เปรียญธรรม 4 ประโยค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ป.ธ. 4)
ในภาพ:หนังสือมงคลัตถทีปนี จัดพิมพ์โดยมหามกุฏราชวิทยาลัย หลักสูตรเปรียญธรรม 4 ประโยค

เปรียญธรรม 4 ประโยค (ชื่อย่อ ป.ธ.4) เป็นระดับชั้นการศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย เรียกผู้สอบผ่านในชั้นนี้ว่า เปรียญโท กระทรวงศึกษาธิการเทียบวุฒิผู้สอบได้ในชั้นนี้ให้เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนต้น[1]

หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมบาลีในชั้นเปรียญธรรม 4 ประโยค[แก้]

ในชั้นนี้ แม่กองบาลีสนามหลวง กำหนดวิชาในการศึกษาไว้ 2 วิชา คือ

วิชาแปลมคธเป็นไทย (วิชาแปล)[แก้]

  • วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้หนังสือ มงฺคลตฺถทีปนี (ปฐม ภาโค - ภาคหนึ่ง) [2]

ประวัติหนังสือ มงฺคลตฺถทีปนี[แก้]

หนังสือมังคลัตถทีปนี เป็นคัมภีร์ชั้นฎีกา อธิบายความในมงคลสูตรที่มาในพระไตรปิฎก[3][4] โดยมงคลสูตรเป็นคำสอนประเภทเนยยะ คือมีข้อความเป็นร้อยแก้ว ผสมร้อยกรอง

ผู้รจนาคัมภีร์มังคัลตถทีปนี คือ พระสิริมังคลาจารย์[5] พระภิกษุชาวเมืองเชียงใหม่ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 ผลงานของท่านจากหลักฐานแสดงประวัติ มีอยู่สี่เรื่องคือ เวสสันดรทีปนี จักกวาฬทีปนี สังขยาปกาสกฎีกา มังคลัตถทีปนี

ประวัติของท่านปรากฏอยู่ในตอนท้ายผลงานของท่าน มีใจความว่า เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มีศรัทธาความรู้ปรารถนาให้ตนและผู้อื่นมีความรู้ ได้รจนาคัมภีร์เวสสันตรทีปนี จักกวาฬทีปนี สังขยาปกาสกฎีกา ขณะพักอยู่ที่วัดสวนขวัญ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระสิงห์วรมหาวิหารในเมืองเชียงใหม่ และรจนามังคลัตถทีปนีในขณะที่พักอยู่ที่สุญญาคาร ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ 1 คาวุต ในช่วงปี พ.ศ. 2060 - พ.ศ. 2067 ในสมัยของท้าวลก เข้านครเชียงใหม่ อันเป็นนครที่มีความเจริญอย่างยิ่ง ผู้มีพระราชศรัทธาล้ำเลิศ ปรารถนาพระสัพพัญมุตญาณเลื่อมในในพระพุทธศาสนา

ช่วงเวลาการรจนา ผลงานดังกล่าวอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราชหรือพระเมืองแก้ว [6]

วิชาแปลไทยเป็นมคธ (วิชาแต่ง)[แก้]

ปกหนังสืออันเป็นที่คุ้นตาของนักเรียนบาลี "ธมฺมปทฏฐกถา" หนึ่งในหลักสูตรวิชาแปลมคธเป็นไทยในชั้นประโยค 1-2 และ วิชาแต่งไทยเป็นมคธในชั้น เปรียญธรรม 4 ประโยค จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วิชาแปลไทยเป็นมคธในชั้น ป.ธ. 4 นี้ ใช้หนังสือ ธัมมปทัฏฐกถา ภาคที่ 1

  • ธัมมปทัฏฐกถา (ปฐโม ภาโค - ภาคหนึ่ง)

ในชั้นนี้ผู้เรียนบาลีต้องศึกษาวิธีการเแต่งภาษาไทยเป็นภาษาบาลีโดยใช้หนังสือ อรรถกถาธรรมบทแปล ภาค 1 (ธัมมปทัฏฐกถา ภาษาไทย) เพื่อฝึกแปลเป็นภาษามคธ

หลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิ์สอบไล่ในชั้นเปรียญธรรม 4 ประโยค[แก้]

ระดับเปรียญธรรม 4 ประโยค เรียกว่า เปรียญโท คือ ผู้ที่จะมีสิทธิสอบเปรียญธรรม 4 ประโยคขึ้นไป จะต้องสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และนักธรรมชั้นโทก่อน

ผู้สอบไล่ได้เปรียญธรรม 4 ประโยค[แก้]

พระภิกษุสามเณรผู้สอบไล่ได้ในชั้นนี้จะได้รับประกาศนียบัตร เลขพัดเปรียญ มีสมณศักดิ์อันดับในงานพระราชพิธี - รัฐพิธี เหนือกว่า พระปลัดของพระราชาคณะ ชั้นสามัญ [7]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2527". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-18. สืบค้นเมื่อ 2007-08-18.
  2. หนังสือหมวดเปรียญธรรม ประโยค 1 ถึง 9
  3. พระไตรปิฎก เล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย ขุททกปาฐมงคลสูตร. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  4. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐมงคลสูตร. อรรถกถาพระไตรปิฎก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  5. พระสิริมังคลาจารย์. มงคลทีปนี. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2540
  6. "การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สมัยปัจจุบัน จากหอมรดกไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-15. สืบค้นเมื่อ 2007-05-04.
  7. ลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญในงานพระราชพิธี - รัฐพิธี

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
สนามหลวงแผนกบาลี เปรียญธรรม
เปรียญตรี
เปรียญโท
เปรียญเอก