ผู้ตรวจสอบอาคาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผู้ตรวจสอบอาคาร คือผู้ที่ประกอบวิชาชีพเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร ตามที่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคารกำหนด [1] มีหน้าที่เข้าตรวจสอบอาคาร โดยตรวจสอบเรื่องโครงสร้างอาคาร ความปลอดภัยในการใช้อาคาร การดัดแปลงต่อเติม ระบบแจ้งเหตุเพลิงใหม้ ระบบดับเพลิง ป้ายทางออกฉุกเฉิน ทางหนีไฟ ระบบไฟฟ้า และแผนบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น [2] เพื่อจัดทำเป็นรายงานการตรวจสอบอาคารให้กับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ประกอบการพิจารณาอนุญาตใช้อาคารนั้นๆ

การเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร[แก้]

ผู้ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบอาคารได้นั้นจะต้องเป็นวิศวกรหรือสถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพ ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจสอบอาคารไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมง จากนั้นจึงจะมีสิทธิ์สอบเพื่อวัดความรู้จากสภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิก จึงจะไปขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารกับกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ และต้องมีการทำประกันวิชาชีพจึงจะเป็นผู้ตรวจสอบอาคารได้โดยสมบูรณ์ [3]

ทั้งนี้ขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าว ทั้งการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร การกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบอาคาร หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอน และหลักเกณฑ์การตรวจสอบ พ.ศ. 2548 ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมพ.ศ. 2548 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่เกิดวิชาชีพผู้ตรวจสอบอาคารขึ้น

ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 8 (14) [1] ได้กำหนดให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะ และลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจสอบอาคาร ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งผู้ตรวจสอบอาคารจะต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายควบคุมอาคาร

ปัจจุบัน คณะกรรมการควบคุมอาคาร ได้กำหนดให้ผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร จะต้องเข้ารับการอบรมโดยสถาบันซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมโยธาธิการ โดยแบ่งการอบรมเป็นภาคทฤษฎีจำนวน 33 ชั่วโมง และภาคการปฏิบัติจำนวน 12 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 45 ชั่วโมง และจะต้องมีการทดสอบความรู้ความสามารถของผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ [4] ซึ่งคณะกรรมการควบคุมอาคารมีแนวความคิดให้สภาวิศวกร และ / หรือ สภาสถาปนิก เป็นหน่วยงานกลางที่ดำเนินการดูแลเรื่องการจัดสอบ และส่งผลการทดสอบให้กรมโยธาธิการเพื่อดำเนินการออกใบอนุญาตผู้ตรวจสอบอาคารต่อไป ซึ่งสภาวิศวกรได้ทำหนังสือตอบรับยินดีจะเป็นหน่วยงานกลางเพื่อดำเนินการดังกล่าว [5]

และล่าสุด กฎกระทรวงมหาดไทย [6] ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบอาคาร ติดตั้งและตรวจสอบอุปกรณ์ประกอบของอาคาร ซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (15) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมาย และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้กฎกระทรวงทั้งสองฉบับได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา

อาคารที่ต้องทำการตรวจสอบอาคาร[แก้]

อาคารที่เข้าข่ายต้องทำการตรวจสอบอาคารตาม พรบ.ควบคุมอาคาร มีทั้งหมด 9 ประเภท ได้แก่ [1]

  • อาคารสูง (อาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือใช้สอยได้ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพท้นดาดฟ้า สำหรับอาคารจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของ ชั้นสูงสุด)
  • อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้พื้นที่อาคารหรือส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่ อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่หนึ่งหมื่นตารางเมตรขึ้นไป)
  • อาคาร ชุมชนคน (อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่บุคคลอาจเข้าไปภายในเพื่อใช้ประโยชน์ในการ ชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่หนึ่งพันตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป)
  • โรงมหรสพ (อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นที่สำหรับฉายภาพยนตร์ แสดงละคร แสดงดนตรี หรือการแสดงรื่นเริงอื่นใด และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าชมการแสดงนั้นเป็นปกติธุระ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม)
  • โรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่แปดสิบห้องขึ้นไป
  • อาคาร ชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม (อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำกรับหลายครอบ ครัว โดยแบ่งออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัว) ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป

สำหรับอาคารชุด และอาคารอยู่อาศัยรวมที่ไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษจะได้รับการผ่อนผันการตรวจสอบคือ - กรณีที่มีพื้นที่อาคารรวมกันในหลังเดียวกันไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ทำการตรวจสอบและส่งผลการตรวจสอบก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2555 - กรณีที่มีพื้นที่อาคารรวมกันเกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ทำการตรวจสอบและส่งผลการตรวจสอบก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2553

  • อาคารโรงงานที่สูงกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป
  • ป้าย สูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป
  • สถานบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป

ทั้งนี้อาคารทั้ง 9 ประเภท (เว้นแต่อาคารตามข้อ 6 ที่ไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ) ต้องถูกตรวจสอบและส่งรายงานการตรวจสอบก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2550 สำหรับกรณีพื้นที่นอกเขตควบคุมอาคาร (พื้นที่ที่ยังไม่มีการประกาศพระราชกษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือพื้นที่นอกเขตผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง) อาคารที่ต้องทำการตรวจสอบมี 4 ประเภท ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน และโรงมหรสพ

ประเภทของการตรวจสอบอาคาร[แก้]

  • การตรวจสอบใหญ่ กระทำทุก 5 ปี กำหนดให้การตรวจสอบครั้งแรก เป็นการตรวจสอบใหญ่ และกระทำทุก 5 ปี
  • การตรวจสอบประจำปี ซึ่งเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารโดยผู้ตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี มิให้ขาด

หน้าที่รับผิดชอบ ในการตรวจสอบอาคาร แบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

  1. หน้าที่ของผู้ตรวจสอบอาคาร
  2. หน้าที่ของเจ้าของอาคาร หรือ ผู้จัดการ นิติบุคคล
  3. หน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น

หน้าที่ของ ผู้ตรวจสอบอาคาร

  • ทำการตรวจสอบสภาพอาคาร และ อุปกรณ์ประกอบ ตามแผนบริหารจัดการ ของผู้ตรวจสอบ
  • จัดทำรายงานผลการตรวจสอบสภาพอาคาร และ อุปกรณ์ประกอบ ให้แก่เจ้าของอาคาร
  • หากพบว่ามีบางรายการ ไม่ผ่านเกณฑ์ ให้จัดทำข้อ เสนอแนะ และแนวทางการปรับปรุงแก้ไข แก่เจ้า ของอาคาร

หน้าที่ของเจ้าของอาคาร หรือ ผู้จัดการนิติบุคคล

  • จัดหา หรือ จัดทำแบบแปลนการตรวจสอบอาคาร และอุปกรณ์ ประกอบอาคารทุกรายการที่ต้องตรวจสอบ
  • เสนอรายงานผลการตรวจสอบ ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปี โดยเสนอภายใน 30 วัน ก่อนใบรับรองการตรวจสอบฉบับเดิมครบกำหนด
  • ให้แสดงใบรับรองการตรวจสอบอาคารติดไว้ในที่เปิดเผยที่เห็นได้ง่าย
  • จัดให้มีการตรวจและทดสอบระบบโดยละเอียดตามแผนที่กำหนด
  • จัดให้มีการบันทึกข้อมูลการตรวจบำรุงรักษาตามช่วงเวลาที่กำหนด
  • จัดให้มีการทดสอบสมรรถนะระบบความปลอดภัย การซ้อมหนีไฟ การบริหารจัดการความปลอดภัย และ อบรมพนักงาน

หน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น

  • เมื่อได้รับรายงานแล้ว ให้แจ้งเจ้าของอาคารทราบถึง ผลการพิจารณา ใน 30 วัน นับแต่วันได้รับรายงาน ผลการตรวจสอบ
  • ในกรณีที่เห็นว่าอาคารดังกล่าว ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือตามมาตรฐาน และมีความปลอดภัยในการใช้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น ออกใบรับรองการตรวจอาคาร ให้แก่เจ้าของอาคาร โดยไม่ชักช้า โดยไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ

สภาวิชาชีพและสมาคมวิชาชีพ[แก้]

  • สภาวิชาชีพผู้ตรวจสอบอาคาร เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ การมีสภาวิชาชีพเพื่อเป็นการควบคุมการประกอบวิชาชีพของผู้ที่ประกอบวิชาชีพผู้ตรวจสอบอาคาร หรือลงโทษในกรณีที่ทำผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างร้ายแรง ซึ่งขณะนี้สภาวิชาชีพผู้ตรวจสอบอาคารอยู่ในระหว่างการจัดตั้ง
  • สมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร เป็นที่รวมกันของผู้ประกอบวิชาชีพตรวจสอบอาคาร โดยผู้ที่เป็นสมาชิกของสมาคมจะได้รับข่าวสาร การพัฒนาความรู้ และเป็นศูนย์รวมผู้ประกอบวิชาชีพนี้ในประเทศไทย

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522[ลิงก์เสีย]
  2. กรมโยธาธิการและผังเมือง, รายละเอียดการตรวจสอบป้าย (คู่มือการตรวจสอบใหญ่) สำหรับผู้ตรวจสอบอาคาร
  3. กรมการประกันภัย, ผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารต้องจัดทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย ที่เกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน การตรวจสอบตามกฎหมาย ในฐานะผู้ตรวจสอบอาคาร[ลิงก์เสีย]
  4. "กรมโยธาธิการและผังเมือง, ข้อกำหนดมาตรฐานสำหรับการอบรมผู้ตรวจสอบอาคาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-02. สืบค้นเมื่อ 2009-05-28.
  5. รายละเอียดการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง[ลิงก์เสีย]
  6. กฎกระทรวงเกี่ยวกับผู้ตรวจสอบอาคาร[ลิงก์เสีย]