พรรคคอมมิวนิสต์พม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรคคอมมิวนิสต์พม่า
ဗမာပြည်ကွန်မြူနစ်ပါတီ
ชื่อย่อCPB
เลขาธิการYèbaw Kyin Maung[1]
ก่อตั้ง15 สิงหาคม ค.ศ. 1939 (1939-08-15)
ที่ทำการปางซาง (จนถึงปี ค.ศ. 1989)
อุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์
Marxism–Leninism–Maoism[2]
จุดยืนซ้ายจัด
เว็บไซต์
www.cp-burma.org แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ
การเมืองพม่า
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง
ธงของพรรคระหว่าง พ.ศ. 2489–2512

พรรคคอมมิวนิสต์พม่า (อังกฤษ: Communist Party of Burma) จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2482 โดยนักศึกษาพม่าที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิมากซ์และสังคมนิยม มีเป้าหมายต่อสู้เพื่อเอกราชของพม่าและจัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นปกครองประเทศ มีบทบาทในการต่อต้านญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังได้ร่วมมือกับสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ หลังจากพม่าได้รับเอกราช พรรคคอมมิวนิสต์พยายามก่อการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนการปกครองแต่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน จึงต้องถอยไปทำการรบแบบกองโจรตามแนวชายแดนและเขตป่าเขา พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ไม่อาจก่อการปฏิวัติได้อีกเพราะขาดกำลังพลและประสานความร่วมมือกับชนกลุ่มน้อยไม่ได้ เมื่อรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่หันไปดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับฝ่ายเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์พม่าจึงอ่อนแอลง และหมดความสำคัญไปเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง

กำเนิด[แก้]

พรรคคอมมิวนิสต์พม่ากำเนิดขึ้นพร้อมกับการตั้งขบวนการตะคีนของชาวพม่าวัยหนุ่มสาวที่นิยมลัทธิสังคมนิยม ผู้นำของตะคีน เช่น ตะคีนนุ ตะคีนโซ่ และตะคีนต้านทู่นได้ตั้งสำนักพิมพ์นากะนี (นาคแดง) เพื่อจำหน่ายหนังสือเกี่ยวกับสังคมนิยม พ.ศ. 2478 กลุ่มตะคีนได้จัดตั้งสมาคมเราชาวพม่าเพื่อเป็นศูนย์รวมในการเรียกร้องเอกราช ทั้งการเดินขบวน และการนัดหยุดงาน จน พ.ศ. 2482 อองซาน โซ่ และโกซานจึงจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่าโดยอองซานเป็นเลขาธิการคนแรก

เกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้นำของพรรคอย่างรุนแรงใน พ.ศ. 2483 เพราะอองซานต้องการความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นในการเรียกร้องเอกราชแต่โซ่ไม่เห็นด้วย เมื่ออองซานหนีไปญี่ปุ่น โซ่จึงเป็นผู้ดูแลพรรคแทน ในปีเดียวกันอังกฤษได้ประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์พม่าเป็นพรรคนอกกฎหมาย

สงครามโลกครั้งที่ 2[แก้]

เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองพม่าและขับไล่อังกฤษออกไปเมื่อ พ.ศ. 2485 ตะคีนบางส่วนเช่น อองซาน นุ ต้านทู่น ทำงานร่วมกับญี่ปุ่นแต่พรรคคอมมิวนิสต์พม่ายังคงต่อต้านญี่ปุ่นต่อไป ภายหลังเมื่อพวกตะคีนแน่ใจว่าญี่ปุ่นไม่ได้จริงใจกับการให้เอกราชแก่พม่า จึงมารวมตัวกันในนามของสันนิบาตเสรีชนฯ โดยพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเข้าสังกัดองค์การนี้ และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2488 ด้วย

เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง พรรคคอมมิวนิสต์พม่ายังรวมอยู่กับสันนิบาตเสรีชนฯ แต่ก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างฐานมวลชนในทางลับ ความขัดแย้งในหมู่ผู้นำทั้งในสันนิบาตเสรีชนฯ และพรรคคอมมิวนิสต์พม่าทำให้โซ่แยกตัวไปตั้งพรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคธงแดงเมื่อ พ.ศ. 2489 และตั้งตนเป็นศัตรูกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าหรือพรรคธงขาว อีกไม่กี่เดือนต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์พม่าก็แยกตัวออกจากสันนิบาตเสรีชนฯ

การปฏิวัติ[แก้]

พรรคคอมมิวนิสต์พม่าเปลี่ยนแปลงการต่อสู้อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2491 โดยจัดให้มีการประชุมใหญ่ของสหภาพชาวนาแห่งพม่าที่เมืองปยี่นมะน่า มีการเรียกร้องให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลด้วยกำลัง พรรคคอมมิวนิสต์พม่าตัดสินใจทำการปฏิวัติในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2491 โดยพรรคธงแดงได้ร่วมมือกับกบฏมุสลิมมุญาฮิดีนในยะไข่ลุกฮือขึ้นพร้อมกันด้วยแต่พรรคธงแดงมีกำลังไม่พอจึงถูกปราบปรามได้โดยเร็ว อีกเดือนต่อมา โซ่ถูกจับกุมตัว

ส่วนกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าสามารถยึดพื้นที่ในบริเวณภาคกลางของพม่าไว้ได้ตั้งแต่ทิวเขาพะโค ปยี่นมะน่า ไปจนถึงแปรและตองอู ในช่วงกลางปีมีกองกำลังประชาชนอาสาที่ก่อกบฏต่อรัฐบาลเช่นกันเข้าร่วมด้วย

ฝ่ายรัฐบาลเริ่มรุกกลับและยึดพื้นที่ต่าง ๆ คืนได้ใน พ.ศ. 2494 ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์พม่าต้องถอยร่นไปตามแนวชายแดนและเขตป่าเขาของทิวเขาพะโคและหันไปรับความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้น

ความเสื่อมสลาย[แก้]

หลังจากนายพลเนวี่นทำการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ. 2505 พรรคคอมมิวนิสต์พม่าอยู่ในสภาพอ่อนแอและพยายามหาความร่วมมือจากชนกลุ่มน้อย พ.ศ. 2511 ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าหลายคนเสียชีวิตทำให้กลุ่มนิยมจีนเข้ามามีอำนาจในพรรค เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่าและจีนในช่วง พ.ศ. 2510–2513 จีนสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอย่างเปิดเผยจนสามารถกลับมายึดครองดินแดนภาคกลางแถบทิวเขาพะโคได้อีก พ.ศ. 2515 พรรคคอมมิวนิสต์พม่าพยายามหาความร่วมมือจากชนกลุ่มน้อยแต่ถูกปฏิเสธเพราะอุดมการณ์ต่างกัน ความแตกแยกกับชนกลุ่มน้อยเป็นเหตุให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถรุกกลับ พรรคคอมมิวนิสต์พม่าต้องถอยกลับไปอยู่ชายแดนอีกครั้ง

พ.ศ. 2518 กองทหารฝ่ายรัฐบาลปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่ทิวเขาพะโคครั้งใหญ่รวมทั้งกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์พม่าตามแนวชายแดนด้วย ทำให้พรรคได้รับความเสียหายมาก ประกอบกับการเปลี่ยนนโยบายของจีน พรรคคอมมิวนิสต์พม่าจึงหาทางประนีประนอมกับรัฐบาล รัฐบาลพม่าได้ประกาศนิรโทษกรรมแก่ศัตรูทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2524 มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าแต่ตกลงกันไม่ได้ พรรคคอมมิวนิสต์พม่าจึงถอนกำลังกลับไปชายแดนเช่นเดิม จนกระทั่งสงครามเย็นสิ้นสุด พรรคคอมมิวนิสต์พม่าจึงหมดความสำคัญไป

อ้างอิง[แก้]

  1. CPB Official Website
  2. Smith, Martin (1991). Burma: Insurgency and the politics of ethnicity (2. impr. ed.). London and New Jersey: Zed Books. ISBN 0862328683.[ต้องการเลขหน้า]
  • สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2547.