พยัคฆ์ร้าย 007

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พยัคฆ์ร้าย 007
ไฟล์:Drno.jpg
ใบปิดภาพยนตร์ของ "พยัคฆ์ร้าย 007" ในสหรัฐอเมริกา ออกแบบโดย มิตเชลล์ ฮุกส์และเดวิด แชสแมน พร้อมกับโลโก้ 007 ออกแบบโดย โจเซฟ ชารอฟฟ์
กำกับเทอเรนซ์ ยัง
บทภาพยนตร์ริชาร์ด เมบอม
โจฮันนา ฮาร์วูด
เบอร์คีลี แมทเทอร์
สร้างจากดร.โน
โดย เอียน เฟลมมิง
อำนวยการสร้างแฮรรี ซอลต์ซแมน
อัลเบิร์ต อาร์. บรอคโคลี
นักแสดงนำฌอน คอนเนอรี
เออร์ซูลา แอนเดรส
โจเซฟ ไวส์แมน
แจ๊ค ลอร์ด
แอนโทนี ดอว์สัน
เซนา มาร์เชลล์
จอห์น คิสซ์มิลเลอร์
ยูนิซ เกย์สัน
เบอร์นาร์ด ลี
กำกับภาพเท็ด มัวร์
ตัดต่อปีเตอร์ อาร์. ฮันต์
ดนตรีประกอบมอนตี นอร์แมน
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายยูไนเต็ดอาร์ตติสต์
วันฉาย5 ตุลาคม ค.ศ. 1962 (1962-10-05)(สหราชอาณาจักร)
ความยาว109 นาที
ประเทศสหราชอาณาจักร[1]
สหรัฐ[2]
ทุนสร้าง1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน59.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

พยัคฆ์ร้าย 007 (อังกฤษ: Dr. No) เป็นภาพยนตร์แนวสายลับฉายเมื่อปี ค.ศ. 1962 กำกับโดย เทอเรนซ์ ยัง ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ เอียน เฟลมมิง เมื่อปี ค.ศ. 1958 แสดงนำโดย ฌอน คอนเนอรี, เออร์ซูลา แอนเดรส, โจเซฟ ไวส์แมนและแจ๊ค ลอร์ด เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกใน ภาพยนตร์ชุด เจมส์ บอนด์ เขียนบทโดย ริชาร์ด เมบอม, โจฮันนา ฮาร์วูดและเบอร์คีลี แมทเทอร์ อำนวยการสร้างโดย แฮรรี ซอลท์ซ์แมนและอัลเบิร์ต อาร์. บรอคโคลี ซึ่งทั้งสองคนทำงานร่วมกันจนถึงปี ค.ศ. 1975

ในภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ถูกส่งไปจาเมกาเพื่อสืบสวนการหายตัวไปของสายลับอังกฤษ โดยจากเบาะแสต่าง ๆ นำเขาไปฐานลับใต้ดินของ ดร. โน ผู้ซึ่งมีแผนที่จะหยุดยั้งการปล่อยจรวดของอเมริกาด้วยคลื่นวิทยุรบกวน แม้ว่าจะเป็นการดัดแปลงจากหนังสือบอนด์เป็นภาพยนตร์เรื่องแรก แต่ว่า ดร. โน ไม่ใช่นวนิยายเล่มแรกของเฟลมมิง เพราะเล่มแรกนั้นคือ คาสิโนรอยัล อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ได้มีการอ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือก่อนหน้าและอ้างอิงถึงเนื้อหาที่มีในหนังสือเล่มต่อมา เช่น การเปิดตัวองค์กรอาชญากรรม สเปกเตอร์ (SPECTRE) ซึ่งต่อมาปรากฏในนวนิยาย ธันเดอร์บอลล์ ในปี ค.ศ. 1961

ด้วยทุนสร้างที่ต่ำทำให้ พยัคฆ์ร้าย 007 ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ในขณะที่การตอบรับนั้นค่อนข้างผสมผสานกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาพยนตร์กลับได้รับชื่อเสียงจนกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในภาพยนตร์ชุด พยัคฆ์ร้าย 007 ยังเป็นการเปิดทางให้ภาพยนตร์แนว สายลับ ทำให้แนวนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงทศววรษ 1960 นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงจากภาพยนตร์เป็นหนังสือการ์ตูนและอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขายและการตลาด

มีหลายสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ได้ถูกสร้างขึ้น เช่น ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวละครผ่าน ภาพจากภายในลำกล้องปืน ตามด้วยเพลงเปิดภาพยนตร์ที่มีความเฉพาะตัว ทั้งคู่สร้างโดย มอริซ บินเดอร์[3] และเพลงธีม เจมส์ บอนด์ ที่เป็นเอกลักษณ์ ผู้ออกแบบงานสร้าง เคน แอดัม ได้สร้างสไตล์ของภาพในภาพยนตร์ให้มีความซับซ้อนซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดเด่นของภาพยนตร์ชุด

โครงเรื่อง[แก้]

จอห์น สแตรงเวย์ส เจ้าหน้าที่เอ็มไอ6 ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีในจาเมกา ถูกสังหารโดยกลุ่มนักฆ่าสามคนพร้อมกับเลขานุการของเขา ก่อนที่บ้านของเขาถูกรื้อค้น เมื่อ เอ็ม หัวหน้าเอ็มไอ6 รู้ข่าวว่าสแตรงเวย์สได้หายตัวไป เขาจึงมอบหมายให้สายลับ เจมส์ บอนด์ ไปสืบสวนคดีดังกล่าวและตรวจสอบว่ามันเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของสแตรงเวย์สที่ร่วมมือกับสำนักข่าวกรองกลาง เรื่องการขัดขวางของปล่อยจรวดจาก แหลมคะแนเวอรัล ด้วยสัญญาณวิทยุรบกวน เมื่อบอนด์เดินทางมาถึงจาเมกา บอนด์โดนทักโดยชายคนหนึ่งอ้างว่าเป็นคนขับรถ ถูกส่งมาเพื่อรับตัวบอนด์ แต่แท้จริงแล้วเขาเป็นสายลับฝ่ายศัตรู ซึ่งถูกส่งมาเพื่อสังหารบอนด์ หลังจากทั้งสองคนต่อสู้กัน ก่อนที่บอนด์จะสอบปากคำเขา สายลับก็ฆ่าตัวตายด้วยแคปซูลไซยาไนด์ หลังไปดูที่บ้านของสแตรงเวย์ส บอนด์ไปหากับคนขับเรือซึ่งคุ้นเคยกับสแตรงเวย์ส ชื่อว่า ควอเรล ต่อมาเขาเปิดเผยว่าเขาช่วยเหลือซีไอเอและแนะนำบอนด์ให้รู้จักกับ ฟีลิกซ์ ไลเทอร์ สายลับซีไอเอ ซึ่งกำลังสืบสวนการหายตัวไปของสแตรงเวย์สเช่นกัน

บอนด์สอบถามเกี่ยวกับคดีของซีไอเอและรู้จากฟีลิกซ์ว่า ซีไอเอนั้นติดตามสัญญาณวิทยุรบกวนจนมาถึงจาเมกาและสแตรงเวย์สได้ช่วยระบุต้นกำเนิดของสัญญาณที่แน่นอน ควอเรลเปิดเผยว่าก่อนที่สแตรงเวย์สจะหายไป ทั้งคู่เก็บตัวอย่างแร่จากเกาะที่เรียกว่าแครบคีย์ เมื่อพบใบเสร็จจากนักธรณีวิทยาท้องถิ่น ศาสตราจารย์ อาร์. เจ. เดนต์ บอนด์ถามเขาเกี่ยวกับตัวอย่างแร่และเกาะแครบคีย์ แต่คำตอบของเขาน่าสงสัยเมื่อเขาอ้างว่าตัวอย่างแร่ที่ตรวจสอบแล้วเป็นแค่แร่ธรรมดา หลังจากนั้น เดนต์ เดินทางไปแครบคีย์เพื่อพบกับเจ้าของผู้สันโดษ ซึ่งเดนต์ทำงานให้กับเขา เพื่อบอกเขาเรื่องบอนด์ เขาจึงให้แมงมุมทารันทูล่ากับเดนต์ เพื่อใช้ในการสังหารบอนด์ อย่างไรก็ตามบอนด์ฆ่าแมงมุมตัวดังกล่าว ต่อมา บอนด์สร้างกับดักเอาไว้สำหรับเดนต์ เมื่อเดนต์มาถึง บอนด์เอาปืนชี้ไปที่เขาและเปิดเผยว่าบอนด์เชื่อว่าเดนต์ถูกขอให้ตรวจสอบตัวอย่างแร่ของสแตรงเวย์ส ว่ามีกัมมันตรังสีหรือไม่ ก่อนที่บอนด์จะสังหารเขา

หลังจากบอนด์ตรวจสอบเรือของควอเรลด้วย ไกเกอร์เคาน์เตอร์ เขาสงสัยว่าสัญญาณวิทยุรบกวนนั้นมาจากแครบคีย์และเขาโน้มน้าวให้ควอเรลพาเขาไปที่นั่น วันต่อมา หลังทั้งคู่เดินทางมาถึงแครบคีย์ บอนด์ได้พบกับ ฮันนี ไรเดอร์ ผู้หญิงสวยซึ่งกำลังเก็บเปลือกหอยอยู่ บอนด์ถูกบังคับให้พาไรเดอร์ไปกับเขาด้วยและหนีพร้อมกับควอเรลเข้าไปในบึง เมื่อคนติดอาวุธอยู่ดี ๆ ก็โผล่มา ตอนกลางคืนทั้งสามคนได้เผชิญหน้ากับรถถังติดปืนพ่นไฟ ซึ่งคนท้องถิ่นอ้างว่าคือ "มังกร" จากนั้นรถถังก็เผาควอเรลจนเสียชีวิต ในความโกลาหล บอนด์และไรเดอร์ก็ถูกจับและนำตัวไปยังฐานลับ หลังจากนั้นพวกเขาจะถูกนำไปขจัดการปนเปื้อนอย่างรวดเร็ว หลังจากพวกเขารู้ว่าหนองน้ำนั้นถูกปนเปื้อนด้วยรังสี หลังจากถูกนำไปที่ห้องส่วนตัวสำหรับพวกเขา ทั้งคู่หมดสติด้วยกาแฟใส่ยานอนหลับ

เมื่อทั้งสองคนตื่นขึ้น ก็ถูกนำตัวไปทานอาหารกับเจ้าของฐานลับ ชื่อว่า ดร. โน ลูกครึ่งชาวจีน-เยอรมัน นักวิทยาศาสตร์อาชญากรรม ผู้มีกายอุปกรณ์เป็นมือโลหะเนื่องจากได้รับรังสี ขณะที่กำลังทานอาหาร บอนด์รับรู้ว่า ดร. โน นั้นเป็นอดีตสมาชิกของ ถาง องค์กรอาชญากรรมของจีน จนกระทั่งเขาขโมยทองมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำงานให้กับองค์กรสเปกเตอร์ (ผู้บริการพิเศษต่อต้านสายลับ, ก่อการร้าย, ล้างแค้นและข่มขู่) บอนด์รับรู้ว่าสัญญาณวิทยุรบกวนนั้นดำเนินการโดย ดร. โน ซึ่งเป็นแผนการที่จะขัดขวางการปล่อยจรวจของโครงการเมอร์คิวรีที่แหลมคะแนเวอรัลโดยใช้คลื่นวิทยุ ด้วยความหวังว่าจะก่อให้เกิดสงครามระหว่างอเมริกันและรัสเซีย เมื่อบอนด์ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับสเปกเตอร์ ดร. โน นำตัวไรเดอร์ออกไปและจับบอนด์ขังคุก อย่างก็ตาม บอนด์สามารถหนีออกมาได้ผ่านช่องระบายอากาศ แล้วแฝงตัวเป็นผู้ก่อการร้าย ก่อนที่จะแทรกซึมเข้าไปในศูนย์ควบคุมของฐาน

บอนด์ค้นพบว่าคลื่นวิทยุซึ่งกำลังเตรียมตัวปล่อยนั้นขับเคลื่อนด้วยเครื่องปฏิกรณ์ประเภทบ่อน้ำ บอนด์จึงรีบปรับพลังงานให้เกินพิกัดในขณะที่กำลังปล่อยคลื่น ดร. โน พยายามจะหยุดบอนด์แต่เขาตกลงไปในบ่อปฏิกรณ์แล้วก็เสียชีวิต ขณะที่ฐานกำลังอพยพคน บอนด์ตามหาและปลดปล่อยไรเดอร์ ก่อนที่ทั้งสองจะหนีออกไปจากเกาะด้วยเรือ จากนั้นฐานก็ระเบิด ฟีลิกซ์พบทั้งคู่ล่องลอยอยู่ในทะเล หลังเรือพวกเขาน้ำมันหมด ราชนาวีจึงได้ให้เชือกเพื่อจูงเรือของทั้งสองคนไปยังที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ไรเดอร์แบ่งปันจูบกับเขา บอนด์ก็ปล่อยเชือกลากจูงเพื่อโอบกอดเธอ

นักแสดง[แก้]

มีนักแสดงเพิ่มเติม ได้แก่ เลสเตอร์ เพนเดอร์แดสต์ เป็น พุสส์ เฟลเลอร์ เพื่อนของควอเรล, วิลเลียม ฟอสเตอร์-เดวิส เป็น ผู้กำกับการตำรวจ ดัฟฟ์, โดโรเรส คีเตอร์ เป็น แมรี ทรูบลัด ผู้ช่วยส่วนตัวของสแตรงเวย์ส, แอนโธนี ชินน์ เป็น เชน หนึ่งในช่างห้องปฏิบัติการของ ดร. โน ซึ่งถูกบอนด์ปลอมตัว, ไบรอน ลีและเดอะดรากอนแนร์ส เป็น พวกเขาเอง และ มิลตัน รีด เป็นหนึ่งในยามของดร. โน ซึ่งต่อมารีดได้แสดงใน 007 พยัคฆ์ร้ายสุดที่รัก

การสร้าง[แก้]

อัลเบิร์ต อาร์. "คับบี" บรอคโคลี หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ พยัคฆ์ร้าย 007 และภาพยนตร์ชุด เจมส์ บอนด์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1962–1989

แต่เดิม เอียน เฟลมมิง เขียน ดร. โน เป็นโครงร่างรายการโทรทัศน์ให้กับ เฮนรี มอร์เกนตาว ที่ 3 ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจาเมกา[6] หลังโครงการดังกล่าวล่มไป เฟลมมิง เริ่มพบกับ แฮรรี ซอลต์ซแมน ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวแคนาดา เพื่อดัดแปลงนวนิยายเป็นภาพยนตร์ ถึงแม้ว่าเฟลมมิงจะไม่ชอบแนว "สัจนิยมอ่างล้างจาน" ซึ่งเป็นแนวของภาพยนตร์ที่ซอลต์ซแมนสร้าง แต่หลังจากเฟลมมิงดูภาพยนตร์เรื่อง แซตเทอร์เดย์ไนต์แอนด์ซันเดย์มอร์นิง เฟลมมิงก็ขายสิทธิ์นวนิยายเจมส์ บอนด์ให้เขาทั้งหมด ยกเว้น คาสิโนรอยัล และ ธันเดอร์บอลล์ ในราคา 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ[7] เมื่อครั้งที่แฮรรี ซอลต์ซแมนได้รับสิทธิ์ในการดัดแปลงนวนิยาย เขายังไม่ได้เริ่มโครงการในทันที อัลเบิร์ต อาร์. "คับบี" บรอคโคลี ต้องการสิทธิ์ดังกล่าวจึงพยายามที่จะขอซื้อสิทธิ์จากซอลต์ซแมน ซอลต์ซแมนไม่อยากขายให้กับบรอคโคลี พวกเขาจึงจับมือกันเป็นหุ้นส่วนเพื่อสร้างภาพยนตร์ สตูดิโอสร้างภาพยนตร์ในฮอลลิวูดจำนวนหนึ่งไม่ต้องการออกทุนสร้างให้ พวกเขาบอกว่ามัน อังกฤษมากเกินไป หรือ เรื่องเพศโจ่งแจ้งเกินไป[8] ในที่สุดทั้งคู่ได้รับอนุญาตจาก ยูไนเต็ดอาร์ตทิสต์ส ให้สร้าง พยัคฆ์ร้าย 007 กำหนดฉายในปี ค.ศ. 1962 ซอลต์ซแมนกับบรอคโคลีก่อตั้งสองบริษัท ได้แก่ แดนแจก (อังกฤษ: Danjaq) เพื่อเอาไว้ถือสิทธิ์ของภาพยนตร์ และ อีออนโปรดักชันส์ (อังกฤษ: Eon Productions) เพื่อเอาไว้สร้างภาพยนตร์[9] หุ้นส่วนระหว่างบรอคโคลีกับซอลต์ซแมนสิ้นสุดลงเมื่อปี ค.ศ. 1975 สาเหตุจากความตึงเครียดระหว่างการถ่ายทำ 007 เพชฌฆาตปืนทอง นำไปสู่การแยกทางกันอย่างรุนแรงและซอลต์ซแมนขายหุ้นดันจากของเขาให้กับยูไนเต็ดอาร์ตทิสต์ส[10]

ในตอนแรกนั้นบรอคโคลีกับซอลต์ซแมนต้องการจะสร้างภาพยนตร์จาก ธันเดอร์บอลล์ นวนิยายบอนด์เล่มที่แปด เมื่อปี ค.ศ. 1961 เป็นภาพยนตร์เรื่องแรก แต่มีข้อพิพาททางกฎหมายอย่างต่อเนื่องระหว่าง ผู้เขียนบทภาพยนตร์ร่วม เควิน แมคคลอรีกับเอียน เฟลมมิง ทำให้บรอคโคลีกับซอลต์ซแมนเลือก ดร. โน[11] ซึ่งประจวบเหมาะกับในเวลานั้นการทดสอบจรวดของอเมริกันที่แหลมคะแนเวอรัลมีปัญหาจรวดหลงทาง[12]

ผู้อำนวยการสร้างเสนอ พยัคฆ์ร้าย 007 ให้กับ กาย กรีน, กาย ฮามิลตัน, วาล เกสต์[13] และเคน ฮิวส์ เป็นผู้กำกับแต่ทุกคนปฏิเสธ ในที่สุดพวกเขาก็เซ็น เทอเรนซ์ ยัง มากำกับภาพยนตร์ ซึ่งเคยมีประวัติการทำงานยาวนานร่วมกับ วอร์วิกฟิล์มส ของบรอคโคลี บรอคโคลีกับซอลต์ซแมนรู้สึกว่ายังจะสามารถสร้างตัวตนที่แท้จริงของเจมส์ บอนด์และถ่ายทอดแก่นแท้ของตัวละครจากหนังสือสู่ภาพยนตร์ ยังกำหนดเอกลักษณ์มากมายให้กับตัวละครซึ่งปรากฏอย่างต่อเนื่องในภาพยนตร์ชุด[9] ยังได้ตัดสินใจใส่อารมณ์ขันเข้าไปในภาพยนตร์ให้มากขึ้น ขณะที่เขาคิดว่า "หลายสิ่งหลายอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้, เรื่องเพศ, ความรุนแรง, เป็นต้น หากจะเล่นกันตรง ๆ ก) มันจะน่ารังเกียจ, และ ข) เราจะไม่ผ่านการเซ็นเซอร์; แต่ถ้าคุณแซวหรือล้อเล่น ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไร"[14]

ผู้อำนวยการสร้างขอยูไนเต็ดอาร์ตทิสต์สออกเงินทุนสร้างให้ แต่สตูดิโอให้เงินแค่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ต่อมายูไนเต็ดอาร์ตทิสต์สาขาสหราชอาณาจักรออกเงินเพิ่มให้ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปสร้างฉากไคลแมกซ์ที่ฐานของ ดร. โน ระเบิด[15] ด้วยทุนสร้างที่ต่ำ ทำให้มีการจ้างทีมงานตำแหน่งตัดต่อเสียงเพียงแค่คนเดียว (ปกติจะมีสองคน โดยทำเสียงประกอบคนหนึ่งและบทพูดอีกคนหนึ่ง)[16] และฉากต่าง ๆ ถูกสร้างด้วยวิธีการที่มีราคาถูก เช่น ห้องทำงานของเอ็มสร้างด้วยกระดาษแข็งทาสีและประตูถูกปิดทับด้วยพลาสติกที่คล้ายหนัง ห้องที่เดนต์พบกับดร. โน ใช้ทุนสร้างแค่ 745 ปอนด์[17] และอะควาเรียมในฐานของดร. โน เป็นการขยายภาพที่มีอยู่แล้วของโหลปลาทอง[18] นอกจากนี้ เมื่อ ซิด เคน ซึ่งเป็นผู้กำกับศิลป์พบว่าชื่อของเขาไม่ได้อยู่ในเครดิต บรอคโคลีมอบปากกาทองคำให้กับเขาเพื่อเป็นการชดเชย บรอคโคลีบอกว่าเขาไม่ต้องการใช้เงินสร้างเครดิตอีกครั้ง[19] ต่อมา ผู้ออกแบบงานสร้าง เคน แอดัม ได้กล่าวในหนังสือพิมพ์รายวันอังกฤษ เดอะการ์เดียน ในปี ค.ศ. 2005 ว่า

ทุนสร้างสำหรับการสร้างภาพยนตร์ พยัคฆ์ร้าย 007 ทั้งหมดนั้นต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทุนของผมคือ 14,500 ปอนด์ ผมสร้างสามฉากที่พร้อมถ่ายทำในไพน์วูด ขณะที่พวกเขากำลังถ่ายทำที่จาเมกา อะควาเรียมในห้องของดร. โน นั้นมันไม่ใช่อะควาเรียมจริง ๆ มันแย่มากที่จะบอกความจริงกับคุณเพราะเรามีเงินน้อยมาก เราตัดสินใจที่จะใช้การฉายภาพพื้นหลังและหาภาพของปลามาใส่ สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือเพราะเราไม่มีเงินมากพอ ทำให้สามารถซื้อได้แค่ภาพปลาขนาดเท่าปลาทอง ดังนั้นเราจึงต้องขยายขนาดและใส่บทสนทนาที่บอนด์พูดถึงเกี่ยวกับการขยาย ผมไม่เห็นเหตุผลใด ๆ ที่ดร. โน ควรมีรสนิยมที่ดี ดังนั้นเราจึงผสมเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัยและของเก่าเข้าด้วยกัน เราคิดว่ามันคงจะตลกสำหรับเขาที่จะมีงานศิลปะที่ถูกขโมย ดังนั้นเราจึงใช้ภาพ ภาพบุคคลของดยุคแห่งเวลลิงตัน ของ โกยา ซึ่งหายไปในขณะนั้น ผมได้รับภาพนิ่งจากหอศิลป์แห่งชาติ ซึ่งเป็นวันศุกร์ การถ่ายทำเริ่มในวันจันทร์และผมก็วาดภาพของโกยาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ มันค่อนข้างดีจึงทำให้พวกเขาจึงนำใช้ในการประชาสัมพันธ์ แต่เช่นเดียวกับของจริงมันถูกขโมยในขณะที่จัดแสดงอยู่[20]

การเขียนบท[แก้]

บรอคโคลีแต่เดิมจ้าง ริชาร์ด เมบอมและเพื่อนของเขา วูล์ฟ แมนโกวิซ เพื่อเขียนบทภาพยนตร์ พยัคฆ์ร้าย 007 ส่วนหนึ่งเพราะแมนโกวิซช่วยเจรจาข้อตกลงระหว่างบรอคโคลีกับซอลต์ซแมน[21] บทร่างแรกถูกปฏิเสธเพราะผู้เขียนบทเขียนให้ตัวร้าย ดร. โน กลายเป็นลิง[22][23] แมนโกวิซลาออกจากภาพยนตร์และเมบอมทำหน้าที่เขียนบทรูปแบบที่สอง ซึ่งมีความใกล้เคียงกับนวนิยาย ในที่สุดแมนโกวิซขอให้ถูกลบชื่อของเขาออกจากเครดิตเพราะเขากลัวว่ามันจะกลายเป็นหายนะ[9] โจฮันนา ฮาร์วูดและเบอร์คีลี แมทเทอร์ เข้ามาทำงานกับบทของเมบอม[24] เทอเรนซ์ ยัง อธิบายฮาร์วูดว่าเป็น คนแก้ไขบท ช่วยเพิ่มองค์ประกอบให้สอดคล้องกับตัวละครชาวอังกฤษ[15] ฮาร์วูดกล่าวในบทสัมภาษณ์พิเศษของ ซีนีมาเรโทร เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ว่าเธอเคยเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ในหลายโครงการของแฮร์รี ซอลต์ซแมน เธอบอกว่าบทภาพยนตร์ของเธอใน พยัคฆ์ร้าย 007 และ เพชฌฆาต 007 มีความใกล้เคียงกับนวนิยายของเฟลมมิง[25]

ในช่วงประวัติศาสตร์ที่ยาวนานหลายทศวรรษของภาพยนตร์ชุด มีภาพยนตร์บอนด์เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ซื่อสัตย์ต่อนวนิยาย พยัคฆ์ร้าย 007 มีองค์ประกอบหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับในนวนิยาย เช่น การเดินเรื่องตามนวนิยาย แต่ก็มีสิ่งที่ขาดหายไปซึ่งสังเกตเห็นได้ชัด องค์ประกอบสำคัญจากนวนิยายที่ขาดหายไปจากภาพยนตร์ เช่น บอนด์ต่อสู้กับหมึกยักษ์และหนีจากฐานของดร. โนโดยใช้รถบักกีวิ่งบนบึงที่ปลอมตัวเป็นมังกร การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบจากนวนิยายที่สังเกตเห็นได้ชัดจากภาพยนตร์ ได้แก่ การใช้แมงมุมทารันทูล่า (ไม่มีพิษ) แทนที่จะเป็นตะขาบ ฐานลับของดร.โน ภายนอกนั้นเป็นเหมืองแร่อะลูมิเนียมแทนที่จะเป็นเหมืองปุ๋ยขี้นก แผนการของดร. โนที่จะขัดขวางการปล่อยจรวดของนาซาจากแหลมคะแนเวอรัลโดยใช้สัญญาณวิทยุรบกวนแทนที่จะเป็นการขัดขวางการทดสอบขีปนาวุธของสหรัฐฯบนเกาะเติกส์ วิธีการการเสียชีวิตของดร. โนคือตกลงไปในน้ำหล่อเย็นของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีความร้อนสูงเกินไปแทนที่จะเป็นการถูกฝังโดยปล่องทิ้งปุ๋ยขี้นกและการแนะนำองค์กรสเปกเตอร์ ซึ่งไม่ได้แนะนำในนวนิยาย[23] องค์ประกอบที่ขาดหายไปจากนวนิยาย แต่เพิ่มเข้าไปในภาพยนตร์ ได้แก่ การแนะนำตัวละครบอนด์ในคาสิโน, การแนะนำตัว ซิลเวีย เทรนช์ แฟนสาวกึ่งประจำของบอนด์, ฉากต่อสู้กับคนขับรถฝ่ายศัตรู, ฉากต่อสู้เพื่อแนะนำตัวควอเรล, การล่อลวงนาวสาวทาโร, แนะนำตัว ฟีลิกซ์ ไลเทอร์ เจ้าหน้าที่ซีไอเอซึ่งเป็นพันธมิตรกับบอนด์, ศาสตราจารย์ เด็นต์ ผู้ร่วมก่ออาชญากรรมของดร. โนและการฆ่าอย่างเลือดเย็นของตัวละครบอนด์ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์[23]

บางครั้งเนื้อหาในนวนิยายก็ยังคงมีอยู่ในการเล่าเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปของภาพยนตร์ ซึ่งมีองค์ประกอบของความไม่สมเหตุสมผลในเนื้อเรื่อง อย่างการ "หนี" ของบอนด์ออกจากห้องขังของเขาผ่านช่องระบายอากาศ แต่เดิมเป็นแผนของ ดร. โน ที่ต้องการจะทดสอบทักษะและความอดทนของบอนด์ กลายเป็นการหนีจริงในภาพยนตร์ คุณสมบัตินี้นำมาจากด่านอุปสรรคในนวนิยาย อย่างไรก็ตาม เช่น กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากหรือพื้นผิวที่ร้อนจัด ไม่มีเหตุผลที่สมเหตุสมผลในบทภาพยนตร์ ความไม่สอดคล้องกันนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในภาพยนตร์บอนด์เรื่องต่อ ๆ มา[23]

การคัดเลือกนักแสดง[แก้]

เจมส์ บอนด์[แก้]

ขณะที่ผู้อำนวยการสร้าง บรอคโคลีกับซอลต์ซแมน แต่เดิมต้องการให้ แครี แกรนต์ รับบทเจมส์ บอนด์ แต่แกรนต์ตั้งใจจะแสดงแค่ภาพยนตร์เรื่องเดียวเท่านั้น ทำให้ผู้อำนวยการสร้างตัดใจสินใจค้นหาคนอื่นที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ชุด[9][26] ริชาร์ด จอห์นสัน อ้างว่าเขาเป็นตัวเลือกแรกของผู้กำกับ แต่เขาปฏิเสธเพราะว่าเขามีสัญญากับเอ็มจีเอ็มและไม่ต้องการรับบทอยู่แล้ว[27] นักแสดงอีกคนซึ่งอ้างว่าได้รับการพิจารณาสำหรับบทบอนด์คือ แพทริก แมกกูเวน เขาเคยแสดงเป็นสายลับ จอห์น เดรก จากละครโทรทัศน์เรื่อง เดนเจอร์แมน แต่แมกกูเวนก็ปฏิเสธบทบอนด์[28] นักแสดงอีกคนหนึ่งซึ่งมีความเป็นไปได้ก็คือ เดวิด นิเวน ซึ่งต่อมาเขาได้แสดงเป็น เจมส์ บอนด์ ในภาพยนตร์ตลกล้อเลียน ทีเด็ดเจมส์บอนด์ 007 ในปี ค.ศ. 1967[29]

มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับนักแสดงที่เอียน เฟลมมิงต้องการเป็นการส่วนตัว มีรายงานว่า เฟลมมิงนั้นชื่นชอบนักแสดง ริชาร์ด ท็อดด์[30] คับบี บรอกโคลีกล่าวในอัตชีวประวัติของเขา เวนเดอะสโนว์เมลต์ส ว่า โรเจอร์ มัวร์ ได้รับการพิจารณา แต่เขาคิดว่า "ยังหนุ่มเกินไป อาจจะเป็นเพราะหน้าตาของเขาน่ารักเกินไป"[31] ในอัตชีวประวัติของมัวร์ มายเวิร์ดอิสมายบอนด์ มัวร์กล่าวว่าเขาไม่เคยถูกทาบทามให้เล่นบทของบอนด์จนกระทั่งในปี 1973 ในภาพยนตร์ พยัคฆ์มฤตยู 007[32] มัวร์แสดงเป็น ไซมอน เทมพลาร์ ในละครโทรทัศน์ เดอะเซนต์ ออกอากาศในสหราชอาณาจักรครั้งแรกในวันที่ 4 ตุลาคม 1962 ก่อนการฉายรอบปฐมทัศน์ของ พยัคฆ์ร้าย 007 แค่วันเดียว[33]

ในที่สุด ผู้อำนวยการสร้างก็หันกลับไปเลือก ฌอน คอนเนอรี อายุ 32 ปี เพื่อแสดงในภาพยนตร์บอนด์จำนวนห้าเรื่อง[9] มีการรายงานบ่อยครั้งว่าคอนเนอรีได้รับบทผ่านการประกวดที่จัดขึ้นเพื่อ "ค้นหา เจมส์ บอนด์" แม้ว่าจะไม่เป็นความจริง แต่การแข่งขันก็ยังคงมีอยู่และผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายหกคนได้รับเลือกและทดสอบหน้ากล้องโดย บรอกโคลี, ซอลต์ซแมนและเฟลมมิง ผู้ชนะเลิศการประกวดคือ ปีเตอร์ แอนโทนี นายแบบอายุ 28 ปี บรอกโคลีกล่าวว่า เขามีคุณภาพแบบเดียวกับ เกรกอรี แพก แต่พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถรับมือกับบทบาทนี้ได้[34] เมื่อคอนเนอรีถูกชักชวนให้ไปพบกับบรอกโคลีและซอลต์ซแมน เขาดูสกปรกและสวมเสื้อผ้าที่ไม่ได้รีด แต่คอนเนอรี "ลงมือแสดงและทำออกมาได้ดี" ในขณะที่เขาแสดงเป็นผู้ชายที่มีลักษณะไม่ใส่ใจ[35] เมื่อเขาออกไป บรอกโคลีและซอลต์ซแมนมองดูเขาผ่านทางหน้าต่างในขณะที่เขากำลังไปที่รถของเขา ทั้งคู่เห็นด้วยว่าเขาคือคนที่ใช่สำหรับบทบอนด์[36] หลังคอนเนอรีได้รับเลือก เทอเรนซ์ ยัง พานักแสดงไปหาช่างตัดเสื้อและช่างทำผมของเขา[37] และแนะนำให้เขารู้จักกับชีวิตชนชั้นสูง, ภัตตาคาร, คาสิโนและผู้หญิงของลอนดอน เรย์มอนด์ เบนสัน ผู้เขียนนวนิยายบอนด์กล่าวว่า เทอเรนซ์ ยังสอนนักแสดง "ในแบบของการเป็นคนเก่งมีไหวพริบ, และเหนือสิ่งอื่นใด, เท่"[38] การคัดเลือกนักแสดงได้ประกาศเมื่อวันที่ 31 พฤศจิกายน ค.ศ. 1961[6]

นักแสดงรอง[แก้]

สำหรับบทบาทสาวบอนด์คนแรก (ฮันนี ไรเดอร์) นั้น นักแสดง จูลี คริสตี ได้รับการพิจารณา แต่ก็ถูกคัดออก เนื่องจากผู้สร้างรู้สึกว่า เธอนั้นไม่ยั่วยวนพอ[39] ก่อนการถ่ายทำจะเริ่มต้นในอีกสองสัปดาห์ เออร์ซูลา แอนเดรส ได้รับคัดเลือกให้แสดงเป็นฮันนี หลังผู้สร้างเห็นรูปถ่ายของเธอ ถ่ายโดย จอห์น เดเรก สามีของเธอในเวลานั้น แอนเดรสถูกทาผิวด้วยสีแทน เพื่อให้ดูเหมือนชาวจาเมกา บทพูดของเธอถูกพากย์เสียงทับโดย นักพากย์หญิง นิกกี ฟาน เดอ ซิล เนื่องจากแอนเดรสมีสำเนียงสวิส-เยอรมันชัดเกินไป[9] สำหรับศัตรูของบอนด์ ดร. โน, เอียน เฟลมมิงต้องการให้เพื่อนของเขา โนเอล คาเวิร์ด มาแสดงเป็นตัวละครดังกล่าว แต่คาเวิร์ดตอบรับคำเชิญด้วยคำว่า "ไม่! ไม่! ไม่!" ("No! No! No!")[40] เฟลมมิงพิจารณาลูกพี่ลูกน้องของเขา คริสโตเฟอร์ ลี ซึ่งคิดว่าน่าจะเหมาะกับบทบาทของ ดร. โน แม้ว่าเฟลมมิงจะบอกกับผู้สร้างเรื่องนี้ แต่พวกเขาได้เลือก โจเซฟ ไวส์แมน สำหรับบทบาทนี้แล้ว[41] แฮรรี ซอลต์ซแมน เลือกไวส์แมน เพราะการแสดงของเขาในภาพยนตร์เรื่อง ดีเทกทีฟสตอรี ในปี ค.ศ. 1951[42] และนักแสดงได้รับการแต่งหน้าพิเศษ เพื่อให้เหมือนกับชาวจีน[9] นักแสดงชาวสวีเดน แมกซ์ ฟอน ซีโดว ได้รับการเสนอให้บทบาทของ ดร. โน แต่เขาปฏิเสธ ต่อมา เขาแสดงเป็น เอิร์นส์ สตาฟโร โบลเฟลด์ ในภาพยนตร์บอนด์อย่างไม่เป็นทางการเรื่อง พยัคฆ์เหนือพยัคฆ์[43]

บทบาทแรกของ ฟีลิกซ์ ไลเทอร์ คนแรก นั้นได้มอบให้กับ แจ็ค ลอร์ด โดยเป็นการพบกันครั้งแรกของบอนด์กับไลเทอร์ในภาพยนตร์และไลเทอร์ไม่ได้ปรากฏตัวในนวนิยาย ไลเทอร์เป็นตัวละครประจำที่มักจะกลับมาปรากฏตัวในภาพยนตร์บอนด์หลายเรื่องถัดมา จนกระทั่ง 007 พยัคฆ์ร้ายเดิมพันระห่ำโลก ภาพยนตร์รีบูตในปี ค.ศ. 2006 บอนด์กับไลเทอร์ได้พบกันอีกครั้งเป็นครั้งแรก ลอร์ดปรากฏตัวเป็นไลเทอร์แค่ครั้งเดียว เนื่องจากเขาขอค่าตัวเพิ่มมากขึ้นและขอมีชื่ออยู่บนใบปิดภาพยนตร์ในลำดับที่ดีกว่า สำหรับการกลับมาแสดงเป็นไลเทอร์ใน จอมมฤตยู 007 ทำให้เข้าถูกแทนที่โดยคนอื่น[44]

มีนักแสดงหลายคนกลายเป็นนักแสดงที่กลับมารับบทบาทเดิมในภาพยนตร์บอนด์ในอนาคต ได้แก่ เบอร์นาร์ด ลี แสดงเป็น เอ็ม หัวหน้าของบอนด์ ในภาพยนตร์บอนด์อีกสิบเรื่อง, ลอยส์ แม็กซ์เวลล์ แสดงเป็น มันนีเพนนี เลขานุการของเอ็มในภาพยนตร์บอนด์สิบสี่เรื่อง[45] ลีได้รับเลือกเพราะเป็น "พ่อต้นแบบ"[46] และแม็กซ์เวลล์ได้รับเลือก หลังจากที่เฟลมมิงคิดว่าเธอเหมาะกับลักษณะตัวละครของเขา[47] ในตอนแรกแม็กซ์เวลล์ได้รับข้อเสนอให้เลือกระหว่าง บทบาทของ มันนีเพนนีหรือซิลเวีย เทรนช์ และเธอเลือกมันนีเพนนี โดยเธอคิดว่าบทบาทของเทรนช์มีเรื่องทางเพศมากเกินไป รวมไปถึงการแต่งตัวที่ไม่สุภาพ[48][49] ยูนิซ เกย์สัน ได้รับเลือกแสดงเป็น ซิลเวีย เทรนช์ และได้วางแผนไว้ว่าเธอจะเป็นแฟนสาวของบอนด์ ที่จะปรากฏตัวเป็นตัวละครประจำในในภาพยนตร์บอนด์หกเรื่อง[37] อย่างไรก็ตาม เธอปรากฏตัวแค่ใน พยัคฆ์ร้าย 007 และ เพชฌฆาต 007 เท่านั้น เธอได้รับเลือกและชักชวนโดยผู้กำกับ เทอเรนซ์ ยัง ซึ่งเคยร่วมงานกับเธอในเรื่อง ซารัก โดยเขาบอกว่า "คุณมักจะนำโชคมาให้ผมในภาพยนตร์ของผม",[50] แม้ว่าเธอจะได้รับเลือกเพราะรูปร่างที่ยั่วยวนของเธอก็ตาม นักแสดงที่ไม่ได้กลายเป็นนักแสดงประจำที่จะกลับมาในอนาคตรับบทเดิมก็คือ ปีเตอร์ เบอร์ตัน ผู้รับบทเป็น พันตรีบูทรอยด์ หัวหน้าของแผนกคิว ซึ่งกลายเป็นตัวละครประจำที่จะปรากฏตัวในภาพยนตร์บอนด์ในอนาคต เพราะเบอร์ตันไม่ว่างที่จะกลับมารับบทเดิมใน เพชฌฆาต 007 ภาพยนตร์บอนด์เรื่องถัดไป เดสมอนด์ เลเวลีน จึงรับบทนี้แทน[51]

แอนโทนี ดอว์สัน ผู้ที่แสดงเป็น ศาสตราจารย์เดนต์ เคยพบกับผู้กำกับ เทอเรนซ์ ยัง เมื่อเขาทำงานเป็นนักแสดงละครเวทีในลอนดอน แต่เมื่อตอนที่ภาพยนตร์กำลังถ่ายทำ ดอว์สันทำงานเป็นนักบินเครื่องบินพ่นยาฆ่าแมลงในจาเมกา[15] ดอว์สันยังได้แสดงเป็น เอิร์นส์ สตาฟโร โบลเฟลด์ หัวหน้าสเปกเตอร์ใน เพชฌฆาต 007 และ ธันเดอร์บอลล์ 007 ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นหน้าของเขาและเสียงของเขาถูกพากย์ทับโดย เอริก โพห์ลมันน์ นักแสดงชาวออสเตรีย[52][53] เซนา มาร์เชลล์ ผู้ที่แสดงเป็น นางสาว ทาโร สนใจบทบาทนี้เพราะองค์ประกอบอารมณ์ขันของบทภาพยนตร์[54] และอธิบายบทของเธอว่าเป็น "ไซเรนตัวน้อยที่น่าดึงดูดใจนี้, และในขณะเดียวกันฉันก็เป็นสายลับ, นางร้าย"[55] โดยผู้กำกับ เทอเรนซ์ ยัง ของให้เธอเล่น "ไม่ใช่คนจีน แต่เป็นผู้หญิงแอตแลนติกตอนกลาง ที่ผู้ชายฝันถึงแต่ไม่มีอยู่จริง"[56] ก่อนหน้านี้ บทบาทดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจาก มาร์เกอริต เลอวอร์ส นางสาวจาเมกา ค.ศ. 1961 ซึ่งทำงานอยู่ที่สนามบินคิงสตัน เนื่องจากบทบาทดังกล่าวต้อง "พันผ้าขนหนู, นอนอยู่บนเตียง, จูบกับคนแปลกหน้า" ตาลิตา โพล, ลินา มาร์โกและไวโอเลต มาร์โซ ก็ได้รับการพิจารณาสำหรับบทบาทนี้เช่นกัน[6]

การถ่ายทำ[แก้]

รังของ ดร. โน คือบอกไซต์เทอร์มินัลใกล้กับเมืองโอราคาเบสซา ประเทศจาเมกา

พยัคฆ์ร้าย 007 ดำเนินเรื่องในลอนดอน, จาเมกาและแครบคีย์ เกาะสมมตินอกชายฝั่งจาเมกา[57] การถ่ายทำเริ่มต้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1962 ที่สนามบินพาลิเซดส์ในคิงส์ตัน, จาเมกา[6] ฉากหลักของภาพยนตร์ได้แก่ ฉากภายนอกของแครบคีย์และคิงส์ตัน โดยมี ซิด เคน ทำหน้าที่เป็น ผู้กำกับศิลป์ ซึ่งเขาไม่มีชื่ออยู่ในเครดิตและเขายังเป็นคนออกแบบรถถังมังกร[58] การถ่ายทำเกิดขึ้นเพียงไม่กี่หลาจากคฤหาสน์โกลเดนอายของเอียน เฟลมมิงและเขาไปเยี่ยมการถ่ายทำกับเพื่อนเป็นประจำ[59] สถานที่ถ่ายทำส่วนใหญ่คือภายในเมืองโอราคาเบสซา พร้อมกับฉากเพิ่มเติมในแถบปาลิซาโดส์และพอร์ตรอยัลในเซนต์แอนดรูว์[60] ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ กองถ่ายออกจากจาเมกาโดยที่ฟุตเทจยังไม่ได้ถ่ายทำเนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง[15] ห้าวันต่อมา การถ่ายทำเริ่มขึ้นที่ ไพน์วูดสตูดิโอส์, บักกิงแฮมเชอร์, ประเทศอังกฤษ ออกแบบฉากโดย เคน แอดัม ซึ่งรวมถึงฐานของ ดร. โน, ท่อระบายอากาศและฉากภายในของสำนักงานใหญ่หน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ สตูดิโอนี้ถูกใช้ในภาพยนตร์บอนด์ส่วนใหญ่ในเวลาต่อมา[9] ทุนสร้างเริ่มต้นของแอดัมสำหรับภาพยนตร์ทั้งหมดอยู่ที่ 14,500 ปอนด์ (329,095 ปอนด์ ใน ค.ศ. 2021[61]), แต่ผู้อำนวยการสร้างเชื่อมั่นและให้เงินแอดัมเพิ่มอีก 6,000 ปอนด์จากการเงินของพวกเขาเอง

ภาพยนตร์สิ้นสุดการถ่ายทำเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1962 ใช้เวลาถ่ายทำทั้งหมด 58 วัน[62] ไบรอัน เทรนชาร์ด-สมิธ ผู้สร้างภาพยนตร์ ได้ไปเยี่ยมไพน์วูดกับสมาคมภาพยนตร์วิทยาลัยเวลลิงตันของเขาระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ ระบุว่าฉากที่บอนด์ตื่นขึ้นมาและพบฮันนีเป็นครั้งแรกเป็นฉากที่ถ่ายทำในพื้นที่ยาวสิบฟุตบนซาวน์สเตจที่ว่างเปล่า และฉากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูของอดัมนั้น "เล็กกว่าที่เห็นในจอมาก นั่นทำให้ผมมองเห็นพลังของเลนส์เมื่อได้ดูภาพยนตร์ที่สร้างเสร็จแล้วในอีกหนึ่งปีต่อมา"[63] เทสซา เพรนเดอร์กัสท์ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ออกแบบบิกินี่ของฮันนีจากสายรัดเข็มขัดของกองทัพบกสหราชอาณาจักร[6]

ฉากที่ทารันทูลาเดินผ่านบอนด์นั้นในตอนแรกถ่ายทำด้วยการตรึงเตียงไว้กับผนังแล้วให้ ฌอน คอนเนอรี ยืนพิงไว้ โดยมีกระจกป้องกันกั้นระหว่างเขากับแมงมุม เทอเรนซ์ ยัง ผู้กำกับไม่ชอบผลลัพธ์สุดท้าย ฉากดังกล่าวจึงถูกแทรกด้วยฟุตเทจใหม่ที่มีทารันทูลาเหนือ บ็อบ ซิมมอนส์[15] ซิมมอนส์ซึ่งไม่มีชื่อในเครดิตของภาพยนตร์ อธิบายว่าฉากนี้เป็นการแสดงผาดโผนที่น่ากลัวที่สุดเท่าที่เขาเคยแสดงมา[64] มีฉากหนึ่งที่ฮันนีถูกมัดไว้กับพื้นและปล่อยทิ้งไว้ให้ถูกปูโจมตี ซึ่งสอดคล้องกับในหนังสือ แต่เนื่องจากปูถูกส่งมาแช่แข็งจากทะเลแคริบเบียน พวกมันจึงเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยระหว่างการถ่ายทำ ฉากนี้จึงถูกเปลี่ยนให้มีฮันนีอย่างช้า ๆ จมน้ำแทน[9] ซิมมอนส์ยังทำหน้าที่เป็นนักออกแบบการต่อสู้ของภาพยนตร์ โดยใช้สไตล์การต่อสู้ที่รุนแรง ความรุนแรงของ พยัคฆ์ร้าย 007 ซึ่งรวมถึงการยิงเดนต์ของบอนด์อย่างเลือดเย็นทำให้ผู้อำนวยการสร้างต้องดัดแปลงเพื่อให้ได้มาซึ่ง ระดับ "A" จากคณะกรรมการจัดประเภทภาพยนตร์แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นระดับที่อนุญาตให้ผู้เยาว์เข้ามาพร้อมกับผู้ใหญ่[65]

เมื่อบอนด์กำลังจะไปทานอาหารเย็นกับดร. โน เขาประหลาดใจที่เห็น ภาพบุคคลของดยุคแห่งเวลลิงตัน ของโกยา ภาพวาดดังกล่าวถูกขโมยไปจากหอศิลป์แห่งชาติ โดยหัวขโมยมือสมัครเล่นวัย 60 ปีในลอนดอน ก่อนที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น[66] เคน อดัม ได้ติดต่อหอศิลป์แห่งชาติในลอนดอนเพื่อภาพนิ่งของรูปภาพ โดยวาดภาพสำเนาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ก่อนที่จะเริ่มถ่ายทำในวันจันทร์ถัดมา[18]

ปีเตอร์ อาร์. ฮันต์ ผู้ตัดต่อภาพยนตร์ ใช้เทคนิคการตัดต่อที่เป็นนวัตกรรมใหม่ โดยใช้การตัดอย่างรวดเร็วและใช้การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและเอฟเฟกต์เสียงที่เกินจริงในฉากโลดโผน[67] ฮันต์กล่าวว่าความตั้งใจของเขาคือ "เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและผลักดันมันไปตลอดเวลา ในขณะที่ให้สไตล์ที่แน่นอน"[68] และเสริมว่าการดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็วจะช่วยให้ผู้ชมไม่สังเกตเห็นปัญหาในบทภาพยนตร์[15] ในฐานะศิลปินชื่อเรื่อง มอริซ บินเดอร์ กำลังสร้างเครดิต เขามีแนวคิดสำหรับบทนำที่ปรากฏในภาพยนตร์บอนด์เรื่องต่อ ๆ มาทั้งหมด นั่นคือ ฉากเจมส์ บอนด์ในลำกล้องปืน ฉากนี้ถ่ายทำในซีเปียโดยใส่กล้องรูเข็มไว้ในกระบอกปืนขนาด .38 โดยมีบ็อบ ซิมมอนส์เล่นเป็นบอนด์[9] นอกจากนี้บินเดอร์ยังออกแบบฉากชื่อเรื่องหลักที่มีสไตล์อย่างมาก ซึ่งเป็นธีมที่ใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกในภาพยนตร์บอนด์ที่สร้างโดยอีออนในเวลาต่อมา[69] ทุนสร้างของบินเดอร์สำหรับฉากชื่อเรื่องหลักคือ 2,000 ปอนด์ (45,392 ปอนด์ ใน ค.ศ. 2021[61])[70]

ดนตรีประกอบ[แก้]

มอนตี นอร์แมน ได้รับคำเชิญจากบรอคโคลีให้มาแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ เนื่องจากบรอคโคลีชื่นชอบงานละครเวทีของเขา ที่มีชื่อเรื่องว่า เบลล์ (อังกฤษ: Belle) ในปี ค.ศ. 1961 ละครเวทีเพลงเกี่ยวกับฆาตกร ฮอว์ลี ฮาร์วี คริปเปน[71] นอร์แมนกำลังยุ่งอยู่กับละครเวทีและตกลงจะทำดนตรีให้ พยัคฆ์ร้าย 007 หลังซอลต์ซแมนอนุญาตให้เขาเดินทางไปกับทีมงานที่จาเมกาด้วย[72] ดนตรีประกอบที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ เจมส์ บอนด์ ธีม ซึ่งเล่นในระหว่างฉากในลำกล้องปืนและฉากแสดงชื่อเรื่องและเครดิต ซึ่งแต่งโดยนอร์แมน เอามาจากส่วนประกอบของผลงานก่อนหน้านี้ของเขา จอห์น แบร์รี ซึ่งต่อมาได้แต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์บอนด์สิบเอ็ดเรื่อง เป็นคนเรียบเรียงบอนด์ธีมแต่ว่าไม่มีชื่อในเครดิต—ยกเว้นวงออเคสตราของเขาที่มีชื่อ มีการเสนอเป็นครั้งคราวว่าแบร์รีเป็นคนแต่ง เจมส์ บอนด์ ธีม ไม่ใช่นอร์แมน เรื่องนี้ทำให้ต้องมีการขึ้นศาลถึงสองครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2001 ซึ่งนอร์แมนเป็นผู้ชนะคดี[73] ธีมที่แต่งโดยนอร์แมนและเรียบเรียงโดยแบร์รี ได้รับการอธิบายโดย เดวิด อาร์โนลด์ นักแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์บอนด์อีกคนหนึ่งว่าเป็น "มีกลิ่นอายของบีบอบ-สวิง ควบคู่ไปกับกีตาร์ไฟฟ้าที่ดูร้าย, มืดมน, เสียงแตกของกีตาร์ไฟฟ้า, แน่นอนว่ามันเครื่องดนตรีของร็อกแอนด์โรล... มันเป็นตัวแทนของทุกอย่างเกี่ยวกับตัวละครที่คุณต้องการ: มันเป็นความโอ้อวด, เย่อหยิ่ง, มั่นใจ, มืดมน, อันตราย, ทะลึ่ง, เซ็กซี, หยุดไม่ได้ และเขาทำได้ในสองนาที"[74]

เพลงในฉากเปิดเรื่องเป็นเพลงกล่อมเด็ก "หนูตาบอดสามตัว" เวอร์ชันคาลิปโซ พร้อมเนื้อเพลงใหม่เพื่อสะท้อนถึงความตั้งใจของนักฆ่าสามคนที่ได้รับการว่าจ้างจากดร. โน[71] เพลงเด่นอื่น ๆ ของภาพยนตร์ได้แก่ "จัมป์อัพ"[75] เล่นอยู่ในฉากหลังและเพลงคาลิปโซจาเมกาดั้งเดิม "อันเดอร์เดอะแมงโกทรี" ซึ่งร้องโดย ไดอานา คูปแลนด์ (ภรรยาของนอร์แมนในขณะนั้น) และเป็นเสียงร้องเพลงของ ฮันนี ไรเดอร์ ขณะที่เธอเดินขึ้นจากมหาสมุทรบนแครบคีย์[71] ไบรอน ลีแอนด์เดอะดรากอนแนร์ส์ ปรากฏตัวในภาพยนตร์ขณะที่กำลังเล่นเพลง "จัมป์อัพ" และยังได้แสดงบางเพลงในอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์[75] ลีและนักดนตรีจาเมกาคนอื่น ๆ ที่ปรากฏในเพลงประกอบภาพยนตร์ รวมทั้ง เออร์เนสต์ แรงลินและคาร์ลอส มัลคอล์ม ได้รับการแนะนำให้นอร์แมนรู้จักโดย คริส แบล็กเวลล์ เจ้าของค่ายเพลงเล็ก ๆ ในตอนนั้น ไอแลนด์เรเคิดส์ ซึ่งทำงานกับภาพยนตร์เป็นผู้ค้นหาสถานที่ถ่ายทำ[72][76] อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์วางจำหน่ายโดย ยูไนเต็ดอาร์ติสท์เรเคิดส์ ใน ค.ศ. 1963 เช่นเดียวกับเพลงเวอร์ชันคัพเวอร์ของ "เจมส์ บอนด์ ธีม" อีกมากมายโดย โคลัมเบียเรเคิดส์[77] ซิงเกิลของ "เจมส์ บอนด์ ธีม" เข้าสู่ชาร์ตซิงเกิลของสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1962 โดยขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดที่อันดับที่ 13 ในช่วงระยะเวลา 11 สัปดาห์ในชาร์ต[78] แรงลินซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นผู้เรียบเรียงเพลงหลายเพลงและมัลคอล์มฟ้องอีออนสำหรับค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระ ทั้งคู่ตกลงกันได้โดยไม่ต้องขึ้นศาล[76] มัลคอล์มและวงดนตรีของเขาได้แสดงในอีกหนึ่งปีต่อมาในรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์ที่คิงส์ตัน[76]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Dr. No". Lumiere. European Audiovisual Observatory. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 September 2020. สืบค้นเมื่อ 9 October 2020.
  2. "AFI|Catalog".
  3. "Spies". Mark Kermode's Secrets of Cinema. Series 2. ตอน 3. 2 April 2020. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ 13:26. BBC. BBC Four. สืบค้นเมื่อ 3 April 2020.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Dr. No (1962) – Cast". Screenonline. British Film Institute. สืบค้นเมื่อ 9 June 2011.
  5. "Actress Diana Coupland dies at 74". BBC News. 10 November 2006. สืบค้นเมื่อ 7 June 2011.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Field, Matthew (2015). Some kind of hero : 007 : the remarkable story of the James Bond films. Ajay Chowdhury. Stroud, Gloucestershire. ISBN 978-0-7509-6421-0. OCLC 930556527.
  7. Field, Matthew (2015). Some kind of hero : 007 : the remarkable story of the James Bond films. Ajay Chowdhury. Stroud, Gloucestershire. ISBN 978-0-7509-6421-0. OCLC 930556527.
  8. Pfeiffer & Worrall 1998, p. 13.
  9. 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 "Inside Dr. No Documentary". Dr. No (Ultimate Edition, 2006) (DVD). MGM Home Entertainment. 1999.
  10. Parkinson, David (Jan 2011). "Broccoli, Albert Romolo (1909–1996)". Oxford Dictionary of National Biography. Oxford: Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/63151. สืบค้นเมื่อ 1 December 2012. (ต้องสมัครสมาชิก)
  11. Cork & Scivally 2002, p. 29.
  12. Dodds, Klaus (2005). "Screening Geopolitics: James Bond and the Early Cold War films (1962–1967)". Geopolitics. 10 (2): 266–289. doi:10.1080/14650040590946584. S2CID 144363319.
  13. Rigby, Jonathan. "Interview with Val Guest". NFT Interviews. British Film Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 June 2011. สืบค้นเมื่อ 7 June 2011.
  14. Young, Terence (1999). Audio commentary (DVD). Dr. No (Ultimate Edition, 2006): MGM Home Entertainment.{{cite AV media}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 Cork, John (1999). "Audio commentary". Dr. No (Ultimate Edition, 2006) (DVD). MGM Home Entertainment.
  16. Wanstall, Norman (1999). Audio commentary (DVD). Dr. No (Ultimate Edition, 2006): MGM Home Entertainment.{{cite AV media}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  17. Adam, Ken (1999). Audio commentary (DVD). Dr. No (Ultimate Edition, 2006): MGM Home Entertainment.{{cite AV media}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  18. 18.0 18.1 Dee, Johnny (17 September 2005). "Licensed to drill". The Guardian. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 March 2016. สืบค้นเมื่อ 11 December 2016.
  19. Cain, Syd (1999). Audio commentary (DVD). From Russia With Love (Ultimate Edition, 2006): MGM Home Entertainment.{{cite AV media}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  20. Dee, Johnny (17 September 2005). "Licensed to drill". The Guardian. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 March 2016. สืบค้นเมื่อ 10 March 2016.
  21. Broccoli 1998, p. 158.
  22. Broccoli 1998, p. 159.
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 Smith 2002, p. 19.
  24. McGilligan 1986, p. 286.
  25. Johanna Harwood Interview Movie Classics # 4 Solo Publishing 2012
  26. Holpuch, Amanda (October 5, 2012). "How Cary Grant Nearly Made Global James Bond Day an American Affair". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 17, 2016. สืบค้นเมื่อ August 24, 2018.
  27. "Richard Johnson Interview". Cinema Retro. สืบค้นเมื่อ 13 June 2011.
  28. Barker, Dennis (14 January 2009). "Obituary: Patrick McGoohan". The Guardian. London.
  29. Macintyre 2008, p. 202.
  30. "Richard Todd, Obituary". The Daily Telegraph. London. 4 December 2009. สืบค้นเมื่อ 8 June 2011.
  31. Broccoli 1998, p. 165.
  32. Moore 2008, p. 173.
  33. Clark, Anthony. "Saint, The (1962–69)". Screenonline. British Film Institute. สืบค้นเมื่อ 15 June 2011.
  34. Cork & Scivally 2002, p. 31.
  35. Bray 2010, p. 73.
  36. Bray 2010, p. 74.
  37. 37.0 37.1 Gayson, Eunice (1999). Audio commentary (DVD). Dr. No (Ultimate Edition, 2006): MGM Home Entertainment.{{cite AV media}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  38. Benson, Raymond. Can the Cinematic Bond Ever Be the Literary Bond?. p. 7.. In Yeffeth 2006.
  39. Lisanti & Paul 2002, p. 36.
  40. Pfeiffer & Worrall 1998, p. 16.
  41. "The Total Film Interview – Christopher Lee". Total Film. 1 May 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2007. สืบค้นเมื่อ 28 January 2014.
  42. "Joseph Wiseman: Actor of stage and screen who played the title role in the 1962 James Bond movie 'Dr. No'". The Independent. London. 27 October 2009.
  43. "Max von Sydow, star of The Exorcist and Game of Thrones, dies aged 90". The Telegraph. 9 March 2020. สืบค้นเมื่อ 8 April 2020.
  44. Goldberg, Lee (March 1983). "The Richard Maibaum Interview". Starlog (68): 26.
  45. "Lois Maxwell, 80, an Actress Who Played in 14 'Bond' Films, Dies". nytimes.com. The New York Times Company. สืบค้นเมื่อ 14 March 2020.
  46. Cork & Scivally 2002, p. 38.
  47. Rubin 2002, p. 272.
  48. Smith 2002, p. 15.
  49. Pfeiffer & Worrall 1998, p. 15.
  50. Cork & d'Abo 2003, p. 21.
  51. Simpson 2002, p. 83.
  52. Smith 2002, p. 30.
  53. "Thunderball (1965)". Screenonline. British Film Institute. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 May 2021. สืบค้นเมื่อ 16 June 2011.
  54. "Zena Marshall: actress in Dr No". The Times. London. 18 July 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 May 2010. สืบค้นเมื่อ 11 July 2011.
  55. "Spotlight - Zena Marshall". thebondbulletin.com. 10 May 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 July 2020. สืบค้นเมื่อ 14 March 2020.
  56. Marshall, Zena (1999). Audio commentary (DVD). Dr. No (Ultimate Edition, 2006): MGM Home Entertainment.{{cite AV media}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  57. Cork & Scivally 2002, p. 305.
  58. Cain 2005.
  59. Nathan, Ian (October 2008). "Unseen Bond". Empire: 97.
  60. Campbell, Howard (17 June 2012). "James Bond marathon begins with JA". The Jamaica Observer. Kingston. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 June 2012. สืบค้นเมื่อ 17 June 2012.
  61. 61.0 61.1 UK Retail Price Index inflation figures are based on data from Clark, Gregory (2017). "The Annual RPI and Average Earnings for Britain, 1209 to Present (New Series)". MeasuringWorth. สืบค้นเมื่อ December 2, 2021.
  62. Rubin 1981, p. 21.
  63. Trenchard-Smith, Brian (9 January 2014). "Dr. No". Trailers From Hell. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 November 2020. สืบค้นเมื่อ 23 November 2020.
  64. Pfeiffer & Worrall 1998, p. 17.
  65. "Dr. No rated A by the BBFC". British Board of Film Classification. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 August 2012. สืบค้นเมื่อ 9 June 2011.
  66. "Greatest heists in art history". BBC News. 23 August 2004. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 March 2007. สืบค้นเมื่อ 21 November 2007.
  67. Hunt, Peter R. (1999). Goldfinger audio commentary. MGM Home Entertainment. Goldfinger (Ultimate Edition, 2006), Disk 1
  68. "Interview with Peter R. Hunt". Retrovision. 1997. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 February 2009.
  69. Cork & Scivally 2002, p. 46.
  70. Kirkham, Pat (December 1995). "Dots and sickles". Sight and Sound. London. 5 (12): 10.
  71. 71.0 71.1 71.2 "The James Bond Theme History". Monty Norman official website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 March 2008. สืบค้นเมื่อ 28 March 2008.
  72. 72.0 72.1 Norman, Monty. Audio commentary (DVD). Dr. No (Ultimate Edition, 2006): MGM Home Entertainment.{{cite AV media}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  73. "Bond theme writer wins damages". BBC News. 19 March 2001. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 August 2007. สืบค้นเมื่อ 13 June 2011.
  74. Burlingame, Jon (3 November 2008). "Bond scores establish superspy template". Daily Variety. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 November 2012. สืบค้นเมื่อ 20 April 2020.
  75. 75.0 75.1 Smith 2002, p. 17.
  76. 76.0 76.1 76.2 Burlingame 2012, p. 10.
  77. "Music – Dr No". Mi6-HQ.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 March 2012. สืบค้นเมื่อ 15 June 2011.
  78. "John Barry Seven". Official UK Charts Archive. The Official UK Charts Company. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 October 2011. สืบค้นเมื่อ 30 June 2011.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]