ผะหมี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผะหมี เป็นการละเล่นปริศนาคำทายอย่างหนึ่ง เดิมเข้าใจว่าเป็นการละเล่นในหมู่ชาวจีนมาก่อน [1] ซึ่งถือเป็นการเล่นประลองปัญญาและฝึกสมองในหมู่นักปราชญ์และกวีชาวจีน นำมาเผยแพร่ในประเทศไทย คำว่า ผะหมี มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ผะ (拍) แปลว่า ตี ส่วน หมี (謎/谜) แปลว่า ปริศนา ดังนั้นคำว่า ผะหมี จึงแปลว่า การตีปริศนา [2]

ภายหลังคนไทยได้นำมาประยุกต์ถามปริศนาแบบไทย เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ฐานันดรศักดิ์ของรัชกาลที่ 6 ในขณะนั้น) ทรงพระราชนิพนธ์ปริศนาให้ข้าราชบริพารเป็นการภายในส่วนพระองค์ [3] โดยปริศนาที่ใช้ถามจะเขียนด้วยคำประพันธ์ไทยเช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และคำตอบของปริศนา (หรือเรียกว่าธง) จะมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบต่าง ๆ มีการเล่นอย่างแพร่หลายในกรุงเทพมหานคร และแพร่ไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่น ชลบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ โดยในจังหวัดชลบุรีจะเรียกผะหมีว่า โจ๊ก

การทายปริศนา[แก้]

ปริศนาผะหมีมีหลายลักษณะดังนี้

  1. ปริศนาผะหมีภาพ เป็นการใช้ภาพตั้งเป็นปริศนา เช่น ในภาพมีรูปปลาอยู่สองตัว คำตอบคือปลาทู (สองภาษาอังกฤษว่าทู) หรือ รูปปลามีส้มอยู่ข้าง ๆ ธงของปริศนานี้คือปลาส้ม ฯลฯ
  2. ปริศนาผะหมีคำตัดต่อ คำตอบของปริศนาจะมีการเพิ่มหรือตัดคำ หรือสลับตัวอักษร เช่น ขนม ตัดตัวหน้าเป็น นม ตัดตัวหลังเป็น ขน เป็นต้น
  3. ปริศนาผะหมีคำเดี่ยว เป็นปริศนาผะหมีที่ธงหรือคำตอบของปริศนาเป็นคำ ๆ เดียว เช่น ก๊ก กุ๊ก เก๊ก กั๊ก เป็นต้น
  4. ปริศนาผะหมีคำผัน คำตอบของปริศนาจะผันตามเสียงวรรณยุกต์ เช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า เป็นต้น
  5. ปริศนาผะหมีพ้องหน้า คำตอบของปริศนาจะพ้องคำหน้ากัน เช่น แม่น้ำ แม่ทัพ แม่มด แม่บ้าน เป็นต้น
  6. ปริศนาผะหมีพ้องกลาง คำตอบของปริศนานั้นคำกลางจะพ้องกัน เช่น นกสองหัว หมาสองราง ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย เป็นต้น
  7. ปริศนาผะหมีพ้องหลัง คำตอบของปริศนาจะพ้องคำหลังกัน เช่น แม่น้ำ ลูกน้ำ ม้าน้ำ ตาน้ำ เป็นต้น
  8. ปริศนาผะหมีพันหลักหรือลูกโซ่ คำตอบจะมีความเกี่ยวเนื่องกับคำตอบก่อนหน้า เช่น กอไก่ ไก่ฟ้า ฟ้าแลบ แลบลิ้น ลิ้นชัก เป็นต้น
  9. ปริศนาผะหมีคำผวน คำตอบของปริศนาจะเป็นคำผวน เช่น นาช้ำ (น้ำชา) นาก๊ก (นกกา) นาไต (นัยน์ตา) นาทริด (นิทรา) เป็นต้น
  10. ปริศนาผะหมีสุภาษิต คำพังเพย คำตอบเมื่อนำมารวมกันแล้วจะเป็นสำนวนโวหารต่าง ๆ เช่น จับ ปลา สอง มือ; เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น

โจ๊ก[แก้]

โจ๊กเป็นการละเล่นพื้นบ้านในบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา เป็นการตั้งปริศนาคำทายร้อยกรอง ที่พัฒนามาจากผะหมีและโคลงทาย โดยมีผู้ช่วยทำหน้าที่ช่วยแจกของรางวัลและปลดแผ่นปริศนา ผู้ช่วยนี้จะแต่งกายและทำท่าทางตลก เรียกว่าตัวโจ๊ก ส่วนกลุ่มผู้บอกปริศนาคำทายเรียกว่านายโจ๊ก การเล่นทายโจ๊ก นิยมเล่นในงานศพ หรือเป็นกิจกรรมยามดึกสำหรับเจ้าภาพและผู้อยู่เป็นเพื่อนศพ ปัจจุบัน การทายโจ๊กในงานศพลดลง แต่นำมาเล่นในงานบุญต่าง ๆ แทน เช่น งานบุญกลางบ้านของอำเภอพนัสนิคม งานประเพณีวิ่งควายและงานกาชาดประจำปีของจังหวัดชลบุรีเป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. สุรีย์ ไวย์กุฬา. ความเป็นมาของผะหมี. สืบค้นวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  2. เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. พจนานุกรม จีน-ไทย. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น, 2541. ISBN 978-974-246-307-6
  3. ประวัติความเป็นมาของการเล่นผะหมี เก็บถาวร 2009-02-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากโรงเรียนบางบ่อวิทยาคม
  • ศิริพร ภักดีผาสุข. ปริศนาคำทาย: ภูมิปัญญาทางภาษาและการผสมผสานทางวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ ใน เพลง ดนตรี ปริศนา ผ้าทอ: ภูมิปัญญาทางด้านการละเล่นและการช่าง. กรุงเทพฯ. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2548. หน้า 13 - 50.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]