยๆ เหตุที่จะได้กลับไปจันท์ก็คือพ่อกับแม่ป่วย เราส่งไปเองนะ ต่อจากนั้นมาแล้วพ่อกับแม่ก็เลยเสีย เลยให้อยู่ที่นั่นเลย"

อ้างอิง[แก้]