พฤษภาทมิฬ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พรรคเทพ พรรคมาร)
พฤษภาทมิฬ
ผู้ชุมนุมและทหารในช่วงพฤษภาทมิฬ บริเวณถนนราชดำเนิน
วันที่17 – 24 พฤษภาคม 2535 (31 ปีที่แล้ว)
สถานที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
สาเหตุ
เป้าหมาย
วิธีการ
  • การเดินขบวนและชุมนุมประท้วง
  • การอดอาหารประท้วง
ผล
  • พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
  • มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี
คู่ขัดแย้ง
ผู้นำ
ความเสียหาย
เสียชีวิตกว่า 500 คน (ไม่เป็นทางการ) [1]
บาดเจ็บ1,728 คน[1]
ถูกจับกุมไม่ทราบ

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองที่มี พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก (พลเอกสุจินดาแถลงว่ามีผู้เสียชีวิต 44 คน บาดเจ็บ 1,728 คน) [1] และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เหตุการณ์ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ รสช. ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีหัวหน้าคณะคือ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะนั้นภายหลังการรัฐประหารได้เลือกนาย อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีและได้ร่างรัฐธรรมนูญจนมีการเลือกตั้งผลปรากฏว่านายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมที่ตั้งขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากบุคคลในคณะรสช. ได้คะแนนมากที่สุด แต่สุดท้ายไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เนื่องจากถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำจากความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด[2] ทำให้ พล.อ. สุจินดา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเป็นการตระบัดสัตย์ที่เคยกล่าวไว้ว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนได้รับฉายา "เสียสัตย์เพื่อชาติ" จากสื่อมวลชนในเวลาต่อมา[3]

จากผลดังกล่าว ทำให้ประชาชนหลายส่วนไม่พอใจการขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. สุจินดา ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย จนนำไปสู่การประท้วงทั้งการอดอาหาร การเดินขบวน และการชุมนุมในสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ทำให้รัฐบาล พล.อ. สุจินดาใช้คำสั่งสลายการชุมนุม เกิดการปะทะขึ้น มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงรับสั่งให้พลเอกสุจินดา คราประยูรและ พล.ต. จำลอง ศรีเมืองเข้าเฝ้า โดยทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งได้มีการเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย(ทรท.) หลังจากนั้นอีก 4 วัน พล.อ.สุจินดา จึงได้ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก่อนการเลือกตั้งในเวลาต่อมา

สาเหตุ[แก้]

เหตุการณ์ครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 หรือ 1 ปีก่อนหน้าการประท้วง ซึ่ง รสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งมีพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็น นายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลหลักว่า มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาล และรัฐบาลพยายามทำลายสถาบันทหาร โดยหลังจากยึดอำนาจ คณะ รสช. ได้เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ ก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 โดยพรรคที่ได้จำนวนผู้แทนมากที่สุดคือ พรรคสามัคคีธรรม (79 คน) ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีการรวมตัวกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ คือ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร[4] และมีการเตรียมเสนอนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนมากที่สุด ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา มาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ ได้ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ นั้นเป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด

ในที่สุด จึงมีการเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเมื่อได้รับพระราชทานแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ก็เกิดความไม่พอใจของประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการทักท้วงโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ถูกประกาศใช้

พรรคเทพ พรรคมาร[แก้]

พรรคเทพ พรรคมาร เป็นคำที่สื่อมวลชนใช้เรียกกลุ่มพรรคการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่แบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน พรรคที่ถูกเรียกว่า พรรคเทพ คือพรรคที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน ไม่สนับสนุนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะรัฐประหาร รสช. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และได้ประกาศต่อสาธารณะมาตลอดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยที่กระแส "นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง" เป็นกระแสหลักของสังคมไทยในขณะนั้น พรรคเทพ ประกอบด้วย 4 พรรคการเมือง ได้แก่

  1. พรรคความหวังใหม่ (72 เสียง)
  2. พรรคประชาธิปัตย์ (44 เสียง)
  3. พรรคพลังธรรม (41 เสียง)
  4. พรรคเอกภาพ (6 เสียง)

ในขณะที่ พรรคมาร คือพรรคที่สนับสนุนพลเอกสุจินดา คราประยูร ประกอบด้วยพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล 5 พรรค ได้แก่

  1. พรรคสามัคคีธรรม (79 เสียง)
  2. พรรคชาติไทย (74 เสียง)
  3. พรรคกิจสังคม (31 เสียง)
  4. พรรคประชากรไทย (7 เสียง)
  5. พรรคราษฎร (4 เสียง)

ซึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และทั้ง 5 พรรคนี้ต่างเคยตอบรับมาก่อน แต่ในที่สุดกลับหันมาสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร และเห็นว่าเป็นการพยายามสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร (รสช.)

การต่อต้านของประชาชน[แก้]

พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ตนและสมาชิกในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่ภายหลังได้มารับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งไม่ตรงกับที่เคยพูดไว้ เหตุการณ์นี้ จึงได้เป็นที่มาของประโยคที่ว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" และเป็นหนึ่งในชนวนให้ฝ่ายที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำการเคลื่อนไหวอีกด้วย

การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา ดังกล่าว นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน รวมถึงการอดอาหารของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง (หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ ตามมาด้วยการสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้านประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์, พรรคเอกภาพ, พรรคความหวังใหม่และพรรคพลังธรรมโดยมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

หลังการชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อเข้าเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเริ่มระดมทหารเข้ามารักษาการในกรุงเทพมหานคร และเริ่มมีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในบริเวณราชดำเนินกลาง ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ

กระทั่งในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ขณะที่มีการเคลื่อนขบวนประชาชนจากสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนินกลางเพื่อไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ตำรวจและทหารได้สกัดการเคลื่อนขบวนของประชาชน ณ สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เริ่มเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางจุด และมีการบุกเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จากนั้นวันที่ 18 พฤษภาคม เวลา 00.30 น.[5]รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนนทบุรี[6],ประกาศ ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมกัน[7]และประกาศให้วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการ[8]พร้อมกับปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในจังหวัดที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 3 วัน[9][10]และงดการตรวจร่างกายและเอกซเรย์ เนื่องจากวันหยุดราชการ โดยให้ตรวจระหว่างวันที่ 21 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 แทน[11] โดยให้ทหารกับตำรวจตระเวนชายแดน​ทำหน้าที่รักษาความสงบ แต่ได้นำไปสู่การปะทะกันกับประชาชน มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมในบริเวณถนนราชดำเนินจากนั้นจึงเข้าสลายการชุมนุมในเช้ามืดวันเดียวกันนั้น ตามหลักฐานที่ปรากฏมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน

เวลา 15.30 นาฬิกา ของวันที่ 18 พฤษภาคม ทหารได้เคลื่อนกำลังครั้งสำคัญครั้งหนึ่งและควบคุมตัวพลตรีจำลอง ศรีเมือง จากบริเวณที่ชุมนุมกลางถนนราชดำเนินกลาง และรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับและรายงานข่าวทางโทรทัศน์ของรัฐบาลทุกช่องยืนยันว่าไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนยังไม่สิ้นสุด เริ่มมีประชาชนออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมมีการตั้งแนวป้องกันการปราบปรามตามถนนสายต่าง ๆ ขณะที่รัฐบาลได้ออกประกาศจับแกนนำอีก 7 คน คือ

  1. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
  2. นพ.เหวง โตจิราการ
  3. นพ.สันต์ หัตถีรัตน์
  4. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข
  5. นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ
  6. นางสาวจิตราวดี วรฉัตร
  7. นายวีระ มุสิกพงศ์

โดยตั้งข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 และระบุว่าบุคคลเหล่านี้ยังคงชุมนุมไม่เลิก และยังปรากฏข่าวรายงานการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในหลายจุดและเริ่มเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้นในคืนวันนั้นในบริเวณถนนราชดำเนินกลาง

19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางได้ และควบคุมตัวประชาชนจำนวนมากขึ้นรถบรรทุกทหารไปควบคุมไว้พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ย้ำว่าสถานการณ์เริ่มกลับสู่ความสงบและไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมอีก แต่ยังปรากฏการรวมตัวของประชาชนใหม่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคืนวันเดียวกัน และมีการเริ่มก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยกลุ่มจักรยานยนต์หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เช่น การทุบทำลายป้อมจราจรและสัญญาณไฟจราจร เป็นต้น

วันเดียวกันนั้นเริ่มมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน ขณะที่สื่อของรัฐบาลยังคงรายงานว่าไม่มีการสูญเสียชีวิตของประชาชน แต่สำนักข่าวต่างประเทศอย่างซีเอ็นเอ็นและบีบีซีได้รายงานภาพของการสลายการชุมนุมและการทำร้ายผู้ชุมนุม หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยบางฉบับเริ่มตีพิมพ์ภาพการสลายการชุมนุม ขณะที่รัฐบาลได้ประกาศให้มีการตรวจและควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารทางสื่อมวลชนเอกชนในประเทศ

ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ ด้วยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเขตตัวเมือง เป็นนักธุรกิจหรือบุคคลวัยทำงาน ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ในอดีต ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา ประกอบกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารในครั้งนี้ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนี้จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อนึงว่า "ม็อบมือถือ"

ไอ้แหลม[แก้]

ไอ้แหลม เป็นชื่อที่เรียกบุคคลลึกลับซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดจนถึงทุกวันนี้ เป็นชายที่ส่งเสียงรบกวนวิทยุสื่อสารของทหารและตำรวจตลอดระยะเวลาการชุมนุม โดยมักกวนเป็นเสียงแหลมสูง และมีประโยคด่าทอรัฐบาล ทหารและตำรวจด้วยวาทะที่เจ็บแสบ[12]

แผนไพรีพินาศ[แก้]

แผนไพรีพินาศ เป็นแผนยุทธการจัดวางกองกำลังและสลายการชุมนุม ในลักษณะของแผนเผชิญเหตุ จัดทำขึ้นโดยกองกำลังรักษาพระนครตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบ ได้แก่ ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน นำไปปฏิบัติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 และ พ.ศ. 2529 ได้มีการพัฒนาปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น

ส่วนแผนที่มีผลบังคับใช้ขณะเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ คือ แผนไพรีพินาศ/33 ซึ่งมี 4 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ขั้นการเตรียมการ โดยให้ทุกกองกำลังออกหาข่าว รวบรวมข่าวสาร และเตรียมกำลัง เจ้าหน้าที่ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการปฏิบัติการ
  2. ขั้นป้องกัน ใช้กองกำลังตำรวจในการสกัดกั้น ให้การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ก่อความไม่สงบ ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์โดยถูกต้องและยุติการกระทำเอง ทางเจ้าหน้าที่จะปิดล้อมพื้นที่สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งอารักขาสถานที่และบุคคลสำคัญของประเทศ
  3. ขั้นปราบปรามรุนแรง หากการปฏิบัติการขั้นที่ 2 หรือกองกำลังตำรวจไม่สามารถที่จะระงับสถานการณ์ได้สำเร็จ และสถานการณ์ทวีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้แล้ว จึงใช้กองกำลังของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เข้าระงับยับยั้งยุติภัยคุกคาม
  4. ขั้นสุดท้าย คือ การส่งมอบพื้นที่และความรับผิดชอบ ให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือตำรวจรับผิดชอบต่อไป เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

พระราชทานพระราชดำรัส[แก้]

วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
พระราชดำรัสวันที่ 20 พฤษภาคม 2535

เมื่อเวลาประมาณ 21:30 นาฬิกา ของวันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ชุมนุม เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย[13] ซึ่งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย นำเทปบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทั้ง 5 ช่อง เมื่อเวลา 24:00 นาฬิกาของคืนเดียวกัน[14] วันที่ 24 พฤษภาคม พล.อ.สุจินดา จึงกราบบังคมทูล ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทนเป็นการชั่วคราว

ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2535[แก้]

พ.ศ. 2534

  • 23 กุมภาพันธ์ - เวลา 11.30 น. คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

พ.ศ. 2535

  • 22 มีนาคม - มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ พรรคสามัคคีธรรม ของนายณรงค์ วงศ์วรรณ ได้รับเลือกตั้งมาเป็นลำดับหนึ่ง แต่ถูกขึ้นบัญชีดำผู้ค้ายาเสพติดจากสหรัฐอเมริกา
  • 27 มีนาคม - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2535 [15]
  • 2 เมษายน - เวลา 15.40 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมรัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต และทรงพระราชทานพระราชดำรัส[16]
  • 5 เมษายน - นายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ได้แถลงข่าวว่า พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ได้มีมติให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงของประเทศและเศรษฐกิจ[17]
  • 7 เมษายน - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนทื่ 19 ของประเทศไทย
  • 8 เมษายน - ร้อยตรีฉลาด วรฉัตร เริ่มอดอาหารประท้วงวันแรก
  • 17 เมษายน - มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
  • 20 เมษายน - พรรคฝ่ายค้านเริ่มการปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้ามีผู้ร่วมชุมนุมเกือบ 100,000 คน
  • 4 พฤษภาคม -พลตรีจำลอง ศรีเมือง เริ่มอดอาหารประท้วงวันแรก
  • 7 พฤษภาคม -พลเอกสุจินดา แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้าร่วม ขณะเดียวกันบริเวณหน้ารัฐสภามีผู้ชุมนุมร่วมประท้วง จนต้องมีการปิดประชุมโดยกะทันหันให้มาประชุมใหม่ในวันรุ่งขึ้น
  • 8 พฤษภาคม -พลเอกสุจินดา แถลงถึงเหตุผลที่ต้องมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
  • 9 พฤษภาคม - นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภาประสานให้พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านร่วมกันตกลงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประการ และพลตรีจำลอง ประกาศเลิกอดอาหาร
  • 11 พฤษภาคม -พลตรีจำลอง ประกาศสลายการชุมนุมและประกาศชุมนุมใหม่อีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคม หากในวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่พรรคร่วมรัฐบาลให้สัญญาว่าจะแถลงถึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีความคืบหน้า
  • 15 พฤษภาคม - พรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนท่าทีเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นการให้สัมภาษณ์โดยพลการของ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่าจะแก้ให้มีบทเฉพาะกาล ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งพลเอกสุจินดา ต้องดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี เสียก่อน
  • 17 พฤษภาคม - รัฐบาลจัดคอนเสิร์ตต้านภัยแล้งสกัดม็อบที่สนามกีฬากองทัพบกและวงเวียนใหญ่ โดยขนรถสุขาของกรุงเทพ ฯมาไว้ที่นี่หมด ช่วงเที่ยงคืนเริ่มเกิดการตำรวจปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม
  • 18 พฤษภาคม - ก่อนรุ่งสาง รัฐบาลเริ่มนำกำลังทหารและตำรวจตระเวนชายแดนจัดการกับผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน[18]พร้อมกับแถลงการณ์ของรัฐบาล[19],กองทัพบกและกองกำลังรักษาพระนคร[20]ให้เลิกการชุมนุม และออกประกาศอีกหลายฉบับ เช่น ประกาศ ห้ามเสนอข้อความหรือเผยแพร่รวมไปถึงพิมพ์เอกสารที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง[21]เวลาบ่ายพลตรีจำลอง ศรีเมือง และผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม
  • 19 พฤษภาคม - กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ถูกจับกุมย้ายสถานที่ชุมนุมไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • 20 พฤษภาคม - พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้ประกาศห้ามมิให้บุคคลใดในกรุงเทพมหานครออกนอกเคหสถาน เวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม[22]
  • - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีรับสั่งให้ผู้นำทั้งสองฝ่าย คือพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง เข้าเฝ้า โดยผู้ที่นำเข้าเฝ้าคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี ในขณะนั้น
  • - กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้สถานศึกษาปิดเรียนเพิ่มเติมในจังหวัดที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม [23]
  • 21 พฤษภาคม - เวลา 12.00 น. พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้ประกาศยกเลิกการห้ามมิให้บุคคลใดในกรุงเทพมหานครออกนอกเคหสถาน เนื่องจากสถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว[24]
  • 23 พฤษภาคม - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 [25]
  • 24 พฤษภาคม - พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง แถลงการณ์ร่วมกันผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและพลเอกสุจินดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
  • 26 พฤษภาคม - ได้มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี โดยยกเลิกตั้งแต่เวลา 12.00 น.ของวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2535[26]
  • 10 มิถุนายน - แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสนอชื่อพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา ตัดสินใจนำชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อบริหารประเทศชั่วคราว ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดการเลือกตั้งใหม่
  • 30 มิถุนายน - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  • 13 กันยายน - มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วทั้งประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์สืบเนื่อง[แก้]

อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม
  • ภายหลังการประกาศลาออกของพลเอกสุจินดา คราประยูร ทำให้นายมีชัย ฤชุพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 คณะรัฐมนตรีคณะที่ 48 ของรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร จึงพ้นจากตำแหน่งไปตามวาระ
  • ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น พล.อ.อ.สมบุญ อดีตผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งเป็น หัวหน้าพรรคชาติไทย สืบต่อจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ลาออกหลังรัฐประหาร เป็นที่เชื่อกันในขณะนั้นว่า พล.อ.อ.สมบุญ จะต้องได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ต่อจาก พล.อ.สุจินดา อย่างแน่นอน แต่แล้วเมื่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ กลับกลายเป็นการแต่งตั้งให้ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีระหว่างการรัฐประหาร กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำให้เป็นที่พูดต่อๆ กันมาถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า พล.อ.อ.สมบุญ "แต่งชุดขาวรอเก้อ"[27]
  • 5 พรรคที่สนับสนุนสุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม  พรรคชาติไทย พรรคประชากรไทย  พรรคราษฎร ยกเว้น พรรคกิจสังคม เป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 18
  • มีการแก้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 จำนวน 6 ครั้ง มีประเด็นสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม คือ แก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา รวมทั้งแก้ไของค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมยิ่งขึ้น , การกำหนดคุณสมบัติของผู้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[28]
  • รัฐบาลได้เปิดให้เอกชนประมูลจัดตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ในระบบยูเอชเอฟ เพื่อเป็นทางเลือกในการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน ภายใต้ชื่อสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และกลายเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในปัจจุบัน[29]

ผลกระทบต่อความคิดเปลี่ยนแปลงสังคม[แก้]

อนุสรณ์สถานสตรีทอาร์ท ใกล้ถนนข้าวสาร

จากเหตุการณ์สูญเสียชีวิตประชาชนดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดทัศนะว่าผู้นำการประท้วงหรือชุมนุมพึงรู้จักใช้วิธีการเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนไว้ อาจยอมลดเป้าหมายของข้อเรียกร้องเพื่อลดโอกาสนองเลือด หรือยอมแพ้ทางการเมืองเสียดีกว่า[30]: 102  ซึ่งสุรพล ธรรมร่มดีมองว่าเป็นการยอมรับอนุรักษนิยมทางสังคม และบอกให้ประชาชนทนกับความเลวร้ายที่น้อยกว่า (lesser evil)[30]: 105 

ตลาดหุ้น[แก้]

เมื่อตลาดหุ้นเปิดทำการในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ดัชนีหุ้นไทยเซ็ท อินเด็กซ์ ตกลง 9% จาก 732.89 จุดไปอยู่ที่ 675.51 จุด[31] ทันทีที่เหตุการณ์สงบลง ดัชนีปรับขึ้น 13% ในช่วง 1 เดือนหลังจากนั้น[32]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 เปิดรายชื่อคนตาย พ.ค.35 และ พ.ค.53 – 7 ปี ความยุติธรรมที่ไม่ไปไหน
  2. สามัคคีธรรม (พ.ศ. 2535)[ลิงก์เสีย] ,ฐานข้อมูลการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า .วันที่ 5 ต.ค. 2554
  3. วาทกรรมทางการเมืองกับความหมายเชิงสัญญะ[ลิงก์เสีย] ,ผู้จัดการ .วันที่ 27 สิงหาคม 2555
  4. "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-04. สืบค้นเมื่อ 2008-09-13.
  5. การเคลื่อนไหวประชาชน
  6. รัฐบาลได้ประกาศฉุกเฉิน
  7. ประกาศ ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมกัน
  8. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันหยุดราชการ
  9. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาปิดเรียน (วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535)
  10. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องให้สถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชนงดการเรียนการสอน และกิจกรรมนิสิต - นักศึกษา
  11. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง งดการตรวจร่างกายและเอกซเรย์
  12. “ไอ้แหลม” มาแล้ว... [ลิงก์เสีย]
  13. พระราชดำรัสของในหลวง ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 จากเฟซบุ๊ก
  14. พระราชดำรัส 20 พฤษภาคม 2535 ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช King of Thailand. จากยูทูบ
  15. พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2535
  16. ข่าวในพระราชสำนัก วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2535 (หน้า 7-8)
  17. พรรคสามัคคีธรรม (พ.ศ. 2535)[ลิงก์เสีย]
  18. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  19. แถลงการณ์ของรัฐบาล
  20. แถลงการณ์กองทัพบกและกองกำลังรักษาพระนคร เรื่องให้ประชาชนเลิกการชุมนุมมั่วสุมกัน ฉบับที่ 1
  21. ประกาศห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการโฆษณาหรือพิมพ์เอกสารอันกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร
  22. ประกาศห้ามมิให้บุคคลใดในกรุงเทพมหานครออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด
  23. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาปิดเรียน (วันที่ 21 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2535)
  24. ประกาศ ยกเลิกการห้ามมิให้บุคคลใดในกรุงเทพมหานครออกนอกเคหสถาน
  25. "พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-24. สืบค้นเมื่อ 2017-05-23.
  26. ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
  27. อดีตแกนนำส.ส.กลุ่มงูเห่า "สมบุญ ระหงษ์" เจ้าของฉายา "แต่งชุดขาวรอเก้อ" สมัยพฤษภาทมิฬ เสียชีวิตแล้ว![ลิงก์เสีย]
  28. สภาบันพระปกเกล้า:รัฐธรรมนูญ 2534 แก้ไขเพิ่มเติม[ลิงก์เสีย]
  29. จุดกำเนิดไอทีวี จนถึงวันที่ถูกสั่งปิดจากสนุกดอตคอม
  30. 30.0 30.1 ธรรมร่มดี, สุรพล (มกราคม–มิถุนายน 2545). "พินิจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และดอกผลของการปฏิวัติสังคม". สังคมศาสตร์. 33 (1). สืบค้นเมื่อ 2020-07-21.
  31. "สรุปวิกฤตพฤษภาทมิฬ : ตลาดหุ้นไทยในยุคพฤษภาทมิฬ".
  32. "เศรษฐกิจ-การเมือง-ตลาดหุ้น".

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]