พรรคคอมมิวนิสต์มลายา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรคคอมมิวนิสต์มลายา
马来亚共产党 Mǎláiyǎ gòngchǎndǎng
Parti Komunis Malaya ڤرتي کومونيس ملايا
மலாயா கம்யூனிஸ்ட் கட்சி Malāyā kamyūṉisṭ kaṭci
ชื่อย่อMCP, CPM, PKM
คำขวัญเกาม์บูรุฮ์เซมัวเนอเกอรี เบอร์ซาตูละฮ์! (แรงงานทั่วโลก จงร่วมใจ!)
ก่อตั้ง30 เมษายน ค.ศ.1930
ถูกยุบ2 ธันวาคม ค.ศ.1989
ก่อนหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ทะเลใต้
หนังสือพิมพ์มิน เซิงโป
จำนวนสมาชิก  (ปี 1939)40,000
อุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์
ลัทธิมากซ์-เลนิน
จุดยืนซ้ายสุด
สีแดง
การเมืองมาเลเซีย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคคอมมิวนิสต์มลายา (อังกฤษ: Malayan Communist Party, Communist Party of Malaya) เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตัวขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2473 และประกาศวางอาวุธเมื่อ พ.ศ. 2532 บทบาทที่สำคัญของพรรคนี้คือ ทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินมลายา

การก่อตั้ง[แก้]

แนวคิดคอมมิวนิสต์เข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชาวดัตช์หัวรุนแรงและเติบโตขึ้นตามการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ใน พ.ศ. 2455 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เปิดสำนักงานขึ้นที่สิงคโปร์ ซึ่งกลายเป็นจุดกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์ทะเลใต้หรือพรรคอมมิวนิสต์หนานหยาง พรรคนี้มีกิจกรรมมากในดัตช์อีสต์อินดีสและอินโดจีนฝรั่งเศส ในสิงคโปร์ การทำงานของพรรคมีศูนย์กลางที่สหภาพการค้า หลังจากการลุกฮือที่ล้มเหลวเมื่อ พ.ศ. 2468 ชาวอินโดนีเซียที่นิยมคอมมิวนิสต์ได้ลี้ภัยมายังสิงคโปร์และดำเนินกิจการทางการเมืองร่วมกัน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2473 พรรคคอมมิวนิสต์ทะเลใต้ได้สลายตัวและตั้งพรรคคอมมิวนิสต์มลายาขึ้นแทน โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในมลายาและสิงคโปร์ และยังมีกิจกรรมบางส่วนในไทยและดัตช์อีสต์อินดีส

การเติบโต[แก้]

พรรคนี้เป็นพรรคนอกกฎหมาย ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2474 ผู้นำพรรคหลายคนถูกจับกุม อย่างไรก็ตาม พรรคยังมีอิทธิพลในสหภาพการค้าและจัดให้มีการนัดหยุดงานหลายครั้งเช่นที่ เหมืองถ่านหินบาตูอารัง เมื่อ พ.ศ. 2478 และยังสนับสนุนให้จัดตั้งคณะกรรมการแรงงานในที่ทำงาน ซึ่งคณะกรรมการและการนัดหยุดงานมักถูกปราบปรามโดยตำรวจ ผู้ประท้วงที่มีเชื้อชาติจีนถูกส่งกลับจีน ซึ่งมักจะถูกรัฐบาลก๊กมินตั๋งประหารชีวิตด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ หลังจากที่ญี่ปุ่นรุกรานจีนใน พ.ศ. 2480 ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับรัฐบาลก๊กมินตั๋ง สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจึงเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น

โครงสร้าง[แก้]

พรรคคอมมิวนิสต์มลายานำโดยคณะกรรมกลางสูงสุด 12–15 คน โดยประมาณ 6 คนจัดเป็นคณะโปลิตบูโร ในแต่ละรัฐจะมีคณะกรรมการเป็นของตนเอง โครงสร้างที่เล็กที่สุดของพรรคเรียกเซลล์ ซึ่งอยู่ในระดับหมู่บ้านหรือที่ทำงาน

สงครามโลกครั้งที่ 2[แก้]

ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้รุกรานมลายา อังกฤษได้ยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเพื่อร่วมมือกันต่อต้านญี่ปุ่นและได้ปล่อยสมาชิกพรรคที่ถูกคุมขังเมื่อ 15 ธันวาคม ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม กองทัพอังกฤษเริ่มฝึกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ให้สู้รบแบบกองโจรเพื่อจัดตั้งเป็นกองกำลังพิเศษแห่งสิงคโปร์ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกราว 165 คน พรรคเริ่มจัดตั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธที่รัฐยะโฮร์ก่อนสิงคโปร์แตกเมื่อ 15 กมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 และได้ประกาศตัวเป็นกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านญี่ปุ่น เริ่มโจมตีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีพลเรือนชาวจีน ทำให้ชาวมลายาเชื้อสายจีนอพยพออกไปจากเมือง หลังจากสิงคโปร์แตก ไล เตกถูกทหารญี่ปุ่นจับกุม ต่อมาใน 1 กันยายน พ.ศ. 2485 ญี่ปุ่นเข้าทำลายการประชุมลับของฝ่ายต่อต้าน และจับกุมสมาชิกพรรคไปได้มากกว่าร้อยคน ที่บาตู จาเรสทางเหนือของกัวลาลัมเปอร์ และถูกฆ่าทั้งหมด ทำให้การดำเนินการของพรรคยากขึ้นเพราะขาดผู้นำ

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2486 กองกำลังที่ 136 ของอังกฤษได้ติดต่อกับกลุ่มกองโจรในมลายา ซึ่งกองทัพประชาชนยินดีร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรและได้รับความช่วยเหลือทางอากาศ

หลังสงคราม[แก้]

หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้ กองกำลังอังกฤษกลับมาในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2488 สิงคโปร์ถูกอังกฤษปกครองอีกครั้งในวันที่ 8 กันยายน การถอนตัวของญี่ปุ่นทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง กองทัพประชาชนได้เข้ามาทดแทนช่องว่างนั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ชาวจีนอาศัยอยู่ ในวันที่ 12 กันยายน มีการจัดตั้งหน่วยบริหารกองทัพอังกฤษในกัวลาลัมเปอร์ ส่วนกองทัพประชาชนได้สลายตัวไป พรรคคอมิวนิสต์มลายายังคงเป็นพรรคนอกกฎหมาย

พรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้ออกมาเรียกร้องเอกราช มีการนัดหยุดงานโดยการสนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ พรรคนี้ยังมีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองอื่นคือพรรคสหภาพประชาธิปไตยมลายาและพรรคชาตินิยมมลายู ใน พ.ศ. 2489 ผู้นำพรรคคือไล เตก ต่อมา เมื่อเขาถูกตั้งข้อสงสัยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2490 เขาได้หนีออกจากประเทศไปพร้อมกับเงินของพรรค จีนเป็งขึ้นมาเป็นเลขาธิการของพรรคคนใหม่

ภาวะฉุกเฉินในมลายา[แก้]

รัฐบาลอาณานิคมได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในมลายาเมื่อ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2491 หลังจากที่มีชาวยุโรปถูกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฆ่าตายในรัฐเปรัก ตำรวจพยายามเข้ากวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์ ในอีกสองสัปดาห์ต่อมา สมาชิกพรรคฯราว 100 คนถูกจับกุม พรรคกลายเป็นพรรคนอกกฎหมายเมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 พรรคนี้ได้จัดตั้งกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านอังกฤษซึ่งส่วนใหญ่มาจากกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านญี่ปุ่นเดิม เลา เยิวถูกฆ่าในการปะทะเมื่อ 16 กรกฎาคม ส่วนจิน เป็งหลบหนีไปได้ กองทัพของพรรคเริ่มหลบหนีเข้าป่า เพื่อจัดตั้งพื้นที่ปลดปล่อยในพื้นที่ห่างไกล กองกำลังประชาชนมลายาต่อต้านอังกฤษก็ประสบความสำเร็จน้อย เพราะการจัดองค์กรไม่ดีและขาดการฝึกฝน

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 กองกำลังประชาชนต่อต้านอังกฤษเปลี่ยนชื่อมาเป็นกองทัพปลดปล่อยประชาชนมลายา และพรรคได้ประกาศต่อสู้เพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนมลายาซึ่งรวมสิงคโปร์ด้วย กองทัพปลดปล่อยควบคุมโดยคณะกรรมการกลางทางการทหาร ที่ประกอบด้วยคณะโปลิตบูโร และบางส่วนของผู้บัญชาการทางทหารและตำรวจ สมาชิกที่มีอิทธิพลได้แก่ จินเปง เยือง โกว และเลา ลี กองทัพมีทหารประมาณ 4,000 คนและเป็นหญิง 10% แบ่งเป็น10 ส่วน 9 ส่วนเป็นกองกำลังชาวมลายาเชื้อสายจีน อีก 1 ส่วนเป็นของชาวมลายู และชาวมลายาเชื้อสายอินเดีย ซึ่งส่วนสุดท้ายนี้ถูกอังกฤษทำลายไปเพื่อให้พรรคนี้เป็นพรรคของชาวจีน

กองทัพอังกฤษได้จัดให้มีการตั้งถิ่นฐานใหม่และอารักขาหมู่บ้านใหม่ด้วยตำรวจ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 อังกฤษได้ใช้นโยบายปิดล้อมให้อดอาหาร ซึ่งในพื้นที่จำกัดอาหาร จะให้ทำอาหารกินที่บ้านเท่านั้น ห้ามมีร้านอาหารหรือการขายอาหารในที่ทำงาน ร้านค้าถูกจำกัดจำนวนขายโดยเฉพาะอาหารกระป๋อง การเผาหมู่บ้านที่ต้องสงสัยว่าร่วมมือกับคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป การปิดล้อมทางอาหารให้ผลสำเร็จมาก ใน พ.ศ. 2496 กองทัพปลดปล่อยฯประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารและจำนวนทหารลดลง การจัดตั้งพื้นที่ปลดปล่อยไม่ประสบความสำเร็จ พรรคคอมมิวนิสต์ต้องกลับมาดำเนินงานในฐานะพรรคการเมือง

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2498 มีการเลือกตั้งทั่วไปในมลายาและตวนกูอับดุลเราะห์มานได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2498 จิน เป็งได้เขียนจดหมายถึงอับดุลเราะห์มานเพื่อเจรจาสันติภาพ และได้รับการยอมรับในวันที่ 17 ตุลาคม ตัวแทนของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ได้เจรจากันแต่ตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลต้องการให้สลายพรรค แต่ทางพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิเสธ ใน พ.ศ. 2499 จิน เป็งได้ติดต่ออับดุลเราะห์มานเพื่อขอเจรจาอีกแต่อับดุลเราะห์มานปฏิเสธ ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2501 กองทัพปลดปล่อยมลายาคงอยู่เฉพาะในรัฐเปรักและทางใต้ของยะโฮร์ ต่อมา ใน พ.ศ. 2502 กองทัพปลดปล่อยมีกิจกรรมเฉพาะตามแนวชายแดนไทยเท่านั้น

หลัง พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา[แก้]

คาดการณ์ว่าในช่วงนี้สมาชิกพรรคเหลือประมาณ 2,000 คน กองกำลังของพรรคถูกบีบให้ลดจำนวนลงและอยู่ตามแนวชายแดนไทย จิน เป็งอยู่ในจีนและมีการติดต่อกับสมาชิกได้จำกัด ใน พ.ศ. 2512 ได้เปิดสถานีวิทยุที่เกาะไหหลำในชื่อเสียงแห่งการปฏิวัติมลายาและถูกปิดเมื่อ พ.ศ. 2524 ตามคำร้องขอของเติ้ง เสี่ยวผิง ใน พ.ศ. 2512 นี้ พรรคได้เพิ่มการต่อสู้ด้วยอาวุธมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์คือสงครามเวียดนามและการปฏิวิติวัฒนธรรมในจีน ใน พ.ศ. 2513 พรรคได้แตกแยกเป็นสองฝ่ายและต่างก็ประณามกันเอง และจิน เปงประกาศไม่ยุ่งเกี่ยว ใน พ.ศ. 2532 พรรคได้ตัดสินใจวางอาวุธเมื่อ 2 ธันวาคมที่หาดใหญ่ ประเทศไทย หลังจากมีการลงนามสันติภาพระหว่างพรรคกับรัฐบาลไทยและมาเลเซีย

อ้างอิง[แก้]

  • Cheah, Boon Kheng (2003). Red Star over Malaya: resistance and social conflict during and after the Japanese occupation of Malaya, 1941-1946. Singapore: Singapore University Press. ISBN 978-9971-69-274-2.
  • Chin, C. C., and Karl Hack. eds., Dialogues with Chin Peng: New Light on the Malayan Communist Party. (2004) Singapore: Singapore University Press, 2004 ISBN 9971-69-287-2
  • Chin, Peng (2003). Alias Chin Peng: My Side of History. Singapore: Media Masters. ISBN 978-981-04-8693-8.
  • O'Ballance, Edgar (1966). Malaya: The Communist Insurgent War, 1948-1960. Hamden, Connecticut: Archon Books.
  • Rashid, Maidin (2009). Memoirs of Rashid Maidin: From Armed Struggle to Peace. Petaling Jaya, Malaysia: Strategic Information and Research Development Centre. ISBN 978-983-3782-72-7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-11. สืบค้นเมื่อ 2013-12-09.
  • Singh Sandhu, Kernial (1964). "The Saga of the 'Squatter' in Malaya". Journal of South East Asian History. Cambridge: Cambridge University Press.
  • Short, Anthony (1975). The Communist Insurrection in Malaysa, 1948-1960. London: Frederick Muller. ISBN 0-584-10157-0.

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]

  • เมลีซา อับดุลเลาะห์. (2566). พรรคคอมมิวนิสต์มลายา: ตั้งแต่การก่อตั้งพรรคจนถึงการตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาสันติภาพ. วารสารอักษรศาสตร์. 52(1): 29-45.