พม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาณานิคมพม่า

Colony of Burma
မြန်မာကိုလိုနီ
ค.ศ. 1824–1942
ค.ศ. 1945–1948
บริติชเบอร์ม่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขียวเข้ม: พม่าส่วนใหญ่ที่ญี่ปุ่นปกครอง เทาอ่อน: ส่วนของอังกฤษที่ญี่ปุ่นยึดไม่ได้ เขียวอ่อน: ส่วนที่ถูกผนวกโดยประเทศไทย
บริติชเบอร์ม่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
เขียวเข้ม: พม่าส่วนใหญ่ที่ญี่ปุ่นปกครอง
เทาอ่อน: ส่วนของอังกฤษที่ญี่ปุ่นยึดไม่ได้
เขียวอ่อน: ส่วนที่ถูกผนวกโดยประเทศไทย
สถานะมณฑลของบริติชอินเดีย (1824–1942)
อาณานิคมของสหราชอาณาจักร (1948-1974)
เมืองหลวงเมาะลำเลิง (ค.ศ. 1826–1852) ย่างกุ้ง (ค.ศ. 1853–1948)
ภาษาราชการอังกฤษ
ภาษาทั่วไปพม่า
ศาสนา
พุทธ, คริสต์, ฮินดู, อิสลาม
พระเจ้าแผ่นดิน 
• 1862–1901
พระนางเจ้าวิกตอเรีย
• 1901–1910
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7
• 1910–1936
พระเจ้าจอร์จที่ 5
• 1936
พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 8
• 1936–1947
พระเจ้าจอร์จที่ 6
สภานิติบัญญัติรัฐบาลข้าหลวง
วุฒิสภา
สภาผู้แทนราษฎร
ยุคประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม
5 มีนาคม 1824
1824–1826, 1852, 1885
• ขบวนการเรียกร้องเอกราช
1918–1942
• แยกการปกครองจากบริติชอินเดีย
ค.ศ. 1937
• ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นและไทย
ค.ศ. 1942–1945
• ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร
4 มกราคม 1948
สกุลเงินรูปีพม่า, รูปีอินเดีย, ปอนด์สเตอร์ลิง
ก่อนหน้า
ถัดไป
บริติชราช
ราชวงศ์โก้นบอง
รัฐพม่า
การยึดครองพม่าของญี่ปุ่น
สหรัฐไทยเดิม
สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (พ.ศ. 2491–2505)
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ พม่า

การปกครองของบริเตนในพม่า คือช่วงที่พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2367 – 2491 โดยเริ่มต้นจากสงครามพม่า-อังกฤษ ซึ่งนำไปสู่การทำให้พม่ากลายเป็นมณฑลหนึ่งของบริติชอินเดีย ขึ้นตรงกับรัฐบาลอุปราชในกัลกัตตา พื้นที่หลายส่วนของพม่า เช่น ยะไข่ ตะนาวศรี ถูกผนวกเข้ากับอังกฤษหลังสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 1 พม่าตอนล่างถูกผนวกหลังสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 2 ส่วนที่ถูกผนวกนี้กลายเป็นมณฑลขนาดเล็กที่เรียกบริติชพม่าในบริติชอินเดีย ส่วนพม่าตอนบนถูกผนวกหลังสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 และพม่าทั้งหมดกลายเป็นมณฑลหนึ่งของบริติชอินเดียใน พ.ศ. 2380 ต่อมา พม่าได้แยกการบริหารออกมาต่างหาก และได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491

การแบ่งเขตการปกครองในพม่าของอังกฤษ[แก้]

มณฑลพม่ามีการแบ่งเขตการปกครองใน พ.ศ. 2428 ได้แก่ พม่าส่วนกลาง ประกอบด้วยเขตตะนาวศรี เขตยะไข่ เขตพะโค เขตอิรวดี และพื้นที่ตามแนวชายแดน ได้แก่ รัฐชาน เขตภูเขาชีน รัฐกะชีน และรัฐกะเหรี่ยงแดง (กะยา)

ภูมิหลัง[แก้]

พม่าเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างจีนกับอินเดีย อยู่บนเส้นทางการค้าและเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ พ่อค้าจากอินเดียมาถึงทางทะเลและเข้าไปค้าขายภายในประเทศผ่านทางแม่น้ำอิรวดี พม่าได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียมาก โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ก่อนที่อังกฤษจะเข้ามา ราชวงศ์คองบองเป็นรัฐบาลที่ปกครองพม่า โดยพระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด

สงครามพม่า-อังกฤษครั้งแรกเริ่มจากการแตกแยกของยะไข่ และอังกฤษเข้ามาควบคุมจิตตะกองทางตอนเหนือ หลังจากพม่ารบชนะราชอาณาจักรยะไข่เมื่อ พ.ศ. 2327 – 2328 ต่อมา ใน พ.ศ. 2366 กองทัพพม่าได้ข้ามชายแดนขยายอำนาจของพม่าจากยะไข่เข้าสู่อัสสัม[1]ซึ่งเป็นดินแดนใกล้เคียงกับบริติชอินเดีย ทำให้เกิดสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่หนึ่ง อังกฤษเป็นฝ่ายชนะ ได้ครอบครองอัสสัม ยะไข่ ตะนาวศรี และส่งกองเรือเข้ายึดครองย่างกุ้งโดยไม่มีการต่อต้าน ใน พ.ศ. 2367 พม่าได้ยกทัพมาขับไล่อังกฤษแต่แม่ทัพพม่าเสียชีวิตในการสู้รบ ในที่สุด สงครามยุติลงด้วยการทำสนธิสัญญารานตะโบ ในอีก 25 ปีต่อมา เกิดสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 2 เพราะอังกฤษต้องการไม้สักในพม่าตอนล่าง และต้องการท่าเรือใหม่ระหว่างจิตตะกองและสิงคโปร์ แม้อังกฤษจะเป็นฝ่ายชนะ ได้ครอบครองพม่าตอนล่างทั้งหมด แต่ไม้สัก แร่ธาตุและน้ำมันในพม่าตอนบนก็ยังเป็นที่ต้องการของอังกฤษ ทำให้เกิดสงครามครั้งที่สามขึ้นอีก ผลของสงครามทำให้อังกฤษยึดพม่าได้ทั้งประเทศ ปลดพระเจ้าธีบอออกจากกษัตริย์ ด้วยข้อหาที่พยายามชักนำให้ฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลในพม่าแข่งกับอังกฤษ ในที่สุด อังกฤษก็ผนวกพม่าเข้ากับอินเดีย

การปกครองของอังกฤษช่วงแรก[แก้]

การบริหาร[แก้]

ทหารอังกฤษได้นำพระเจ้าธีบอ ขึ้นเรือเพื่อเนรเทศไปยังเมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย

อังกฤษเริ่มปกครองพม่าในฐานะมณฑลหนึ่งของอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2429 โดยมีเมืองหลวงที่ย่างกุ้ง และกลายเป็นยุคใหม่ทางด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่า ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐบาล ราชวงศ์ถูกล้มเลิก พระเจ้าธีบอถูกเนรเทศไปอินเดีย แยกการเมืองและศาสนาออกจากกัน ซึ่งแต่เดิม พระสงฆ์จะขึ้นกับการสนับสนุนจากราชวงศ์ และราชวงศ์จะรับรองสถานะทางกฎหมายของพุทธศาสนา ทำให้องค์กรทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติ นอกจากนั้น อังกฤษยังเข้ามาจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยจัดตั้งโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาพม่า และสนับสนุนให้มิชชันนารีเข้ามาสร้างโรงเรียน โดยในโรงเรียนทั้งสองระบบนี้พุทธศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพม่าไม่ถูกกล่าวถึง เพื่อทำลายความเป็นเอกภาพทางวัฒนธรรมของพม่าที่ต่างจากอังกฤษ ทำให้เกิดการต่อต้านทั่วไปในพม่าตอนเหนือจนถึง ปีพ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษเข้าไปปราบปรามในระดับหมู่บ้านโดยเผาทำลายหมู่บ้านที่ต่อต้านอังกฤษ สั่งให้ผู้คนอพยพลงไปพม่าภาคใต้และปลดเจ้าหน้าที่ที่สนับสนุนฝ่ายกบฏออก นำกลุ่มคนที่สนับสนุนอังกฤษเข้ามาแทนจึงทำให้การต่อต้านสิ้นสุดลง

สภาพเศรษฐกิจในอาณานิคม[แก้]

สภาพเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมของพม่านั้นจะกำหนดราคาโดยภาครัฐ อุปสงค์และอุปทานไม่มีความจำเป็น การค้าไม่ใช่เศรษฐกิจหลักของประเทศ แต่ตำแหน่งของพม่าอยู่ในตำแหน่งสำคัญทางการค้าระหว่างจีนกับบอินเดีย เมื่ออังกฤษมาถึง เศรษฐกิจของพม่าถูกบีบคั้นด้วยเศรษฐกิจโลกและกลายเป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกของอาณานิคม มีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี เนื่องจากขณะนั้น ข้าวเป็นที่ต้องการของยุโรป และมีการอพยพผู้คนจากที่สูงลงมายังที่ลุ่มเพื่อปลูกข้าว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของประชากร

การปกครองของอังกฤษทำให้เกิดกลุ่มชนลูกผสมระหว่างชาวยุโรปและชาวพม่า ซึ่งมีความโดดเด่นในสังคมยุคอาณานิคม สภาพทางเศรษฐกิจค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง หลังจากมีการเปิดคลองสุเอซ ความต้องการข้าวจากพม่าเพิ่มมากขึ้น มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ในการเตรียมที่ดินเพื่อการปลูกข้าว ชาวนาพม่ามักจะยืมเงินจากพ่อค้าอินเดียในอัตราดอกเบี้ยที่สูง เกิดการขูดรีด มีการนำแรงงานชาวอินเดียเข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตเนื่องจากได้ค่าแรงต่ำ และได้เข้ามาแทนที่ชาวนาพม่า มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น มีการสร้างทางรถไฟผ่านที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และมีเรือเครื่องจักรไอน้ำแล่นขึ้นล่องระหว่างแม่น้ำ บริการสาธารณะจัดขึ้นเพื่อชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษและชาวอินเดีย สิ่งเหล่านี้มีอังกฤษเป็นเจ้าของ และชาวพม่าต้องจ่ายเงินจำนวนมากในการใช้บริการเหล่านี้ หลายหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านนอกกฎหมายเนื่องจากมีกองโจรติดอาวุธ เศรษฐกิจของพม่าเติบโตขึ้นโดยอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือหุ้นส่วนชาวอังกฤษและผู้อพยพจากอินเดีย การเติบโตทางเศรษฐกิจในสมัยอาณานิคมส่งผลร้ายต่อพม่า เพราะได้ใช้ทรัพยากรของพม่าไปเพื่อผลกำไรของอังกฤษ ชาวพม่าถูกห้ามเป็นทหาร โดยทหารส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย ชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษ ชาวกะเหรี่ยง และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในพม่า หลังจากที่อังกฤษยึดครองพม่า พม่ายังคงส่งบรรณาการไปปักกิ่ง[2]ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในการประชุมเรื่องพม่า พ.ศ. 2429 ที่จีนยอมรับการยึดครองพม่าของอังกฤษ แต่อังกฤษต้องยอมให้พม่าส่งบรรณาการให้จีนทุกสิบปี[3]

ขบวนการชาตินิยม[แก้]

ขบวนการชาตินิยมในพม่าเริ่มต้นขึ้นในรูปยุวพุทธิกสมาคม (YMBA) ที่ก่อตั้งเลียนแบบ YMCA องค์กรทางศาสนาที่ก่อตั้งโดยอังกฤษ ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากสมาคมสภาทั่วไปแห่งพม่า (GCBA) ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับสมาคมแห่งชาติที่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวพม่า[4] ระหว่าง พ.ศ. 2443 – 2454 อู ธรรมโลกได้ท้าทายอำนาจของจักรวรรดินิยมและศาสนาคริสต์ ผู้นำพม่ารุ่นใหม่ในช่วงดังกล่าวที่ได้รับการศึกษาโดยได้เดินทางไปเรียนด้านกฎหมายที่ลอนดอน คนกลุ่มนี้กลับมายังพม่าพร้อมกับความคิดที่ว่าต้องปฏิรูปพม่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วง พ.ศ. 2463 ทำให้มีสภานิติบัญญัติซึ่งมีอำนาจจำกัด มีมหาวิทยาลัย และมีการปกครองตัวเองมากขึ้นแม้จะอยู่ภายใต้การบริหารรวมกับอินเดีย มีความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นชาวพม่า มีการประท้วงของนักศึกษาเพื่อต่อต้านกฏใหม่ของมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2463 นักเรียนในโรงเรียนออกมาประท้วงเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของระบบอาณานิคม ต่อมามีการประท้วงเพื่อต่อต้านการจัดเก็บภาษี ผู้นำในการประท้วงส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ เช่น อู โอตมะ และอู เสนทะ ในยะไข่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธต่อต้านอังกฤษและได้เข้าร่วมกับรัฐบาลชาตินิยมหลังได้รับเอกราชและอู วิสะระที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงในคุก

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2473 มีการประท้วงเกี่ยวกับภาษีโดยซยาซานและได้ลุกลามกลายเป็นจลาจลต่อต้านรัฐบาล อีกสองปีต่อมาเกิดกบฏกาลนซึ่งตั้งชื่อตามครุฑที่เป็นศัตรูของพญานาค การกบฏนี้ต้องใช้ทหารอังกฤษร่วมพันคนในการปราบปราม ซยาซานถูกประหารชีวิต แต่ก็มีผู้นำชาตินิยมอีกหลายคนเช่น บามอว์และอูซอที่ขึ้นมามีบทบาทแทน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2473 ได้จัดตั้งสมาคมเราชาวพม่าโดยสมาชิกขององค์กรเรียกทะขิ่น การประท้วงของนักศึกษาพม่าใน พ.ศ. 2479 นำโดยออง ซาน และโกนุ ผู้นำสหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ได้ลุกลามไปยังมัณฑะเลย์ ต่อมา อองซานและโก นุ ได้เข้าร่วมในขบวนการทะขิ่น

การแยกพม่าออกจากอินเดีย[แก้]

อังกฤษได้แยกมณฑลพม่าออกจากบริติชอินเดียใน พ.ศ. 2480[5] และตั้งเป็นหน่วยการปกครองที่มีสภาเป็นของตนเองซึ่งเป็นผลในทางบวกสำหรับชาวพม่า บามอว์ได้เป็นรัฐมนตรี แต่เขาถูกบังคับให้ลาออกโดยอูซอใน พ.ศ. 2482 อูซอได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมาใน พ.ศ. 2483 จนกระทั่งถูกอังกฤษจับกุมเมื่อ 19 มกราคม พ.ศ. 2485 เนื่องจากมีการติดต่อกับญี่ปุ่น

เกิดการนัดหยุดงานและการประท้วงเริ่มจากพม่าตอนกลางใน พ.ศ. 2481 และกลายเป็นการนัดหยุดงานทั่วประเทศ ในย่างกุ้งมีการประท้วงของนักศึกษา อังกฤษได้ส่งตำรวจเข้าปราบปราม และมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเสียชีวิต 1 คนคืออ่องจ่อ ในมัณฑะเลย์ ตำรวจได้ยิงเข้าไปในกลุ่มผู้ประท้วงที่นำโดยพระสงฆ์และมีผู้เสียชีวิต 17 คน ผลจากเหตุการณ์นี้ วันที่ 20 ธันวาคมได้กลายเป็นวันเพื่อระลึกถึงอ่องจ่อผู้เสียชีวิต[6]

สงครามโลกครั้งที่ 2[แก้]

จักรวรรดิญี่ปุ่นได้แผ่ขยายเข้ามาในพม่าเมื่อ พ.ศ. 2485 จนมีการก่อตั้งรัฐพม่าใน พ.ศ. 2486 หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม กองทหารอังกฤษได้กลับเข้าไปในพม่าเพื่อสถาปนาการปกครองระบอบอาณานิคมอีกครั้งใน พ.ศ. 2488

การลอบสังหารอองซาน[แก้]

หลังจากที่อังกฤษกลับเข้ามาปกครองพม่าอีกครั้งได้มีการเจรจาเกี่ยวกับเอกราชของพม่าจนบรรลุในข้อตกลงอองซาน-แอตลี เมื่อ 27 มกราคม พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับกลุ่มการเมืองของอองซาน โดยตัดกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ออกไปทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ธงแดงของทะขิ่นโสกลายเป็นกลุ่มใต้ดิน นอกจากนั้น อองซานยังประสบความสำเร็จในการรวมชนกลุ่มน้อยต่างเข้ากับพม่าในการประชุมที่ปางโหลงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ซึ่งกลายเป็นวันสหภาพ[7] ไม่นานหลังจากนั้น เกิดกบฏขึ้นในยะไข่นำโดยพระภิกษุ อูเซนดาและได้แพร่กระจายออกไป กลุ่มสันนิบาตเสรีชนของอองซานได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2490

ในการประชุมเมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ได้มีการลอบสังหารอองซานและคณะรัฐมนตรีรวมทั้งบะวิน ซึ่งผู้ที่ถูกสอบสวนและพบว่าเป็นผู้สั่งการคืออูซอ[8] ทะขิ่นนุ ผู้นำกลุ่มสังคมนิยมได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีและเป็นผู้นำรัฐบาลพม่าจนได้รับเอกราชเมื่อ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 กลุ่มต่อต้านอังกฤษในพม่ายังคงมีบทบาทมากจนพม่าตัดสินใจไม่เข้าร่วมเครือจักรภพอังกฤษ

อ้างอิง[แก้]

  1. World Book Encyclopedia
  2. Alfred Stead (1901). China and her mysteries. LONDON: Hood, Douglas, & Howard. p. 100. สืบค้นเมื่อ 19 February 2011.(Original from the University of California)
  3. William Woodville Rockhill (1905). China's intercourse with Korea from the XVth century to 1895. LONDON: Luzac & Co. p. 5. สืบค้นเมื่อ 19 February 2011.(Colonial period Korea ; WWC-5)(Original from the University of California)
  4. Martin Smith (1991). Burma – Insurgency and the Politics of Ethnicity. London and New Jersey: Zed Books. pp. 49, 91, 50, 53, 54, 56, 57, 58–59, 60, 61, 60, 66, 65, 68, 69, 77, 78, 64, 70, 103, 92, 120, 176, 168–169, 177, 178, 180, 186, 195–197, 193, 202, 204, 199, 200, 270, 269, 275–276, 292–3, 318–320, 25, 24, 1, 4–16, 365, 375–377, 414.
  5. Sword For Pen เก็บถาวร 2020-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, TIME Magazine, 12 April 1937
  6. "The Statement on the Commemoration of Bo Aung Kyaw". All Burma Students League. 19 Dec 1999. สืบค้นเมื่อ 23 October 2006.
  7. "The Panglong Agreement, 1947". Online Burma/Myanmar Library.
  8. "Who Killed Aung San? – an interview with Gen. Kyaw Zaw". The Irrawaddy. August 1997. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-19. สืบค้นเมื่อ 30 October 2006.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • นินิเมียนต์. พม่ากับการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ ค.ศ. 1885-1895. แปลโดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543.
  • Chaiwat Pasuna. "British Colonial Regime: Considering the Administration of British Colony in Burma and Malay Peninsular between the 19th and 20th Centuries." Political Science and Public Administration Journal, 13(1), 175–198. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/polscicmujournal/article/view/247427
  • Lalita Hingkanonta. “The Police in Colonial Burma.” Ph.D. Thesis, Department of History, School of Oriental and African Studies, University of London, 2013. <https://eprints.soas.ac.uk/17360/1/Hingkanonta_3529.pdf>
  • J. S. Furnivall, "Burma, Past and Present", Far Eastern Survey, Vol. 22, No. 3 (25 February 1953), pp. 21–26, Institute of Pacific Relations. <http://jstor.org/stable/3024126>
  • Ernest Chew, "The Withdrawal of the Last British Residency from Upper Burma in 1879", Journal of Southeast Asian History, Vol. 10, No. 2 (Sep. 1969), pp. 253–278, Cambridge University Press. <http://jstor.org/stable/20067745>
  • Michael W. Charney: Burma, in: 1914-1918-online. International Encyclopedia of the First World War.
  • Rachatapong Malithong. “News from “Burmah”: The Role of the English Press in the Making of the British Empire in Burma.” Ph.D. Thesis, Faculty of Humanities, The University of Manchester, 2018. <https://www.research.manchester.ac.uk/portal/files/102592359/FULL_TEXT.PDF>