ฝาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฝายพญาอุต เป็นฝายคอนกรีตกั้นตลอดช่วงตามขวางของแม่น้ำปิง ในจังหวัดลำพูน
ฝายชะลอน้ำหินทิ้งและแท่งคอนกรีต ซึ่งกั้นตลอดช่วงตามขวางของแม่น้ำปิง ในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันฝายแบบนี้ค่อนข้างหาได้ยาก เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยฝายคอนกรีต ซึ่งดูแลรักษาง่ายกว่ามาแทนที่

ฝาย เป็นโครงสร้างภูมิปัญญาทางการชลประทานมีลักษณะเป็นเขื่อนน้ำล้นใช้สำหรับการเปลี่ยนขนาดและรูปแบบการไหลของแม่น้ำ โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก เมื่อน้ำบริเวณต้นน้ำมีปริมาณความสูงน้อยกว่าความสูงของฝายน้ำจะถูกกักเก็บไว้ แต่เมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นน้ำจะไหลข้ามไปยังท้ายน้ำ ซึ่งฝายจะพบในชุมชนหรือเมืองที่ตั้งบริเวณที่ราบกึ่งชันที่น้ำไหลค่อนข้างแรง แต่จะไม่พบในที่ราบลุ่มต่ำ เพราะน้ำไหลช้าจึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดทำฝายในการชะลอน้ำ

ฝาย ถือเป็นภูมิปัญญาของคนในอดีต โดยชาวบ้านท้องถิ่นจะทำการสร้างฝายลงลุ่มน้ำสาขาย่อย เช่น ห้วย ลำธาร หรือลงลุ่มน้ำหลักเช่นแม่น้ำ โดยนิยมสร้างเป็นฝายที่ยาวตลอดช่วงตามขวางของแม่น้ำ จากนั้นจึงสร้างคลองหรือลำเหมือง มาเชื่อมต่อใกล้บริเวณท้ายฝาย ประโยชน์สำคัญของฝายในอดีต คือ การชะลอ บริหารและกักเก็บน้ำเพื่อนำน้ำไปทำการชลประทานเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันทางภาครัฐก็มีการนำแนวคิดมาใช้เพื่อการป้องกันน้ำท่วมด้วย

การแบ่งประเภทของฝายมีการแบ่งหลากหลายรูปแบบ เช่นแบ่งตามระยะเวลาการใช้งานเป็น ฝายถาวร และฝายชั่วคราว หรือแบ่งตามลักษณะวัสดุ เช่น ฝายโครงสร้างไม้ ฝายหินทิ้ง ฝายหินก่อบนดินถมอัดแน่น และฝายคอนกรีต[1] โดยปัจจุบันจะพบว่าฝายคอนกรีต เข้ามาแทนที่ฝายท้องถิ่นแบบเดิม

ปัญหาจากการสร้างฝาย[แก้]

ถึงแม้การสร้างฝาย จะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมายาวนาน แต่ในปัจจุบัน การสร้างฝายได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งการสร้างฝายคอนกรีต ซึ่งเป็นฝายทึบตันตลอดช่วงทำให้น้ำช่วงลึกไม่สามารถระบายออกได้ จึงทำให้เกิดการไม่หมุนเวียนของน้ำ ทำให้น้ำเน่า เพราะขาดออกซิเจน อีกทั้งยังกันการไหลออกของดินตะกอน หรือ ทราย ซึ่งชะล้างจากที่สูงลงมาไม่สามารถระบายออกไปยังแม่น้ำได้ จำเป็นต้องขุดลอกประจำ อีกทั้งยังทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำในช่วงหน้าฝายลดลงไปด้วย ซึ่งอาจเป็นผลเสียแก่ระบบนิเวศน์ที่อื่น เช่นเดียวกับทำลายวงจรชีวิตปลา ที่ไม่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำไปวางไข่ได้[2] แม้ทางหน่วยงานบางที่จะสร้างบันไดปลาโจนมา เพื่อให้เป็นทางเข้าออกของปลา แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก ทำให้พันธ์ุปลาบางชนิดสูญหายไป[3]

รูปแบบฝายในอดีตที่เป็นวัสดุจากไม้ จากหินทิ้ง จึงเป็นรูปแบบที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติมากกว่า เพราะยังพอมีรูปหรือช่องให้ดินตะกอน ทราย หรือ ปลา สามารถว่ายทวนกระแสน้ำออกไปได้ อีกทั้งยังระบายน้ำช่วงลึกของฝาย ยังหมุนระบายออกได้เช่นกัน แต่ถึงอย่างไรก็ดี ฝายแบบนี้ต้องดูแลรักษามาก เพราะเมื่อผ่านช่วงหน้าฝนที่น้ำไหลแรง ก็จะทำให้ฝายพังทลาย ต้องมาดูแลรักษาทุกปี อีกทั้งประสิทธิการกักน้ำ ไม่สูงมากเท่าฝายคอนกรีต

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ปราโมทย์ ไม้กลัด. คู่มืองานเขื่อนดินขนาดเล็กและฝาย. สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน กรมชลประทาน, 2524.
  2. VANCHAITAN. (2019). ฝายไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน,
  3. สมชาย ปรีชาศิลปกุล. (2004). คิดถึงปลาร้าเต็มไห ในวันแปรรูป
บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]