พรรคแรงงานมลายา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พรรคแรงงานมลายา (มลายู: Parti Buruh Malaya) เป็นพรรคการเมืองในมาเลเซียที่มีกิจกรรมระหว่าง พ.ศ. 2495 – 2512 โดยเมื่อแรกก่อตั้งนั้นใช้ชื่อว่าพรรคแรงงานมลายาทั้งหมด

ประวัติศาสตร์[แก้]

จุดเริ่มต้น[แก้]

พรรคแรงงานเป็นตัวแทนของแรงงานภายในรัฐ จัดตั้งขึ้นหลังจากที่รัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษได้วางแผนจะจัดการเลือกตั้งในท้องถิ่นเมื่อ พ.ศ. 2493 ต่อมา ใน พ.ศ. 2495 ตัวแทนจากพรรคการเมืองระดับรัฐ สหภาพการค้า 21 แห่ง และองค์กรฝ่ายซ้ายของชาวมลายู (SABERKAS) ได้มาประชุมกันในกัวลาลัมเปอร์ และตัดสินใจจัดตั้งพรรคแรงงานมลายาทั้งหมดขึ้นมา ในตอนแรก องค์กรนี้มีฐานะเป็นกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์แต่ไม่ได้ต่อต้านระบอบอาณานิคม และเข้าร่วมเป็นสมาชิกสังคมนิยมสากลด้วย

ในตอนแรก ลี โมเกซังเป็นประธานพรรค ต่อมาถูกบีบให้ลาออก ดี เอส ราเมนทันขึ้นมาเป็นประธานคนใหม่ เมื่อผู้นำพรรคเป็นสังคมนิยมหัวรุนแรง ทำให้พรรคมีแนวคิดต่อต้านสังคมนิยมมากขึ้น พรรคนี้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคแรงงานมลายาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2497

พัฒนาการ[แก้]

เพราะใช้นโยบายที่รุนแรง เมื่อพรรคเข้าร่วมในการเลือกตั้งระดับสหพันธรัฐใน พ.ศ. 2498 จึงไม่ได้รับเลือก ต่อมาเข้าร่วมในการเลือกตั้งระดับรัฐในปีนังเมื่อ พ.ศ. 2499 ได้ 8 ที่นั่ง สมาชิกของพรรคเป็นทั้งชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนและมลายู มีชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียจำนวนน้อย ทำให้พรรคนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มชุมชน สาขาเยาวชนของพรรคเรียกว่าพันธมิตรเยาวชนสังคมนิยมแห่งมลายา

นโยบาย[แก้]

ก่อนได้รับเอกราช[แก้]

พรรคแรงงานเรียกร้องรัฐธรรมนูญซึ่งแสดงถึงการปกครองตนเองของมลายา กฎหมายที่รับรองเสรีภาพพลเมือง การวางแผนเศรษฐกิจ พรรคนี้เรียกร้องให้มีการสลายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สร้างสัญชาติที่แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของรัฐ ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติ และให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง รวมสิงคโปร์เข้ากับสหพันธ์มลายา จำกัดอำนาจของผู้ปกครองชาวมลายู และเป็นรัฐทางโลก

หลังได้รับเอกราช[แก้]

หลังจากที่มลายาได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2500 พรรคแรงงานได้ออกมาเรียกร้องอีกครั้งใน พ.ศ. 2502 ให้จัดตั้งรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งมลายา และให้ความปลอดภัยแก่คนงานทุกระดับ

อ้างอิง[แก้]

  • Weiss, Meredith Leigh (2005). Protest and Possibilities: Civil Society and Coalitions for Political Change in Malaysia. Palo Alto: Stanford University Press. p. 324. ISBN 0-8047-5295-8.