ผู้ใช้:Zambo/เปาเจิ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Zambo/เปาเจิ่ง
ไฟล์:Bao Zheng.jpg
เกิดเปาเจิ่ง (包拯)
ค.ศ. 999
จีน ประเทศจีน มณฑลอันฮุย นครเหอเฟย์
เสียชีวิตค.ศ. 1062
จีน ประเทศจีน มณฑลเหอหนัน นครไคฟง
การศึกษาบัณฑิตหลวงอันดับ 1
อาชีพข้าราชการพลเรือน
องค์การราชสำนักซ่ง

เปาเจิ่ง (จีน: 包拯; พินอิน: Bāo Zhěng), สมัญญาว่า "ซีเหริน" (จีน: 希仁; พินอิน: Xīrén; "ยอดคน"), นามที่ได้รับการเฉลิมเมื่อถึงแก่กรรมแล้วว่า "เสี้ยวสู้" (จีน: 孝肅; พินอิน: Xiàosù; "ผู้เป็นปูชนียะประหนึ่งบิดามารดา") หรือรู้จักในไทยว่า "เปาบุ้นจิ้น" เป็นข้าราชการพลเรือนชาวจีน มีชีวิตอยู่จริงในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิเหรินจงแห่งราชวงศ์ซ่ง มีชื่อเสียงมากและเป็นที่สรรเสริญในด้านความซื่อสัตย์และความยุติธรรม กระทั่งต่อมาภายหลังได้รับยกย่องในเอเชียว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความยุติธรรมและเป็นสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม

โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักคำนึงว่าเปาบุ้นจิ้นเป็นตุลาการ แต่ความจริงแล้วงานตุลาการเป็นหน้าที่หนึ่งในครั้งที่รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เปาบุ้นจิ้่นนั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหลายประเ้ภท โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหกเดือนก่อนถึงแก่อสัญกรรม

เปาบุ้นจิ้นนั้นเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไปถึงความเข้มงวดในการปฏิบัติราชการ ความกตัญญูกตเวที และการปฏิเสธความอยุติธรรมและการทุจริตในหน้าที่ราชการชนิดหัวชนฝา ชื่อเสียงดังกล่าวทำให้เปาบุ้นจิ้นกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ยุติธรรม (จีน: 清官; พินอิน: qīngguān, ชิงกวน) และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วกระทั่งต่อมาได้รับความนับถือเลื่อมใสถึงขนาดยกย่องเสมอเทพเจ้า เรื่องราวเกี่ยวกับเปาบุ้นจิ้นได้รับการเล่าขานและปรากฏตัวในรูปมุขปาฐะ จนสมัยต่อ ๆ มามีการสร้างสรรค์วรรณกรรมหลายเรื่องเกี่ยวกับเปาบุ้นจิ้น เช่น เรื่อง "เปาเล่งถูกงอั้น" หรือ "ประมวลคดีของเปาบุ้นจิ้่น" และเรื่อง "เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม" เป็นต้น ซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้ได้มีการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ในชั้นปัจจุบัน และยังส่งผลระดับสูงถึงสูงมากต่อการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ดีในประเทศที่มีการนำไปแพร่ภาพด้วย ทั้งนี้ ตามการวิจัยของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2541[1]

วรรณกรรมข้างต้นทำให้เปาบุ้นจิ้นเป็นที่รู้จักในชื่อ "เปากง" (จีน: 包公; พินอิน: Bāo Gōng; "ปู่เปา" "ท่านเปา" หรือ "เจ้าเปา") "เปาไตจี้" (จีน: 包待制; พินอิน: Bāo Dāizhì; "ว่าที่ราชเลขาฯ เปา") "เปาหลงถู" (จีน: 包龍圖; พินอิน: Bāo Lóngtú; "เปาผู้เป็นประดุจมังกร" ชื่อนี้่รู้จักในไทยว่า "เปาเล่งถู") และ "เปาชิงเทียน" (จีน: 包青天; พินอิน: Bāo Qīngtiān; "เปาผู้ทำให้ฟ้ากระจ่าง")

เปาบุ้นจิ้นมีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนสมัยสุโขทัยเมื่อเทียบกันแล้ว ส่วนชื่อ "เปาบุ้นจิ้น" ในไทยเป็นคำอ่านสำเนียงแต้จิ๋ว ซึ่งสำเนียงจีนกลางว่า "เปาอุ๋นเจิ่ง" หรือ "เปาเหวินเจิ่ง"[2] นอกจากนี้ ในไทยเอง คำ "เปาบุ้นจิ้น" หรือ "ท่านเปา" เองยังมีความหมายว่า ตุลาการ ศาล หรือผู้พิพากษาอีกด้วย และบางทีก็เจาะจงว่าหมายถึงตุลาการที่เที่ยงธรรมด้วย[3]

เปาบุ้นจิ้นตามประวัติศาสตร์[แก้]

เอกสารหลักทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวของเปาบุ้นจิ้นได้แก่ "บันทึกแห่งซ่ง" ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยราชวงศ์เหลียว โดยบันทึกว่า

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

เปาบุ้นจิ้นถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวนักวิชาการแห่งนครเหอเฟย์ (เดิมคือ นครหลูโจว) มณฑลอานฮุย ที่ซึ่งในปัจจุบันประดิษฐานวัดเจ้าเปา (จีน: 包公祠; พินอิน: Bāogōngcí, เปากงฉือ) วัดดังกล่าวสถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 1609 ใกล้กับสุสานของเปาบุ้นจิ้น

ถึงแม้ครอบครัวของเปาบุ้นจิ้นจะสามารถส่งเสียให้บุตรชายศึกษาเล่าเรียนได้ แต่ก็มีฐานะระดับปานกลาง มารดาของเปาบุ้นจิ้นมีอาชีพขึ้นเขาไปเก็บของป่ามาขายก่อนที่จะให้กำเินิดเปาบุ้นจิ้น นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่เติบโตขึ้นมา เปาบุ้นจิ้นได้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนหลายชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นรากหญ้า ซึ่งช่วยให้สามารถเข้าใจปัญหาและความยากลำบากของผู้คนได้ดี ครอบครัวตลอดจนสภาพแวดล้อมในวัยเด็กหล่อหลอมให้่เปาบุ้นจิ้นมีอุปนิสัยรักความซื่อสัตย์ยุติธรรมและต่อต้านการทุจริตอย่างแรงกล้า

เปาบุ้นจิ้นนั้นเมื่ออายุได้ยี่สิบเก้าปีได้เข้ารับการทดสอบหลวง (จีน: 科举; พินอิน: Kējǔ, เกจู่; "การคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในราชการ") ใน พ.ศ. 1570 และผ่านการทดสอบระดับสูงสุดหน้าที่นั่ง โดยได้รับโปรดเกล้่าฯ แต่งตั้งเป็นบัณฑิตเรียก "จินฉื่อ" (พินอิน: Jinshi) และให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดฉานโจว มณฑลฝูเจี้ยน แต่ก็ยังมิได้เข้ารับราชการทันที เนื่องจากได้ขอพระีราชทานพระราชานุญาตเดินทางกลับไปปรนนิบัติบิดาและมารดาซึ่งสูงอายุ กระทั่งทั้งสองถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 1580 จึงเข้ารับหน้าที่ ในระหว่างที่เปาบุ้นจิ้นปรนนิบัติบุพการีที่บ้านเกิดนั้น ลิ่วหยุน (พินอิน: Liu Yun) ผู้ว่าราชการนครเหอเฟย์ผู้มีนิสัยรักความถูกต้องและรับผิดชอบต่อส่วนรวม ยังได้มาช่วยอบรมบ่มเพาะเปาบุ้นจิ้น นับเป็นอีกแรงหนึ่งที่หล่อหลอมเปาบุ้นจิ้นให้มีอุปนิสัยดังกล่าว

ด้านความเป็นอยู่ส่วนตัวและอัธยาศัยนั้น ประวัติศาสตร์จีนบันทึกไว้ว่า เปาบุ้นจิ้นเป็นคนตรงไปตรงมา รังเกียจข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง และกดขี่ขูดรีดประชาชน แม้จะเกลียดคนเลวแต่ก็มิใช่เป็นคนดุร้าย เปาบุ้นจิ้นเป็นคนซื่อสัตย์และให้อภัยคนทำผิดโดยไม่เจตนา กับทั้งไม่เคยคบคนง่าย ๆ อย่างไร้หลักการ ไม่เสแสร้งทำหน้าชื่นและป้อนคำหวานเพื่อเอาใจคน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเปิดเผย ไม่มีลับลมคมใน จึงไม่มีฝักไม่มีฝ่าย แม้ว่ายศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่ง แต่เสื้อผ้า เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย และอาหารการกินก็ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อครั้งยังเป็นสามัญชนเลย

นอกจากนี้ ปาบุ้นจิ้นยังเป็นกวีฝีมือเอกที่ฝากผลงานทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองไว้อีกด้วย

ชีวิืตราชการ[แก้]

เมื่อบุพการีทั้งสองถึงแก่กรรมและจัดพิธีศพให้แล้ว เปาบุ้นจิ้นได้กลับเข้ารับหน้าที่ โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอเทียนฉาง จังหวัดฉูโจว มณฑลอานฮุย เป็นภารกิจแรก ครั้งนั้นเปาบุ้นจิ้นมีอายุสี่สิบปี และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงไคฟง เมืองหลวงแห่งประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นเวลาสิบห้าเดือนก่อนจะย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น ๆ

ในการปฏิบัติหน้าที่ เปาบุ้นจิ้นไม่ปรานีและประนีประนอมกับความทุจริตใด ๆ เลย ด้วยมีนิสัยรักและเทิดทูนความยุติธรรม ปฏิเสธที่จะเข้าถึงอำนาจหน้าที่โดยวิถีทางอันมิชอบ ทั้่งยังมีสติปัญญาและปฏิภาณเป็นเลิศโดยเฉพาะในด้านการตรวจสอบการทุจริต เปาบุ้นจิ้นไม่เกรงกลัวอิทธิพลและไม่เห็นแก่หน้าผู้ใด ตนนั้นตั้งปณิธานไว้ว่า

  • ผู้กระทำผิดไม่ว่าเป็นใครก็ตาม มีอำนาจยศศักดิ์เท่าไร ล้วนต้องถูกลงโทษตามกฎหมายเสมอกันทั้งนั้น
  • สิ่งใดที่ถูกต้่องตามทำนองคลองธรรม ตนจะไม่มีวันละเลยเป็นอันขาด
  • จิตใจสะอาดบริสุทธิ์คือหลักแก้ไขปัญหามูลฐาน ความเที่ยงตรงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต จงจดจำบทเรียนในประวัติศาสตร์ไว้ และอย่าให้คนรุ่นหลังเย้ยหยันได้

นอกจากนี้เปาบุ้นจิ้นยังมีคุณธรรมและเมตตาธรรมต่อประชาชน เปาบุ้นจิ้นไม่เคยรับของขวัญใด ๆ เลยแม้จะเป็นชิ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงคำครหาและความไม่เหมาะสมต่าง ๆ ทำให้สามารถชนะใจชาวจีนทั้งประเทศรวมถึงสมเด็จพระจักรพรรดิเหรินจงได้ในเวลาไม่นาน กับทั้งยังส่งผลให้เปาบุ้นจิ้นได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายตำแหน่งด้วย เริ่มตั้งแต่เป็นนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ผู้ว่าราชการกรุง รัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นต้น แต่ผู้คนมักรู้จักเปาบุ้นจิ้นในด้านตุลาการแม้ว่าความจริงแล้วเปาบุ้นจิ้นไม่ได้มีอาชีพเป็นตุลาการโดยตรงก็ตาม ความเด็ดเดี่ยวและกล้าตัดสินใจทำให้ผู้คนพากันยกย่องและคอยร้องทุกข์ต่อเปาบุ้นจิ้นเสมอ

รูปเคารพของเปาบุ้นจิ้นที่จังหวัดชลบุรี

ตลอดสี่สิบห้าปีปีที่รับราชการ เปาบุ้นจิ้นสั่งลดขั้นตำแหน่งและปลดข้าราชการมากกว่าสามสิบคน เหตุเพราะตรวจสอบพบว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ละทิ้งหน้าที่ราชการ หรือรับและ/หรือติดสินบน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเคยกล่าวโทษและขอให้มีการตรวจสอบ จางเหยาจั๋ว (พินอิน: Zhang Yaozhuo) พระปิตุลาของสมเด็จพระมเหสี ถึงหกครั้ง อีกเจ็ดครั้งสำหรับขุนนางหวางกุ้ย (พินอิน: Wang Kui) ผู้ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระจักรพรรดิ และอีกหลายครั้งสำหรับนายกรัฐมนตรีซ้งหยาง (พินอิน: Song Yang)

นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่า เปาบุ้่นจิ้นนั้นโชคดีอย่างยิ่ง ที่แม้จะกราบบังคมทูลคัดค้านหรืิอเสนอให้มีการใด ๆ เพื่อดำรงความถูกต้องแต่อาจไม่ทรงสบพระราชหฤทัยหลายครั้งหลายครา แต่ก็ไม่ถูกสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเิอาโทษเลย กลับทรงเห็นชอบด้วยกับเปาบุ้นจิ้นในท้ายที่สุดทุกครั้งไปด้วย เพราะในประวัติศาสตร์จีน ปรากฏเสมอว่าหากสมเด็จพระจักรพรรดิไม่ทรงพอพระราชหฤทัยผู้ใด ผู้นั้นก็อาจถูกลงโทษได้โดยไม่ทันรู้ตัว เช่น ซือหม่าเชียน (จีน: 司马迁; พินอิน: Sīmǎ Qiān) นักประวัติศาสตร์ นักคิด นักเขียน และนัีกประดิษฐ์ผู้ลือชื่อในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิอู่ตี้ ก็ถูกลงโทษตอนอวัยวะเพศเพียงเพราะกราบบังคมทูลคำที่ไม่ทรงสบพระราชหฤทัยสองสามคำ เช่นเดียวกับ หวูกุ้ย (พินอิน: Wu Kui) เฉินซู่ (พินอิน: Chen Xu) และ ตู้ชู (พินอิน: Du Shu) ข้าราชการสามนายในสมัยเดียวกับเปาบุ้นจิ้น ที่ไม่โชคดีเหมือนเปาบุ้นจิ้นเมื่อพากันกราบบังคมทูลคัดค้านนโยบายทางการเมือง ความโชคดีของเปาบุ้นจิ้นนี้สื่อมวลชนจีนยังเคยรายงานว่า[4]

เราช่วยไม่ได้จริง ๆ หากทำให้คุณต้องพิศวงกับสติปัญญาและบุคลิกลักษณะของยอดชายท่านนี้

การที่เปาบุ้นจิ้นได้รับยกย่องว่าเป็นประดุจเทพเจ้าแห่งความยุติธรรมทำให้ชาวจีนเชื่อว่า เปาบุ้นจิ้นนั้นกลางวันตัดสินคดีความในมนุษยโลก กลางคืนไปตัดสินคดีความในยมโลก

ได้มีการนำรูปเคารพที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นหลังจากเปาบุ้นจิ้นถึงแก่อนิจกรรมนั้นมาประดิษฐานในประเทศไทย โดยตั้งอยู่ที่อเนกกุศลศาลา ใกล้กับวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

ศาลไคฟง[แก้]

ศาลไคฟงอันเป็นที่ว่าความของเปาบุ้นจิ้นนั้นสมัยที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงไคฟงนั้น ปัจจุบันอยู่ในอำเภอไคฟงหรืออดีตคือกรุงไคฟง จังหวัดเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน เดิมจมน้ำพังทลายไปหมดสิ้น ต่อมารัฐบาลจีนได้บูรณะขึ้น

ปัจจุบันในเวลาเก้านาฬิกาของทุก ๆ วัน จะมีผู้แต่งกายเป็นเปาบุ้นจิ้นออกมาเปิดศาลไคฟงรับเรื่องราวร้องทุกข์และพิจารณาคดี นอกจากนี้ ที่ศาลใหม่ดังกล่าวมีการจัดแสดงไว้ที่หน้าห้องว่าความซึ่งชุดเครื่องประหารของเปาบุ้นจิ้น ด้านในห้องมีหุ่นขี้ผึ้งของคณะเปาบุ้นจิ้น ด้านมี "ชิงซินโหลว" หรือ "บ้านใจบริสุทธิ์" เชื่อกันว่าเป็นจวนของเปาบุ้นจิ้น โดยเป็นหอสูงสี่ชั้น ชั้นที่หนึ่งปัจจุบันมีรูปปั้นเปาบุ้นจิ้นอยู่ รูปปั้นนี้หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สูง 3.8 เมตร หนัก 5.6 ตัน นับเป็นรูปปั้นที่หนักที่สุดในเมืองจีน

เปาบุ้นจิ้นในวรรณกรรม[แก้]

ไฟล์:Baozhengguillotines.jpg
ชุดเครื่องประหารของเปาบุ้นจิ้น รัฐบาลจีนได้จำลองขึ้นและจัดแสดงไว้ที่ศาลไคฟงในปัจจุบัน

ในงิ้วตลอดจนในละครและภาพยนตร์ ผู้แสดงมักแสดงเป็นเปาบุ้นจิ้นโดยมีใบหน้าสีดำ และมีพระจันทร์เสี้ยวอันเป็นเครื่องหมายที่มีมาแต่กำเนิดประดิษฐานอยู่บนหน้าผาก กับทั้งเปาบุ้นจิ้นยังใช้เครื่องประหารเป็นชุดซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระจักรพรรดิอีกด้วย โดยชุดเครื่องประหารประกอบด้วย เครื่องประหารหัวสุนัขสำหรับประหารอาชญากรที่เป็นสามัญชน เครื่องประหารหัวพยัคฆ์สำหรับอาชญากรที่เป็นข้าราชการและผู้มีบรรดาศักดิ์ และเครื่องประหารหัวมังกรสำหรับพระราชวงศ์ นอกจากนี้ เปาบุ้นจิ้นยังได้รับพระราชทานหวายทองคำจากสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ก่อนโดยให้สามารถใช้เฆี่ยนตีสั่งสอนสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันได้ และกระบี่อาญาสิทธิ์โดยให้มีอาญาสิทธิ์สามารถประหารผู้ใดก็ได้นับแต่สามัญชนจนถึงเจ้าโดยไม่ต้องได้รับพระราชานุญาตก่อนตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่หลังจากประหารแล้วให้จัดทำรายงานกราบบังคมทูลทราบพระกรุณาด้วย เป็นที่มาของสำนวนจีนว่า "ฆ่าก่อน รายงานทีหลัง" (จีน: 先斬後奏; พินอิน: xiānzhǎnhòuzòu, เซียนฉ่านโฮ้วโจ้ว)

ในวรรณกรรมจีนหลายเครื่อง ระบุถึงคดีสำคัญที่ได้รับการตัดสินโดยเปาบุ้นจิ้น ดังต่อไปนี้

  • คดีฉาเม่ย (จีน: 鍘美; พินอิน: zháměi) : เปาบุ้นจิ้นได้ตัดสินประหารเฉินชื้อเม่ย (จีน: 陳世美; พินอิน: Chénshìměi) ผู้ทอดทิ้งภรรยาไปสมรสกับพระราชวงศ์จนได้รับพระราชทานยศเป็นพระราชบุตรเขย และต่อมาได้พยายามฆ่าภรรยาผู้นั้นเนื่องจากนำความไปร้องต่อศาลกรุงไคฟง ชื่อคดีนี้รู้จักกันทั่วไปจากละครโทรทัศน์ชุดเปาบุ้นจิ้นในชื่อ "คดีประหารราชบุตรเขย"
  • คดีหลีเมาฮ้วนไท้จี๋ (จีน: 貍貓換太子; พินอิน: límāohuàntàizǐ) : หรือคดีเกี่ยวกับการทำลายชื่อเสียงของพระวรชายาด้วยการลักลอบนำชะมดมาสับเปลี่ยนกับพระราชโอรสที่เพิ่งมีประสูติกาลและต่อไปจะได้ทรงเป็นมกุฎราชกุมาร คดีนี้มีขันทีชื่อกัวหวาย (จีน: 郭槐; พินอิน: Guōhuái) เป็นจำเลย ขันทีกัวหวายนั้นสนับสนุนงานของเปาบุ้นจิ้นมาตลอดและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระจักรพรรดิ ทำให้กระบวนการสอบสวนเป็นไปได้โดยลำบาก เปาบุ้นจิ้นจึงปลอมตัวเป็นหยานหลัว (จีน: 阎罗; พินอิน: Yánluó; มัจจุราช) และจำลองยมโลกขึ้นเพื่อล่อลวงให้ขันทีรับสารภาพ ชื่อคดีนี้รู้จักกันทั่วไปจากละครโทรทัศน์ชุดเปาบุ้นจิ้นในชื่อ "คดีสับเปลี่ยนองค์ชาย"

เกียรติศัพท์และคดีของเปาบุ้นจิ้นได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ยอดนิยมในปัจจุบันหลายครั้งหลายครา ในวรรณกรรมจีนส่วนใหญ่ เปาบุ้นจิ้นมีคณะผู้ช่วย ประกอบด้วย

  • องครักษ์ จั่นเจา (พินอิน: Zhan Zhao) ชายผู้มีพละกำลังมหาศาลและมีฝีมือในการต่อสู้ชนิดยากหาใครเทียบได้ ในวรรณกรรมบางเรื่อง องค์รักษ์จั่นเจาถือว่าเป็นตัวแทนแห่งฝ่ายทหารหรือฝ่ายบู๊ ในขณะที่เปาบุ้นจิ้นเป็นตัวแทนแห่งฝ่ายพลเรือนหรือฝ่ายบุ๋น
  • ที่ปรึกษาและเลขานุการ กงซุนเช่อ (พินอิน: Gongsun Ce) ชายผู้มีสติปัญญาและความซื่อสัตย์เป็นเลิศที่คอยช่วยเหลือเปาบุ้นจิ้นในกิจการต่าง ๆ กงซุนเช่อนี้เชื่อกันว่ามีที่มาจากขงเบ้งของเล่าปี่ในวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก
  • เจ้าหน้าที่ใหญ่สี่นาย หวังเฉา, หม่าฮั่น, จางหลง และจ้าวหู่ (พินอิน: Wang Chao, Ma Han, Zhang Long, Zhao Hu) ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาขององค์รักษ์จั่นเจาอีกทอดหนึ่ง โดยสองนายแรกเป็นองค์รักษ์ฝ่ายซ้ายของเปาบุ้นจิ้น อีกสองเป็นฝ่ายขวา

ผู้ช่วยทั้งหมดนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และความสามารถ

กรณีค่านิยมเกี่ยวกับการประหารชีวิตในประเทศไทย[5][แก้]

จากการที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้นำเสนอละครเรื่องเปาบุ้นจิ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลาสิบแปดนาฬิกา นั้น บรรดาผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ได้แสดงความวิตกกังวลว่า "รายการดังกล่าวซึ่งแพร่ภาพในช่วงเวลาที่เด็ก ๆ จะดูโทรทัศน์กันเป็นจำนวนมากนั้นจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเด็ก ๆ ที่ชม เพราะในเปาบุ้นจิ้นนั้นแม้เนื้อหารายการจะพูดถึงความซื่อสัตย์ ความถูกต้องและความยุติธรรม แต่ในตอนท้ายหลายครั้งเปาบุ้นจิ้นก็ตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการประหารชีวิต..."

นอกจากนี้ นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมแถลงว่า "...เปาบุ้นจิ้นถึงเนื้อหาจะดี แต่ก็สร้างความเชื่อเรื่องการลงโทษที่ว่าถ้าทำผิดจะต้องตอบแทนอย่างสาสมถึงขั้นตายตกตามกัน แต่เมื่อกฎหมายไทยไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์เหมือนในเปาบุ้นจิ้น เพราะผลการตัดสินถูกผิดบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของทนาย จึงเกิดการเล่นกันนอกศาล การฆ่าตัดตอนเลยกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย การให้ดูรายการแบบนี้ก็เหมือนเป็นการสร้างคนพันธุ์ใหม่ สร้างบรรทัดฐานใหม่ โดยใช้เครื่องมือสื่อสาร" กับทั้งเสนอให้หน่วยงานของรัฐเข้ามารับผิดชอบกรณีนี้

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีข้างต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. นฤบดี วรรธนาคม. (2541). ผลทางสังคมของภาพยนตร์จีนชุด "เปาบุ้นจิ้น" ที่มีต่อผู้ชมในกรุงเทพมหานคร. กรุงเ้ทพฯ : สาขาวิชานิเทศศาสตรพัฒนาการ ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (วิทยานิพนธ์ นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต).
  2. ศิลปวัฒนธรรม, (28, 7). (2550, พฤษภาคม). หน้า 162.
  3. ไทยรัฐ. (2551, 26 กรกฎาคม). ท่านเปาหญิง ICC จ่อนั่งข้าหลวงใหญ่สิทธิฯยูเอ็น. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/news.php?section=international&content=98330. (เข้าถึงเมื่อ: 14 กรกฎาคม 2551).
  4. Ye Qinfa. (n.d.). Bao Zheng. [Online]. Available: < http://chineseculture.about.com/library/weekly/aa110200a.htm >. (Accessed: 27 December 2008).
  5. หวั่น "เป้าบุ้นจิ้น" ก่อกระแสเด็ก คนทำผิดต้องตายเท่านั้น!!!. (2549, 8 พฤศจิกายน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://webboard.mthai.com/52/2006-11-08/280319.html. (เข้าถึงเมื่อ: 14 สิงหาคม 2551).
  • Wagner, Donald B. "The Administration of the Iron Industry in Eleventh-Century China," Journal of the Economic and Social History of the Orient (Volume 44 2001): 175-197.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]