พรหมชาลสูตร (มหายาน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พรหมชาลสูตร ในพระไตรปิฎกภาษาจีนของฝ่ายมหายาน ไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับพรหมชาลสูตร ในสีลขันธวรรค ของทีฆนิกาย พระไตรปิฎกภาษาบาลี ของเถรวาท พรหมชาลสูตรของฝ่ายมหายาน เรียกว่า ฟั่นวั่งจิง (梵網經) ในสารบบพระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับไทโช อยู่ในลำดับที่ 1418 หรือ CBETA T24 No. 1484 ส่วนในสารบบพระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับเกาหลี อยู่ในลำดับที่ K 527พระสูตรนี้ได้รับการแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนโดยพระกุมารชีพ โดยท่านแปลเมื่อวันที่ 12 เดือน 6 ปีที่ 7 แห่งรัชสมัยจักรพรรดิฉินเหวินหวน หรือ พ.ศ. 949 มีชื่อเต็มในภาษาจีนว่า 梵網經廬舍那佛說菩薩心地戒品第十 แต่มักเรียกโดยสังเขปว่า 梵網經

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านพุทธศาสนาคาดการณ์ว่าพระสูตรนี้น่าจะมีผู้เรียบเรียงขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 ขณะที่เนื้อความในพระสูตรภาษาจีนเองก็ระบุไว้ในตอนท้ายว่า แปลมาจากตันฉบับภาษาสันสกฤตที่มีเนื้อหายาวกว่าฉบับแปลมากมายนัก แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการพบต้นฉบับที่ว่าแต่อย่างใด

ชื่อพระสูตร[แก้]

ในพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาท ชื่อพรหมชาล หมายความถึง ข่ายอันครอบคลุมทิฏฐิทั้งปวง (ทิฏฐิ 62 ประการ) ด้วยเหตุนี้ พระสูตรนี้ของฝ่ายเถรวาทจึงมีชื่อสอดคล้องไปในทางเดียวกัน กล่าวคือฝ่ายเถรวาทยังเรียกพรหมชาลสูตรว่า อัตถชาล, ธัมมชาล, ทิฏฐิชาล และอนุตรสังคมวิชัย หรือชัยชนะในสงครามอันมิอาจประมาณได้ คืชัยชนะเหนือทิฏฐิอันสุดโต่ง และไม่นำไปสู่การหลุดพ้นทั้งปวง

ส่วนพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายาน พรหมชาล หมายถึงข่ายมณีอันวิจิตรในวิมานพรหม หมายถึงสรรพสิ่งทั้งหวงในหมื่นโลกธาตุล้วนสะท้อนสัมพันธ์กัน ประหนึ่งแสงระยิบระยับจากมณีอันร้อยเป็นข่ายงามประดับวิมานพระพรหม เป็นแสงสะท้อนต้องมณีนับไม่ถ้วน แตกออกเป็นรัศมีแสงประมาณมิได้ โดยนัยแล้วหมายถึงหลักปฏิจจสมุปบาท

เนื้อหา[แก้]

เริ่มต้นเนื้อหาของพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายาน เป็นการเอ่ยถึงพระไวโรจนพุทธะ จากนั้นในตอนต่อมาจึงกล่าวถึงพระศากยมุนีพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏพระองค์ที่กุสุมาตลครรภวยุหาลังกรโลกธาตุสมุทร (蓮華蔵世界) หรือปัทมะครรภะโลกธาตุ (華蔵世界) เป็นโลกธาตุอันเป็นที่ประทับของพระไวโรจนพุทธเจ้า โดยพระไวโรจนพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์จำแลงธรรมกายของพระองค์เป็นพระพุทธเจ้านับประมาณมิได้ และพระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้ทรงออกจากปัทมครรภโลกธาตุมายังแต่ละจักรวาล แต่ละจักรวาลล้วนมีชมพูทวีปของตน ประทับยังใต้ร่มมหาโพธิ์ จากน้นพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ในโลกธาตุนับมิถ้วน เสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนายังสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงวิมานชั้นพรหม

ฝ่ายพระศากยมุนีพุทธเจ้า หลังจากทรงออกจากปัทมะครรภะโลกธาตุแล้วเสด็จไปแสดงพระสูตรยังสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงวิมานชั้นพรหมจึงทรงเสนด็จมายังชมพูทวีป แล้วเสด็จสู่พระครรภ์ของพุทธมารดาในกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วเจริญพระชนม์ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ แล้วตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระแท่นวัชรอาสน์ ซึ่งทรงแสดงพรหมชาลสูตรนี้ โดยทรงมีมนสิการถึงพรหมชาล หรือข่ายมณีอันวิจิตรในวิมานพรหม อันเป็นสถานที่ซึ่งทรงแสดงพระธรรมเทศนา นอกจากนี้ ข่ายอันวิจิตรของพรหม อันแสงสะท้อนต้องมณีนับไม่ถ้วน แตกออกเป็นรัศมีแสงประมาณมิได้ ซึ่งโดยนัยแล้วหมายถึงหลักปฏิจจสมุปบาท ยังสะท้อนถึงพระธรรมขันธ์ หรือวิถีทางการบรรลุธรรมอันหาประมาณมิได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหนึ่งแสนโกฏิทรงตรัสไว้

จากนั้นพระองค์ทรงตรัสโพธิสัตว์ศีล หรือโพธิสัตว์ปราติโมกษ์ อันเป็นต้นเค้าของพระธรรมวินัยทั้ปวงในพระศาสนา และเป็นศีลที่พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงสาธยายไว้โดยปกติ โดยที่พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงเป็นต้นเค้าแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหนึ่งแสนโกฏิพระองค์ พระศากยมุนีพุทธเจ้าจึงดังทรงตรัสว่า โพธิสัตว์ปราติโมกษ์นี้ "เป็นต้นเค้าแห่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งปวง แลเป็นหน่อเนื้อแห่งพุทธะธาตุ"

จากนั้นทรงตรัสและแจกแจงรายละเอียดของโพธิสัตว์ศีล หรือโพธิสัตว์ปราติโมกษ์ โดยสังเขปแบ่งออกเป็นมหาโพธิสัตว์ศีล ๑๐ และจุลโพธิสัตว์ศีล ๔๘ โดยทรงบรรยายข้อศีล และแนวทางการปฏิบัติอย่างละเอียด ทั้งนี้ มหาโพธิสัตว์ศีล ๑๐ เรียกว่า ปราติโมกษ์ ในภาษาสันสกฤต หรือปาติโมกข์ในภาษาบาลี

ความแตกต่างกับพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาท[แก้]

ในพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายาน มีพระสูตรชื่อ "พรหมชาลสูตร" เช่นกัน แต่มีเนื้อหาต่างกัน แทบจะโดยสิ้นเชิง พรหมชาลสูตรในพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศีล ๓ ระดับคือจุลศีล มัชฌมิศีล และมหาศีล สำหรับพระภิกษุ เป็นศีลที่สอดคล้องกับศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ หรือพระปาติโมกข์ นอกจากนี้พระผู้มีพระภาคตรัสยังถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ ซึ่งทรงรวบรวมมาจากความคิดเห็นของคนในสังคมสมัยนั้นอย่างเป็นระบบระเบียบ วางเป็นหลักศึกษา เพื่อจะทรงชี้ว่า เป็นลัทธิที่ไม่ยังให้เกิดการหลุดพ้น เป็นหนทางที่สุดโต่ง มิใช่มัชฌิมาปฏิปทา

อย่างไรก็ตาม พรหมชาลสูตรในพระไตรปิฎกฝ่ายมหายาน ระบุถึงมหาโพธิสัตว์ศีล ๑๐ และจุลโพธิสัตว์ศีล ๔๘ นอกจากนี้ ไม่มีการเอ่ยถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ แต่เอ่ยถึงพระไวโรจนพุทธเจ้า อันเป็นพระธยานิพุทธะ ๑ ใน ๕ องค์ โดยระบุว่า พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงเป็นธรรมกายของพุทธทั้งปวง โดยเหตุนี้ พรหมชาลสูตรของนิกายมหายาน จึงเป็นการประกาศแนวคิดตรีกายของฝ่ายมหายานนั่นเอง

พระโพธิสัตว์ศีลมีความแตกต่างในด้านรารยละเอียดจากจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล ในพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาท กระนั้นก็ตามก็ยังมีบางส่วนสอดคล้องกับศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ หรือพระปาติโมกข์ อันเป็นพื้นฐานของพระศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยสารัตถะแล้วมีความเหมือนกันตรงที่เป็นการระงับ เป็นการยังให้เกิดความปกติกายวาจา กล่าวคือความปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ

ทั้งนี้ ศีลในพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาทมุ่งเน้นเป็นหลักปฏิบัติสำหรับบรรพชิต และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบรรพชิตคือการรักษาพรหมจรรย์ ซึ่งข้อกำหนดนี้ปรากฏอยู่ในหมวดจุลศีลอย่างชัดเจน ซึ่งในพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายานมีข้อกำหนดที่ว่านี้เช่นกันในหมวดมหาศีล ๑๐ ซึ่งบรรพชิตในจีน เกาหลี และเวียดนาม ยังรักษาศีลข้อนี้อย่างเคร่งครัด ประกอบกับการรักษาพระปาติโมกข์ หรือพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์เป็นรากฐานอยู่แล้ว โดยพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์นี้มีส่วนคล้ายคลึงกับพระวินัยของฝ่ายเถรวาทอย่างมาก ขณะที่ข้อกำหนดศีลในพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายาน จะรับกันในการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมหายานโดยสมบูรณ์ เพื่อย้ำให้ครองตนบนมรรคาแห่งพระโพธิสัตว์ หรือเป็นยกระดับปาติโมกข์ศีลให้ถือเป็นอธิศีลนั่นเอง เพราะมีการเน้นหนักในการรักษามโนกรรมอย่างมากในส่วนของจุลโพธิสัตว์ศีล ๔๘

อย่างไรก็ตาม ที่ญี่ปุ่นได้มีการลดความสำคัญของพระปาติโมกข์ หรือพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ลง จนเหลือแต่การรับโพธิสัตว์ศีลเท่านั้น โดยเริ่มมาตั้งแต่ยุคของพระไซโจ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ กระทั่งถึงยุคเมจิ รัฐบาลได้มีความพยายามลดความสำคัญของศาสนาพุทธ จึงสั่งให้บรรพชิตสมรสกับสตรี และตั้งครอบครัว โดยอ้างว่าพระวินัยมิได้มีบัญญัติห้ามบรรพชิตในเรื่องนี้ โดยอ้างโพธิสัตว์ศีลเป็นใหญ่ว่าปาติโมกข์

บรรณานุกรม[แก้]

  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา พระทรวงวัฒนธรรม.
  • พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเจี่ยว). (2513). สารัตถธรรมมหายาน. กรุงเทพฯ. วัดมังกรกมลาวาส.
  • พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.
  • Cho, Eunsu. Fanwang jing in Macmillan Encyclopedia of Buddhism, 2004, Volume One
  • The Soka Gakkai Dictionary of Buddhism. Soka Gakkai International,
  • Bhikkhu Bodhi. (2010). Brahmajāla Sutta: The All-embracing Net of Views.
  • The Brahma Net Sutra. Translated into English by the Buddhist Text Translation Society in USA