ฝรั่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฝรั่ง (ผลไม้))
ฝรั่ง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Myrtales
วงศ์: Myrtaceae
วงศ์ย่อย: Myrtoideae
เผ่า: Myrteae
สกุล: Psidium
สปีชีส์: P.  guajava
ชื่อทวินาม
Psidium guajava
L.
เปลือกต้นฝรั่ง
ดอกฝรั่ง

ฝรั่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Psidium guajava Linn.) เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ในวงศ์ Myrtaceae ฝรั่งเป็นพืชที่มีจุดกำเนิดอยู่ในอเมริกากลางและหมู่เกาะเวสต์อินดีส หลักฐานทางโบราณคดีในเปรูชี้ให้เห็นว่า มีฝรั่งมาตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสตกาล พ่อค้าชาวสเปนและโปรตุเกสเป็นผู้นำผลไม้ชนิดนี้ไปยังถิ่นต่าง ๆ ทั่วโลก เข้ามาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 ส่วนในประเทศไทย คาดว่าเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[1]

คำว่าฝรั่งในภาษาอังกฤษคือ Guava ซึ่งมาจากภาษาสเปน คำว่า Guayaba และ ภาษาโปรตุเกส คำว่า Goiaba ฝรั่งมีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีกคือ ย่าหมู (สุราษฎร์ธานี) ชมพู่ (ตรัง, ปัตตานี) มะก้วย (เชียงใหม่,เหนือ) มะก้วยกา (เหนือ) มะกา (กลาง,แม่ฮ่องสอน) มะจีน (ตาก) มะมั่น (เหนือ) ยะมูบุเตบันยา (มลายู นราธิวาส) ยะริง (ละว้า เชียงใหม่) ยามุ หรือ ย่าหมู หรือ ย่าหวัน[2] (ใต้) และ สีดา (นครพนม,นราธิวาส)[3]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ฝรั่งเป็นไม้ยืนต้น สูง 3-10 เมตร ต้นเกลี้ยงมัน เปลือกต้นเรียบ ใบเดี่ยว กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ยอดอ่อนมีขนสั้น ๆ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 3-8 ซม. ยาว 6-14 ซม. ดอกเดี่ยวหรือช่อ 2-3 ดอก ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ผลดิบสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีเหลือง [4]

การใช้ประโยชน์[แก้]

ชาวยุโรปนิยมบริโภคฝรั่งสุก โดยนำไปทำพายและขนมได้หลายชนิด ส่วนชาวเอเชียนิยมบริโภคฝรั่งแก่จัดแต่ยังไม่สุก และนำไปแปรรูป เช่นทำเป็นฝรั่งดอง ฝรั่งแช่บ๊วย นอกจากนั้น ฝรั่งยังมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร ใบฝรั่งใช้ดับกลิ่นปาก น้ำต้มใบฝรั่งสด มีฤทธิ์ทางด้านป้องกันลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ใช้ทาแก้ผื่นคัน พุพองได้ น้ำต้มผลฝรั่งตากแห้ง มีฤทธิ์แก้คออักเสบ เสียงแห้ง ชาวอินเดียใช้ใบรักษาแผลและแก้ปวดฟัน ในฟิลิปปินส์ใช้ใบแก้เหงือกบวมและท้องเดิน เปลือกต้นฝรั่งใช้ทำสีย้อมผ้า[5]

สารสกัดใบฝรั่งด้วยเอธานอลความเข้มข้น 62.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรยับยั้งการเจริญของ Aeromonas hydrophila ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ เมื่อนำสารสกัดจากใบฝรั่งไปผสมในอาหารปลาในอัตราส่วน 1:24 (w/w) ทำให้ปลานิลตายเนื่องจากการติดเชื้อ A. hydrophila น้อยลง[6]

พันธุ์ต่าง ๆ[แก้]

  • พันธุ์กินสด เป็นพันธุ์ที่นิยมรับประทานผลสด เช่น ฝรั่งขี้นก ส่วนใหญ่เนื้อสีขาว พันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้าได้แก่
    • ฝรั่งเวียดนาม - ลูกใหญ่กว่าฝรั่งพื้นบ้าน ถึง 2 - 3 เท่า ถูกนำเข้าจากเวียดนามมาปลูกที่อำเภอสามพรานเมื่อ พ.ศ. 2521– 2523 [7]
    • ฝรั่งกิมจู - เป็นฝรั่งไร้เมล็ด สีนวลสวย รสหวานกลมกล่อม กรอบ [8]
    • ฝรั่งกลมสาลี่- เป็นพันธ์แรก ๆ ที่นิยมปลูกกันมาก ต่อมามีพันธ์แป้นสีทองเข้ามา จึงปลูกน้อยลงเรื่อย ๆ
    • ฝรั่งแป้นสีทอง- ปลูกมากที่สุดในประเทศไทย ผลเมื่อโตเต็มที่จะขาว ฟู กรอบ เริ่มแรกปลูกที่อำเภอสามพราน ภายหลังได้แพร่กระจายไปทั่ว
    • ฝรั่งหงเป่าสือ - มีถื่นกำเนิดจากไต๋หวัน เนื้อด้านในเป็นสีชมพูเมื่อแก่จัดจะเป็นสีแดง มีเมล็ดน้อย
    • ฝรั่งไร้เมล็ด - ลักษณะลูกยาว ๆ ไม่มีเมล็ด รสชาติด้อยกว่าฝรั่งแป้นสีทอง และกิมจู
  • พันธุ์แปรรูป เป็นพันธุ์ที่ใช้คั้นทำน้ำฝรั่ง เนื้อฉ่ำน้ำ สีชมพู

อ้างอิง[แก้]

  1. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์, 2550 หน้า: 111
  2. วิเคราะห์คอลัมนิสต์ 30 03 59
  3. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เต็ม สมิตินันทน์ สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พ.ศ. 2549
  4. ฝรั่ง ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุ กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  5. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์, 2550 หน้า: 113
  6. พงศ์ศักดิ์ รัตนชัยกุลโสภณ และ ปาริชาติ พุ่มขจร. 2553. การใช้สมุนไพรในการป้องกันและรักษาโรคในปลา[ลิงก์เสีย] วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่12 ฉบับที่4 กรกฎาคม 2553 63 -71
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-18. สืบค้นเมื่อ 2008-09-11.
  8. http://www.komchadluek.net/2008/09/11/x_agi_b001_220044.php?news_id=220044

บรรณานุกรม[แก้]

  • ทวีทอง หงส์วิวัฒน์, นิดา หงส์วิวัฒน์ (2550). ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. แสงแดด. ISBN 9789749665749.