ปีเตอร์ ยี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปีเตอร์ ยี
(Peter Yee)
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด29 ธันวาคม พ.ศ. 2507 (59 ปี)
อาชีพนักมายากล นักแสดง นักประดิษฐ์ โปรดิวเซอร์
ปีที่แสดงพ.ศ. 2521 – ปัจจุบัน

ปีเตอร์ ยี (อังกฤษ: Peter Yee) เป็นทั้งนักมายากล นักคิด นักประดิษฐ์ และนักออกแบบอุปกรณ์มายากลชาวไทย ได้รับการยกย่องจากวงการกลว่าเป็นบุคคลที่มีทักษะและความชำนาญในศาสตร์มายากลระดับสูง และจัดเป็นบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดคนหนึ่งในวงการมายากล[1]

ประวัติ[แก้]

ปีเตอร์ ยี เกิดในครอบครัวของชาวจีน ย่านเยาวราช มีพี่น้องทั้งหมด 10 คน เขาเป็นลูกคนที่ 8 บิดาทำงานเป็นนักดนตรีในโรงละครงิ้ว มารดาเป็นแม่บ้านในยุคเสื่อผื่นหมอนใบ เขามีความรักและความชอบในด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทั้งวาด เขียน ออกแบบ งานประดิษฐ์ งานไม้ เป็นต้น

ปี พ.ศ. 2513 เมื่ออายุได้ 6 ขวบ ขณะที่ปีเตอร์นั่งดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน เป็นภาพเคลื่อนไหวขาวดำของชายหนุ่มวัยกลางคนกำลังแสดงมายากล เขาหลงใหลในศิลปะมายากลทันที แต่ด้วยความว่ายังเด็กมากในเวลานั้น เขาไม่รู้ว่า สิ่งที่เขาหลงใหลนั้นเรียกว่า มายากล[2]

ในปี พ.ศ. 2514 ขณะที่ปีเตอร์ อายุ 7 ขวบ ก็ได้ดูมายากลด้วยความบังเอิญในรายการโทรทัศน์อีกครั้งหนึ่ง จากรายการ บันไดดารา และ ป็อบท็อบ (Pop Top) โดย พ.อ.การุณ เก่งระดมยิง เป็นพิธีกร ปีเตอร์ได้รู้แล้วว่า สิ่งที่เขาชื่นชอบมาตลอดระยะเวลา 1 ปี เรียกว่า “มายากล” และตัดสินใจอยากเป็นนักมายากลทันที โดยเริ่มจากการหาตำราสอนเล่นมายากลมาอ่าน ในที่สุดมายากลชุดแรกที่เขาเล่นได้สำเร็จจากตำราสอนกลคือ “การเสกเหรียญหาย (French drop)”[3]

เริ่มต้นสู่อาชีพนักมายากล[แก้]

ปีเตอร์ฝึกฝนเล่นมายากลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2518 ปีเตอร์ ยี อายุได้ 11 ปี ได้พบกับสมชัย เมธเมาลี บรรณาธิการนิตยสารมายากลในขณะนั้น และได้ถูกชักชวนเข้าร่วมงานในฐานะฝ่ายขายอุปกรณ์มายากล ปีเตอร์ก็เริ่มหารายได้เองนับแต่นั้น และพัฒนาฝีมือขึ้นเรื่อย ๆ[4][5]จนขณะนี้ได้เสียชีวิตเเล้ว

ผลงานที่ผ่านมา[แก้]

พ.ศ. 2522 ภาพนิ่งประชาสัมพันธ์งานแสดงมายากลตามร้านอาหารต่างๆของปีเตอร์ ยี

พ.ศ. 2521 อายุ 14 ปี เริ่มรับงานแสดงอย่างเต็มตัวตลอดมา ปีเตอร์ ยี เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Student Weekly เครือ Bangkok Post[6] ว่า “ในชีวิตไม่เคยฝันที่อยากจะทำอย่างอื่นเลย นอกจาก แสดงมายากล” เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี อ.ปีเตอร์ได้สั่งสมประสบการณ์ เขาทั้งฝึกซ้อมโดยไม่มีวันหยุด และคิดงานแสดงใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังทำให้เขาได้กลายเป็น “นักแสดง” “นักคิด” “นักประดิษฐ์” มายากลที่มีฝีมือคนหนึ่งของวงการ[7] และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ เฉลิมสวรรค์ ไพบูลย์พันธ์ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ฟิลิป) และนักมายากลที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน[8][9][10]

พ.ศ. 2533 ปีเตอร์ ยี ถูกแนะนำเข้ามาทำงานเบื้องหลังในฐานะผู้ฝึกสอนมายากลให้กับ เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ชุดโฆษณาฟิล์มสีฟูจิ รอบสื่อมวลชน ณ ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว [11]

พ.ศ. 2542 ได้รับพระโอกาสจากเชคคอลีฟะห์ อิบน์ ซุลมัน อัลคอลีฟะห์ นายกรัฐมนตรีประเทศบาห์เรน เพื่อถวายการแสดงมายากลเฉพาะพระพักตร์ และพระบรมวงศานุวงศ์[12]

พ.ศ. 2554 ได้รับพระโอกาสจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เพื่อถวายการแสดงมายากลเฉพาะพระพักตร์

จุดกำเนิด นักมายากลอารมณ์ดี[แก้]

พ.ศ. 2554 ขณะที่ปีเตอร์ ยี กำลังแสดงสดอยู่ที่ เดอะพลาเดียม ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2541 ด้วยภาพลักษณ์ของนักมายากลอารมณ์ดี สวมแว่นตาหนากลม สวมหมวกท็อปแฮท (Top Hat) ใส่เสื้อกั๊กสีดำตัวหลวมใหญ่ และมีที่คาดแขนสีแดงทั้งสองข้าง และได้รับฉายา “นักมายากลอารมณ์ดี” (Peter Yee Funny man)

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ปีเตอร์ และ ครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และมีงานอดิเรกส่วนตัวคือทำอาหาร

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนมายากล ปีเตอร์ ยี[แก้]

ปีเตอร์ ได้สร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก และได้เปิด โรงเรียนสอนมายากลปีเตอร์ ยี เพื่อเป็นแนวทางให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาและเข้าถึงศิลปะมายากลได้อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ เขายังได้เป็นแรงบันดาลใจ ให้กับเยาวชนกลุ่มหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ที่ทำเพื่อสังคม นั่นก็คือ “โครงการมายากลเพื่อน้อง”

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสือพิมพ์โพสต์ ทู เดย์ (Post today), อังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2547, คอลัมน์ แมกกาซีน@เวิร์ก, Section C, เขียนโดย สุรชัยพงเพ็ง
  2. นิตยสาร Student weekly, ฉบับที่ 37, 19 มิ.ย. - 25 มิ.ย. 2549, สำนักพิมพ์บางกอกโพสต์, หน้า 16
  3. รายการดุนดารา สัมภาษณ์ ปีเตอร์ ยี, ออกอากาศวันที่ 22 สิงหาคม 2554, สาระแน แชนแนล
  4. รายการเช้าดูวู้ดดี้ สัมภาษณ์ ปีเตอร์ ยี, ออกอากาศวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554, ช่อง 9 อสมท
  5. รายการดุนดารา สัมภาษณ์ ปีเตอร์ ยี, ออกอากาศวันที่ 22 สิงหาคม 2554, สาระแน แชนแนล
  6. นิตยสาร Student weekly, ฉบับที่ 37, 19 มิ.ย. - 25 มิ.ย. 2549, สำนักพิมพ์บางกอกโพสต์, หน้า 16
  7. หนังสือพิมพ์โพสต์ ทู เดย์ (Post today), อังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2547, คอลัมน์ แมกกาซีน@เวิร์ก, Section C, เขียนโดย สุรชัยพงเพ็ง
  8. นิตยสาร Student weekly, ฉบับที่ 37, 19 มิ.ย. - 25 มิ.ย. 2549, สำนักพิมพ์บางกอกโพสต์, หน้า 16
  9. รายการเช้าดูวู้ดดี้ สัมภาษณ์ ปีเตอร์ ยี, ออกอากาศวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554, ช่อง 9 อสมท
  10. รายการดุนดารา สัมภาษณ์ ปีเตอร์ ยี, ออกอากาศวันที่ 22 สิงหาคม 2554, สาระแน แชนแนล
  11. รายการเช้าดูวู้ดดี้ สัมภาษณ์ ปีเตอร์ ยี, ออกอากาศวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554, ช่อง 9 อสมท
  12. รายการเช้าดูวู้ดดี้ สัมภาษณ์ ปีเตอร์ ยี, ออกอากาศวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554, ช่อง 9 อสมท

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]