พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สีลปญฺโญ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระครูญาณสาคร)

(หลวงพ่อแฉ่ง สำเภาเงิน สีลปญฺโญ)
หลวงพ่อแฉ่ง สำเภาเงิน
ชื่ออื่นคุณก๋งแฉ่ง
ส่วนบุคคล
เกิดวันพฤหัสบดี ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2422 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปี เถาะ) (84 ปี 5 เดือน 25 วัน ปี)
มรณภาพวันศุกร์ ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2506 เวลา 18.07 น. (ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 2 ปี เถาะ)
นิกายมหานิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดปากอ่าวบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี
อุปสมบทวันอังคาร ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2442 เวลา 14.15 น. (ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ปี กุน)
พรรษา64
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวัดปากอ่าวบางตะบูน, อดีตเจ้าคณะแขวงอำเภอเขาย้อย และ เจ้าคณะสงฆ์ ตำบลบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี

พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สีลปญฺโญ) เป็นเจ้าคณะสงฆ์ตำบลบางตะบูน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ชื่อเดิมว่า แฉ่ง สำเภาเงิน เป็นพระเกจิเถราจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งของ จังหวัดเพชรบุรี ร่วมสมัยกับพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยยุคก่อน พ.ศ. 2500 แล้ว ท่านยังได้ดำรงตนเป็นผู้สมถะ มักน้อยสันโดษ ไม่ปรารถนาลาภยศ

ประวัติ[แก้]

รูปหล่อพระครูญาณสาคร

ชาติภูมิ[แก้]

พระครูญาณสาคร เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2422 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปี เถาะ) ที่ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรนายเฉยและนางทับ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 9 คน ดังนี้

  1. นายอั๋น สำเภาเงิน
  2. นางสาย เข่งทอง
  3. นายสิน สำเภาเงิน
  4. นายแสง สำเภาเงิน
  5. นายแบน สำเภาเงิน
  6. นายเบี้ยว สำเภาเงิน
  7. พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สำเภาเงิน)[1]
  8. นางเป้า ฟังทอง
  9. นายใจ สำเภาเงิน

ฆราวาส[แก้]

พระครูญาณสาคร” (หลวงพ่อแฉ่ง สำเภาเงิน สีลปญฺโญ) ได้ศึกษาหนังสือไทย ณ วัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี (สมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียนจำต้องเรียนที่วัด) ต่อมาย้ายไปเรียนที่วัดทุ่ง (ทุ่งเฟื้อ) ตั้งอยู่คลองปลายสวนทุ่ง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จนมีความรู้ในการอ่าน เขียน ภาษาไทย และภาษาขอมได้เป็นอย่างดีแล้ว ท่านจึงลาการศึกษาหนังสือจากวัดปากลัด เพื่อมาช่วยบิดามารดาทำงานช่วยเหลือครอบครัว จนกระทั่งอายุครบ 20 ปี ได้กราบลาบิดา มารดา เพื่ออุปสมบท เมื่อวันอังคาร ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2442 เวลา 14.15 น. (ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ปี กุน) ณ พัทธสีมาวัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี (สมัยนั้นขึ้นอยู่กับอำเภอเขาย้อย)

บรรพชาอุปสมบท[แก้]

“พระอธิการคล้ำ” วัดปากคลอง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
“พระอธิการทรัพย์” วัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
“พระอธิการวัตร” วัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ท่านได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนา ว่า “สีลปญฺโญ” คือ ผู้ทรงศีลเป็นปัญญา

สมณศักดิ์[แก้]

หลังจากที่ท่านได้เป็นพระภิกษุสงฆ์แล้วนั้น ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดปากลัด 1 พรรษา ต่อมาจึงย้ายไปจำพรรษาอยู่วัดเขาตะเครา 2 พรรษา แล้วจึงไปจำพรรษาอยู่วัดปากคลอง ตำบลบางครก 5 พรรษา เพื่อศึกษาวิปัสสนามัฎฐาน จนกระทั่ง"พระอธิการเปลี่ยน" วัดอุตมิงด์ ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้อาราธนาให้ไปสอนอักษรขอม และจำพรรษาอยู่ที่วัดอุตมิงด์ 1 พรรษา

ท่านได้มีความคิดที่จะขอลาสิกขาจากสมณเพศ เพื่อกลับไปดูแลบิดา มารดา จึงได้ไปหา “พระครูสุวรรณมุนี” หลวงพ่อฉุย พระอาจารย์ของท่าน ณ วัดพระทรง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำการลาสิกขา พระอาจารย์จึงได้ทำการสำรวจตรวจดวงชะตาท่านเพื่อดูความเหมาะสม หลังจากพระอาจารย์ตรวจดวงชะตาแล้วเห็นว่าบุญบารมียังสูงส่งจักเป็นหลักชัยในพระพุทธศาสนาสืบไป ทำให้ท่านกลับใจคงอยู่ในสมณเพศต่อ และเดินทางกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนที่ตำบลบางตะบูน ท่านได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชน วงศาคณาญาติทั้งหลาย ผู้มีจิตศรัทธาในบวรบพุทธศาสนา ชาวบ้านบางตะบูนทั้งผู้มีทุนทรัพย์ และผู้มีกำลังกายเข้าร่วมกัน ก่อสร้างวัดขึ้นใหม่ราวปลายปี พ.ศ. 2449 ที่ริมฝั่งชายทะเลด้านตะวันออกของปากอ่าวบางตะบูน ซึ่งเดิมพื้นที่เป็นป่าชายเลนมีน้ำท่วมถึงชายป่า ท่านใช้เวลาในการปรับปรุ่งพื้นที่ ถมดิน ถมทราย และก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ อาทิ พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และโรงเรียนวัดปากอ่าว เป็นต้น ท่านใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลาเกือบ 5 ปี จึงแล้วเสร็จจนกลายเป็นวัดใหญ่ถาวรมาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้ขนานนามว่า วัดปากอ่าวบางตะบูน ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. 2450

วัดปากอ่าวบางตะบูน
ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2553
ด้วยกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติโดยอเนกประการ ทางคณะสงฆ์มีองค์พระสังฆราชเป็นประมุข ทราบกิตติคุณในคุณานุภาพจึงรับการแต่งตั้งสมณศักดิ์ดังต่อไปนี้
  1. เมื่อวันศุกร์ ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2467 ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระอุปัชฌายะ
  2. เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระครูแฉ่ง” และเป็นเจ้าคณะสงฆ์แขวงอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
  3. เมื่อวันพุธ ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2481 ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระครูญาณสาคร”
  4. เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ได้รับแต่งตั้งเป็น “สาธารณูปกร” อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
  5. พ.ศ. 2490 ได้รับแต่งตั้งเป็น “เจ้าคณะสงฆ์ตำบลบางตะบูน” ตลอดมาจนถึงมรณภาพ
วันศุกร์ ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2506 เวลา 18.07 น. ท่านได้มรณภาพด้วยโรคชรา ณ กุฏิเจ้าอาวาส วัดปากอ่าวบางตะบูน ตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ด้วยความสงบ สิริรวมอายุได้ 84 ปี 5 เดือน กับ 25 วัน ท่านถือครองสมณเพศเป็นเวลา 64 พรรษา นับเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของพุทธศาสนิกชน และชาวบ้านตำบลบางตะบูน บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ตลอดเวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่ได้ประกอบแต่กรรมดีอยู่เสมอ เมื่อเป็นฆราวาสก็เป็นบุตรที่อยู่ในโอวาทของบิดามารดา เมื่ออยู่ในสมณเพศก็เป็นผู้ที่อยู่ในระเบียบวินัยของสงฆ์อย่างเคร่งครัด การที่ท่านวางตนได้โดยสม่ำเสมอเช่นนี้ จึงทำให้ประชาชนชาวบ้านบางตะบูนและบริเวณใกล้เคียงเคารพเลื่อมใส และเมื่อท่านเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอันดีงาม และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นตลอดมา ทำให้ท่านเป็นที่รักของชาวบ้านเหล่านั้นมาก เมื่อท่านประสงค์สิ่งใดก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่มีจิตศรัทธาเชื่อถือในตัวท่าน ช่วยกันสละทั้งกำลังกายและทรัพย์สิน ผลงานสำคัญที่ท่านได้กระทำไว้มากมาย และเป็นอนุสรณ์อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้[2]

ศิษย์พระอาจารย์[แก้]

พระครูญาณสาคร (แฉ่ง สำเภาเงิน สีลปญฺโญ) ถือได้ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เข้มขลังขมังเวทอีกรูปหนึ่งของเมืองเพชรบุรีในยุคก่อน พ.ศ. 2500 ท่านได้ศึกษาเรียนวิชาอาคมมาจากพระคณาจารย์ ดังนี้

พระอธิการวัตร วัดปากลัด ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
พระอธิการทรัพย์ วัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
พระอธิการคล้ำ วัดปากคลอง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
พระครูสุวรรณมุนี หลวงพ่อฉุย วัดพระทรง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
พระภาวนาโกศลเถร (เอี่ยม สุวณฺณสโร) วัดหนัง อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดกรุงเทพมหานคร
พระครูถาวรสัมณวงค์ (อ๋อย) วัดไทร อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดกรุงเทพมหานคร
หลวงพ่อปลอด วัดปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
พระวิสุทธรังษี (เปลี่ยน อินฺทสโร) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
หลวงพ่อแช่ม อินทโชโต วัดตาก้อง ตำบลตาก้อง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
หลวงพ่อหรุ่น พุทธสโร วัดช้างเผือก ตำบลช้างเผือก อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
หลวงพ่อคง ธมฺมโชโต วัดบางกะพ้อม ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

สหธรรมิกร่วมสมัย[แก้]

หลวงพ่อจง พุทฺธสโร วัดหน้าต่างนอก ตำบลหน้าไม้ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระครูอโศกธรรมสาร (โศก) วัดปากคลอง ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
หลวงพ่อทองศุข อินฺทโชโต วัดโตนดหลวง ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
หลวงพ่อแฉ่งเมือง ปุญฺญมาโค วัดคงคาราม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
หลวงพ่อกลอย วัดเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสาคร
พระครูญาณวิลาศ (แดง รตฺโต) หลวงพ่อ วัดเขาบันไดอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
หลวงพ่อจ้อย ฐิตปุญโญ วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ญาณสาครานุสรณ์[แก้]

วัดปากอ่าว บางตะบูน สูญเสียท่าน พระครู “ญาณ สาคร” มาณะขันธ์ นามเดิม “แฉ่ง สำเภาเงิน” เจริญพรร ษาอนันต์ นับเนื่อง แต่เรื่องดี เริ่มก่อร่าง สร้างวัด ปากอ่าวขึ้น จนครึกครื้น โบสถ์วิหาร ตระหง่านศรี และโรงเรียน สองหลัง และเจดีย์ กุฎิมี มากมาย หลายอาคาร และโรงเรียน สองหลัง ตั้งงามเด่น นี่ย่อมเป็น เครี่องแสดง แห่งหลักฐาน ว่ามีคน เขานิยม ท่านสมภาร บอกบุญทาน ก็ศรัทธา มาช่วยกัน เปลี่ยนจากป่า โกงกาง สร้างเป็นวัด ด้วยความศรัท ธาจิต คิดสร้างสรรค์ ย่อมเหนื่อยยาก พากเพียร จำเนียรวัน ไม่มัวฉัน แล้วนอน ซุกซ่อนทรัพย์ จึงมีผู้ เลื่อมใส ในตัวท่าน เข้าร่วมงาน ช่วยทำ ตามลำดับ สละแรง สละเงิน เกินจะนับ ที่สำหรับ ก่อสร้าง ได้อย่างนั้น ฯ
นอกจากวัด ปากอ่าว ดังกล่าวแล้ว ยังสร้างวัด เกาะแก้ว อีกหนึ่งนั้น และซ่อมแซม การเปรียญ เปลี่ยนหน้าบัน ให้วัดหนอ ส้มนั้น อันควรชม ท่านได้ทำ ความดี เหล่านี้ไว้ เพื่อภายใต้ กาสาวะ พัตรร่ม จึงเย็นชื่น ยืนชนม์ คนนิยม อิ่มอุดม ด้วยกุศล ผลกำไร ฯ
แม้ตัวตาย กายพราก ไปจากภพ แต่ความดี นี้จะลบ ก็หาไม่ ชื่อจะยั่ง จิรังกาล อยู่นานไกล ไม่มีใคร ลืมท่าน นิรันดร เหล่าบรรดา สานุศิษย์ คงคิดสร้าง หล่อรูปร่าง ไว้บูชา อนุสรณ์ เหมือนท่านอยู่ ยังวัด ไม่ขาดตอน จะกำจร เกียรติคุณ หนุนความดี ฯ:อันเกิดแก่ เจ็บตาย ใครก็รู้ ไม่มีผู้ ใดเว้น เป็นหน้าที่ ของสภา วะธรรม ตามโลกีย์ แต่ทั้งนี้ ก็ไม่วาย อาลัยครวญ เพราะคนดี ที่ไม่อยาก ให้จากลับ ซึ่งผิดกับ คนชั่ว เชิญเร่งด่วน เมื่ออยู่นาน ก็จะพาล แต่ก่อกวน ประพฤติล้วน ลามก ตกอบาย ฯ
พระครูญาณ สาคร จรจากโลก ศิษย์จึงโศก เศร้าใจ ไม่รู้หาย และลูกหลาน ญาติกา พาเสียดาย ทั้งหญิงชาย ชาวบ้าน บางตะบูน ของให้ดวง วิญญาณ ท่านประสบ สัมปรายภพ สุคติ มิรู้สูญ เกิดเป็นคน หนใด ไม่อาดูร เพียรเพิ่มพูน ความดี มีกับตน อันบุญทาน บารมี ที่ทำไว้ ส่งท่านไป สู่สวรรค์ ชั้นเวหน ห้วงนิมมาน ระดี ศรีพิมล นภดล ดุษฎี รมณียา แล้วแลเล็ง เพ่งตา สมาบัติ ลงยังวัด ปากอ่าว ดลข่าวหา ว่าศิษย์ใด ทำดี มีอัชฌา ช่วยพิทักษ์ รักษา ให้จำเริญ ฯ
ในนามพระ คณะสงฆ์ เพชรบุรี สดุดี พระครูญาณ ฯ ขอสรรเสริญ ท่านเป็นพระ ตัวอย่าง ทางดำเนิน ที่ชวนเชิญ ปลูกศรัทธา ปสาทะ แก่บรรดา สาธุชน คนหมู่มาก บริจาค ทรัพย์เฉลี่ย เสียสละ ออกสร้างวัด สร้างโรงเรียน เพียรมานะ รักษาพระ พุทธศาสน์ ไม่คลาดคลาย ขอให้ดวง วิญญาณ อันประเสริฐ ที่มาเกิด เป็นสมภาร มานานหลาย จงรู้แจ้ง แห่งนิพพาน ข้อบรรยาย สมมุ่งหมาย สู่วิมุติ ที่สุดเทอญ ฯ
พระราชสุวรรณมุนี ฯ
(หลวงพ่อแคล้ว อุตฺตโม)
วัดมหาธาตุ เพชรบุรี
พ.ศ. 2506[3]

ประมวลภาพพระครูญาณสาคร[แก้]

วัตถุมงคล[แก้]

“พระครูญาณสาคร” (หลวงพ่อแฉ่ง สำเภาเงิน สีลปญฺโญ) สร้างวัตถุมงคลต่างๆ ดังนี้

  1. เหรียญพระครูญาณสาคร รุ่นหนึ่ง (เนื้อทองค่ำ เนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง) ที่ระลึกงานแซยิด วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 สิริรวมอายุได้ 72 ปี
  2. เหรียญพระครูญาณสาคร รุ่นสอง (เนื้อทองค่ำ เนื้อเงิน เนื้อทองแดง) ที่ระลึกงานแซยิด วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 สิริรวมอายุได้ 84 ปี
  3. พระสมเด็จพิมพ์เล็ก (เนื้อผงพุทธคุณขาว และเนื้อผงพุทธคุณดำ)
  4. พระลำพูนพิมพ์รัศมี (เนื้อผงพุทธคุณดำ)
  5. พระปิดตา (เนื้อตะกั่ว)
  6. พระนางพญา (เนื้อตะกั่ว)
  7. พระนาคปรก (เนื้อตะกั่ว)
  8. ตะกรุดสาลิกาบิน (เนื้อเงินยวง)
  9. ตะกรุดเดือนเพ็ญ (เนื้อเงินยวง)
  10. ตะกรุดฉายา สำหรับให้ลูกศิษย์ที่บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่วัดปากอ่าวฯ เวลาที่ลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส
  11. ลูกกระสุนคต
  12. เบี้ยแก้ปรอทธรรมชาติ
  13. เชือกถักมงคลคาดเอว สำหรับให้ลูกศิษย์ที่บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่วัดปากอ่าวฯ เวลาที่ลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส

ดูเพิ่ม[แก้]

ประวัติหลวงพ่อแฉ่ง สำเภาเงิน เก็บถาวร 2012-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ประวัติวัดปากอ่าวบางตะบูน
โรงเรียนวัดปากอ่าว
ประวัติพระครูวิมลคุณากร
ประวัติหลวงพ่อแช่ม อินทโชโต
ประวัติหลวงพ่อคง ธมฺมโชโต
ประวัติพระวิสุทธรังษี (เปลี่ยน อินฺทสโร)
ประวัติพระครูพินิจสุตคุณ (ทองสุข อินฺทโชโต)
ประวัติหลวงพ่อจง พุทฺธสโร
วัตถุมงคลในศาสนาพุทธ

อ้างอิง[แก้]

  1. นายพรสุข สุขเจริญ ผู้รวบรวมข้อมูลเขียนในหนังสือแจกงานทอดผ้าป่าสามัคคี วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555
  2. หนังสือบันทึกประวัติ อดีตเจ้าอาวาส วัดปากอ่าวบางตะบูน
  3. หนังสือ ญาณสาครานุสรณ์ 2506 ผู้แต่ง พระราชสุวรรณมุนี ฯ (หลวงพ่อแคล้ว อุตฺตโม) วัดมหาธาตุ เพชรบุรี