ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2476)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปู่โสมเฝ้าทรัพย์
กำกับขุนวิจิตรมาตรา
เขียนบทขุนวิจิตรมาตรา
อำนวยการสร้างมานิต วสุวัต
นักแสดงนำเสน่ห์ นิลพันธ์
ปลอบ ผลาชีวะ
มณี มุญจนานนท์
องุ่น เครือพันธ์
กำกับภาพหลวงกลการเจนจิต
ตัดต่อกระเศียร วสุวัต
ดนตรีประกอบเรือโท มานิต เสนะวีณิน (ทำนอง)
ขุนวิจิตรมาตรา (คำร้อง)
บริษัทผู้สร้าง
วันฉายพ.ศ. 2476
ประเทศไทย
ภาษาไทย

ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ เป็นภาพยนตร์ไทย แนวสยองขวัญ-ผจญภัย ดัดแปลงจากนิทานปรัมปราเกี่ยวกับวิญญาณชายชราผู้มีหน้าที่เฝ้าขุมสมบัติโบราณ

ถ่ายทำระบบ 35 มม. ไวด์สกรีน ขาวดำ ซาวออนฟิล์ม ในนาม ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง แบบวสุวัต พ.ศ. 2476

เรื่องย่อ[แก้]

การผจญภัยตื่นเต้นโลดโผนของพระเอก (เสน่ห์ นิลพันธ์) กับนักวิทยาศาสตร์ (ปลอบ ผลาชีวะ) และสองสหายสาว ที่พบขุมสมบัติโบราณซึ่งมีวิญญาณปู่โสมและบริวารรวมทั้งฝูงงูพิษเฝ้าพิทักษ์รักษา [1]

งานสร้าง[แก้]

เมื่อศรีกรุงสร้างเครื่องถ่ายแบบฟิล์มคู่ (Double System) แบบที่เริ่มใช้ในโรงถ่ายของฮอลลีวู้ด ซึ่งมีกล้องถ่ายเสียงแยกต่างหาก เดินพร้อมกับกล้องภาพด้วยเครื่องไฟฟ้า หลังจากทดลองเป็นผลสำเร็จ เรียกชื่อว่า แบบวสุวัต แล้วได้นำมาใช้ถ่ายทำเรื่องใหม่ที่เตรียมไว้ทันที ขณะนั้นหนังผีหรือวิทยาศาสตร์สยองขวัญ เช่น แฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) ของฝรั่งกำลังได้รับความนิยม เพราะความสนุกแปลกใหม่ ศรีกรุงจึงนำนิทานผีไทยมาดัดแปลงให้ทันสมัยขึ้นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของสังคมหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยริเริ่มให้นักแสดงแต่งตัวแนวสากลนิยมรวมถึงชุดเดินป่าใส่รองเท้าบูท และมีเพลงไทยแนวสากลประกอบเรื่องครั้งแรก (จังหวะรัมบ้า) แทนเพลงไทยเดิมที่เคยใช้ในเรื่อง หลงทาง ก่อนหน้า[2]

มีการใช้ ทริค (Trick) ฉากพระเอกและชาวบ้านสู้กับผีดิบ อีกฉากหนึ่งที่พระเอกต้องเผชิญงูจงอางขนาดใหญ่แผ่พังพานสูงกว่าศีรษะ งูฉกขาตั้งกล้องใหญ่ล้มกระเด็นถึง 2-3 ครั้ง ฉากพระเอกตกลงในบ่อขุมทรัพย์ที่ล้อมรอบด้วยงูเห่าชูคอแผ่พังพานสลอน โดยนายแพทย์สถานเสาวภาคุมตลอด

ฉากพระเอกขับรถคุยกับนางเอก ใช้ถนนราชดำริ (ข้างสนามม้าและสวนลุมพินีในปัจจุบัน) ซึ่งสมัยนั้นเป็นเพียงทางราดยางแคบๆ มีไม้ใหญ่สองข้างทางตัดผ่านทุ่งและสุมทุมพุ่มไม้ ไม่ค่อยมีเสียงอื่นรบกวนเหมาะสำหรับการถ่ายทำหนังเสียง กองถ่ายต้องถอดเครื่องอัดเสียงและกล้องจากโรงถ่ายมาติดตั้งในรถบรรทุกวิ่งนำหน้า ติด ไมโครโฟนไว้ที่รถตัวแสดงแล้วโยงสายไฟมาที่รถบรรทุกตลอดทาง ถ่ายเสร็จก็ถอดอุปกรณ์ต่างๆไปติดตั้งคืนที่เดิมในห้องอัดเสียงของโรงถ่าย วันหลังจะถ่ายต่อก็ถอดเอามาใส่รถบรรทุกใหม่ (ตอนนั้นศรีกรุงยังไม่มีรถอัดเสียงใช้)[3]

นอกจากนี้ยังมีการทดลองถ่ายฉากลานตึกตอนกลางวันและฉากสวนที่บ้านสะพานขาวตอนกลางคืนด้วยฟิล์มและล้างน้ำยาพิเศษให้ออกสีได้ ซึ่งเพิ่งเริ่มมีในหนังต่างประเทศ แต่ไม่นิยมเพราะต้องลงทุนสูงกว่าหนังขาวดำถึงเท่าตัวและสียังไม่ดี ต้องพัฒนาอีกมาก

ฉายพร้อมกันที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง และ โรงภาพยนตร์พัฒนากร เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2476 ก่อนฉายทีมงานคิดริเริ่มให้มีการโชว์ตัวนางเอกทั้งคู่ร้องเพลงในเรื่องบนเวทีทุกรอบเป็นครั้งแรกของวงการด้วย ผลปรากฏว่าคนดูแน่นเป็นประวัติการณ์ จนรั้วเหล็กของเฉลิมกรุงด้านถนนเจริญกรุงพังทั้งแถบ ส่วนโรงพัฒนากร ประตูใหญ่ของโรงหลุดจากฝาผนัง ล้มลงมาทั้งกรอบ [4]

สถานที่ถ่ายทำ[แก้]

  • โรงถ่ายบ้านสะพานขาว ฉากภายในห้อง กระท่อม สวน/ป่าตอนกลางคืน
  • บริเวณวังเพ็ชรบูรณ์ ฉากป่าตอนกลางวัน
  • ตึกสร้างใหม่แถววัฒนาวิทยาลัย ฉากลานบ้านของตึกร้าง
  • ถนนราชดำริ ฉากพระเอกขับรถคุยกับนางเอก

เพลง[แก้]

  • (ลาที) กล้วยไม้ (มณี - องุ่น)

เพลงต้นฉบับ บันทึกลงแผ่นเสียงครั่ง 78 [5] ต่อมาบันทึกใหม่โดย จินตนา สุขสถิตย์ [6]

อ้างอิง[แก้]

  1. ขุนวิจิตรมาตรา ,หน้า 224
  2. กาญจนาคพันธุ์ หน้า 115-116
  3. กาญจนาคพันธุ์,หน้า 91
  4. กาญจนาคพันธุ์ หน้า 52-53,115-116
  5. รายการเพื่อนฝัน สวท 891
  6. ซีดี ลิขสิทธิ์ของมูลนิธิขุนวิจิตรมาตรา