เปรียญธรรม 3 ประโยค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ป.ธ. 3)

เปรียญธรรม 3 ประโยค (ชื่อย่อ ป.ธ.3) เป็นระดับชั้นการศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย เรียกพระภิกษุผู้สอบไล่ได้ในชั้นนี้ว่า "พระมหา" และสามเณรว่า "สามเณรเปรียญ" กระทรวงศึกษาธิการเทียบวุฒิผู้สอบได้ในชั้นนี้ให้เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนต้น[1] คณะสงฆ์ เคยมีการขอให้ปรับวุฒิผู้สอบไล่ได้ชั้นนี้ ให้เทียบเท่าระดับอุดมศึกษา แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้เกี่ยวข้อง แต่เปรียญธรรม 3 ประโยค ก็ยังเป็นที่นับถือกันโดยพฤตินัยในวงการคณะสงฆ์ไทยว่าผู้สอบได้ในชั้นนี้เป็น "ปริญญาตรี" ของฝ่ายคณะสงฆ์ หรือเปรียบได้กับคฤหัสถ์ผู้สอบไล่ได้ปริญญาบัณฑิตของฝ่ายฆราวาส โดยผู้สอบได้ในชั้นนี้จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ โปรดฯ ทรงตั้งให้เป็นเปรียญ ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตร พัดเปรียญธรรม 3 ประโยค

การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในชั้น "เปรียญธรรม 3 ประโยค" นั้น แบ่ง รายวิชาที่สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงกำหนดให้พระภิกษุสามเณรสอบไล่เพื่อผ่านในชั้นนี้ได้เป็น 4 วิชา คือวิชาไวยากรณ์, วิชาแปลมคธเป็นไทย, วิชาสัมพันธ์ไทย และวิชาบุรพภาค [2]

หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมบาลีในชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค[แก้]

ในชั้นนี้ แม่กองบาลีสนามหลวง กำหนดวิชาในการศึกษาไว้ 4 วิชา คือ

วิชาบาลีไวยากรณ์[แก้]

ใช้หนังสือบาลีไวยากรณ์ 4 เล่ม ในชั้นประโยค 1 - 2 [2]

การสอบไล่ประเภทสอบถามความจำและความเข้าใจประกอบกัน 7 ข้อ

วิชาแปลมคธเป็นไทย[แก้]

วิชาแปลมคธเป็นไทย คือ วิชาแปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทย โดยในชั้นนี้กำหนดเป็น แปลโดยพยัญชนะและอรรถ ให้ฝึกการแปลภาษาบาลีจากหนังสือ อรรถกถาธรรมบท (ธมฺมปทฏฐกถา)[3]

การศึกษาวิชาแปลมคธเป็นไทย[แก้]

ปกหนังสืออันเป็นที่คุ้นตาของนักเรียนบาลี "ธมฺมปทฏฐกถา สตฺตโม ภาโค" หนึ่งในหลักสูตรวิชาแปลมคธเป็นไทยในชั้นประโยค ป.ธ. 3 และ วิชาแต่งไทยเป็นมคธในชั้น เปรียญธรรม 6 ประโยค

ใช้หนังสืออรรถกถาธรรมบท 4 เล่ม คือ [4]

  • ธมฺมปทฏฺฐกถา (ปญฺจโม ภาโค - ภาคห้า)
  • ธมฺมปทฏฺฐกถา (ฉฏฺโฐ ภาโค - ภาคหก)
  • ธมฺมปทฏฺฐกถา (สตฺตโม ภาโค - ภาคเจ็ด)
  • ธมฺมปทฏฺฐกถา (อฏฺฐโม ภาโค - ภาคแปด)

การสอบไล่วิชาแปลมคธเป็นไทย[แก้]

แบ่งข้อสอบในวิชานี้ออกเป็น 2 ชั้นคือ

  • แปลโดยอรรถะ

การตรวจข้อสอบ กำหนดจากเกณฑ์การทำข้อสอบผิด หากผิดมากกว่า 12 คะแนนขึ้นไป ถือว่าตกในวิชานี้

  • ผิดศัพท์ แปลผิดคำศัพท์ ปรับผิด 1 คะแนน
  • ผิดสัมพันธ์ ปรับผิด 2 คะแนน
  • ผิดประโยค แปลเรียงรูปประโยคผิด ประธานและกรรมไม่สอดคล้องกัน ปรับผิด 6 คะแนน (หากผิด 2 ประโยค ถือว่าตก) [5]

วิชาสัมพันธ์ไทย[แก้]

ประกาศนียบัตรตั้งเปรียญธรรม 3 ประโยค ปี พ.ศ. 2453

การศึกษาวิชาสัมพันธ์ไทย[แก้]

ใช้หนังสือธัมมปทัฏฐกถา 4 เล่ม เหมือนวิชาแปลมคธเป็นไทย

การสอบไล่วิชาสัมพันธ์ไทย[แก้]

วิชาสัมพันธ์ไทยมีข้อสอบข้อเดียว ให้ผู้สอบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแต่ละศัพท์ในประโยค

การตรวจข้อสอบ ใช้เกณฑ์เดียวกับการสอบวิชาแปลมคธเป็นไทย

วิชาบุรพภาค[แก้]

ไม่มีหนังสือใช้เป็นหลักสูตรที่แน่นอน ส่วนมากจะเป็นข้อเขียนภาษาไทย ให้เรียงรูปแบบการเขียนจดหมายราชการ หรือประกาศ และให้สะกดศัพท์ภาษาไทยให้ถูกต้อง


หลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิ์สอบไล่ในชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค[แก้]

พระภิกษุสามเณรที่มีสิทธิ์สอบไล่ในชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยคนี้ ต้องสอบไล่ได้ ประโยค 1-2 และต้องสอบไล่ได้ นักธรรมตรี ก่อนจึงจะมีสิทธิ์สอบไล่ในชั้นนี้ได้


ผู้สอบไล่ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค[แก้]

พระภิกษุสามเณรผู้สอบไล่ได้ในชั้นนี้จะได้รับประกาศนียบัตร พระราชทานพัดยศเปรียญธรรม ทรงตั้งเป็น "เปรียญ" เมื่อผ่านการทรงตั้งแล้วถ้าเป็นพระภิกษุจะมีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าชื่อว่า "พระมหา" ถ้าเป็นสามเณร สามารถใช้คำต่อท้ายนามสกุลว่า "เปรียญ."

การตั้งเปรียญเป็นสมณศักดิ์เกี่ยวกับความรู้ สมณศักดิ์ประเภทนี้ทรงตั้งถวายเฉพาะพระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรมตั้งแต่ 3-9 ประโยค เรียกว่า ‘ทรงตั้งเปรียญ’ แต่ละประโยคมีเลขพัดยศกำกับ พระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไปจะทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้ง โดยประทานประกาศนียบัตร พัดยศ ชื่อว่า ทรงตั้งแล้ว ส่วนผู้สอบได้ประโยค ป.ธ. 6 ถึงประโยค ป.ธ. 9 จะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศ และไตรจีวรด้วยพระองค์เอง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม [6]

ลักษณะพัดยศเปรียญธรรม 3 ประโยค เป็นพัดหน้านางประโยค ป.ธ.3 -ป.ธ.5 พื้นสักหลาดสีแดง ปักดิ้นเลื่อมมีเลขประโยค อยู่ตรงกลาง[7]

อนึ่ง สมณศักดิ์อันดับในงานพระราชพิธี - รัฐพิธี เหนือกว่า พระครูรองคู่สวด , พระครูสังฆรักษ์ , พระครูสมุห์ , พระครูใบฎีกา , พระวินัยธร , พระธรรมธร ,พระสมุห์, พระใบฎีกา, พระพิธีธรรม แต่ต่ำกว่า พระปลัด ฐานานุกรม ใน พระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าคณะจังหวัด และ เจ้าคณะอำเภอ.

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. [http://www.gongtham.net/my_data/mydata_law/index_mydata_law.htm กฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2548]
  2. 2.0 2.1 "การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สมัยปัจจุบัน จากหอมรดกไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-15. สืบค้นเมื่อ 2007-05-03.
  3. คณะกรรมการแผนกตำรา. มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระธัมมปทัฏฐกถาแปลภาค 1-8. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2528.
  4. หนังสือหมวดเปรียญธรรม ประโยค 1 ถึง 9
  5. ตัวอย่างปัญหา-เฉลยบาลีสนามหลวง ประโยค 1-2 - ป.ธ.5 ปี 2550
  6. การประกอบพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม 3 ประโยค
  7. ลักษณะพัดยศเปรียญธรรม 3-5 ประโยค

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
สนามหลวงแผนกบาลี เปรียญธรรม
เปรียญตรี
เปรียญโท
เปรียญเอก