ปีอัซซาเดลโปโปโล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พิกัดภูมิศาสตร์: 41°54′38″N 12°28′35″E / 41.91056°N 12.47639°E / 41.91056; 12.47639

ปีอัซซาเดลโปโปโล มองจากปินโช
บันไดทอดจากเปียซซาเดลโปโปโลไปยัง Pincio ทางทิศตะวันออก
Fontana del Nettuno
ด้านหนึ่งของ Fontana dell'Obelisco
พิธีสถาปนาสาธารณรัฐโรมัน ค.ศ. 1849.

ปีอัซซาเดลโปโปโล (อิตาลี: Piazza del Popolo) เป็นจัตุรัสแห่งหนึ่งในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ตามภาษาอิตาลีสมัยใหม่แล้ว ชื่อจัตุรัสมีความหมายว่า "จัตุรัสแห่งประชาชน" แต่ในทางประวัติศาสตร์ กล่าวกันว่าชื่อนี้มีที่มาจากต้นสน (Poplar) เช่นเดียวกับชื่อของโบสถ์ซานตามาเรียเดลโปโปโลที่ตั้งอยู่ที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือของจัตุรัส

ภาพรวม[แก้]

จัตุรัสแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในประตูทิศเหนือของกำแพงเอาเรเลียน (Aurelian) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีชื่อเรียกว่า "ปอร์ตาฟลามีนา" (Porta Flamina) แห่งโรมโบราณ ปัจจุบันมีชื่อว่าเรียกว่า "ปอร์ตาเดลโปโปโล" ที่นี่เคยเป็นจุดเริ่มต้นของถนนฟลามีนา (Via Flamina) ซึ่งเป็นเส้นทางสู่ "อารีมีนุม" (Ariminum) และเส้นทางสู่ทิศเหนือที่สำคัญที่สุด ในยุคสมัยก่อนที่จะมีการก่อสร้างทางรถไฟในโรมนั้น จัตุรัสแห่งนี้คือทิวทัศน์แห่งแรกที่ผู้เดินทางเข้าสู่โรมจะได้พบเห็น บริเวณนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับประหารชีวิตนักโทษต่อหน้าสาธารณชนเป็นเวลาหลายศตวรรษ จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2369

รูปแบบของจัตุรัสในปัจจุบันนี้ออกแบบในสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ระหว่าง พ.ศ. 2354-2365 โดยสถาปนิกจูเซปเป วาลาดีเอร์ (Giuseppe Valadier) ซึ่งเป็นผู้ที่รื้อถอนอาคารที่ไม่สำคัญบางแห่งและกำแพงสูงที่โอบล้อมบริเวณ เพื่อปรับพื้นที่จากจัตุรัสรูปสี่เหลี่ยมด้านขนานบนวีอาฟลามีนาให้เป็นพื้นที่รูปครึ่งวงกลมสองแห่ง ตามรูปแบบการออกแบบจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ของจานลอเรนโซ เบร์นินี จัตุรัสแห่งนี้ยังมีองค์ประกอบของสีเขียวจากต้นไม้รอบบริเวณ ซึ่งเปรียบเป็นสัญลักษณ์ของธาตุตามธรรมชาติ

กลางจัตุรัสเป็นที่ตั้งของเสาโอเบลิสก์ของฟาโรห์รามีเซสที่ 2 ที่นำมาจากเฮลีโอโปลิส (Heliopolis) เสานี้รู้จักกันในชื่อว่า "โอเบลิสโกฟลามีนีโอ" (Obelisco Flaminio) จัดเป็นเสาโอเบลิสก์ที่สูงที่สุดแห่งหนึ่ง และมีอายุมากเป็นอันดับสองในกรุงโรม เสานี้ถูกนำเข้ามายังโรมเมื่อ10 ปีก่อนคริสตกาล ตามพระบัญชาของจักรพรรดิออกุสตุส แรกเริ่มเคยตั้งอยู่ที่ซีร์กุสมักซีมุส (Circus Maximus) ต่อมาในปี พ.ศ. 2132 ได้ถูกเคลื่อนย้ายมายังจัตุรัสแห่งนี้โดยสถาปนิกโดเมนีโก ฟอนตานา (Domenico Fontana) ตามแผนการวางผังเมืองของสมเด็จพระสันตะปาปาซิกส์ตุสที่ 5 จัตุรัสแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของน้ำพุที่ถูกเคลื่อนย้ายไปยังจัตุรัสนิโคเซียเมื่อปี พ.ศ. 2361 เมื่อมีการสร้างน้ำพุรูปสิงโตแบบอียิปต์รอบฐานของโอเบลิสก์

เมื่อมองจากทิศเหนือ จะเห็นถนน 3 สายมุ่งออกจากจัตุรัส เป็นส่วนที่ถูกเรียกว่า "สามง่าม" (il Tridente) โดยถนนสายที่อยู่ตรงกลางคือ Via del Corso ด้านซ้ายคือ Via del Babuino (เมื่อแรกเปิดในปี พ.ศ. 2068 มีชื่อว่า Via Paolina) และด้านขวาคือ Via di Ripetta (เปิดเมื่อปี พ.ศ. 2061 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 ในชื่อว่า Via Leonina) ตรงทางแยกสามง่ามนี้มีโบสถ์คู่แฝดตั้งคั่นถนนทั้ง 3 สาย คือ Santa Maria dei Miracoli และซานตามาเรียอินมอนเตซานโต เริ่มก่อสร้างโดย Carlo Rainaldi สร้างเสร็จสมบูรณ์โดยเบร์นินีและคาร์โล ฟอนตานา ความจริงแล้วโบสถ์ทั้งสองแห่งนี้ไม่ได้คล้ายคลึงกันอย่างสมบูรณ์ แม้จะสร้างในลักษณะนีโอคลาสสิคเหมือนกัน แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดความหลากหลายตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบบาโรค

จากทางแยกสามง่ามด้านทิศใต้ของจัตุรัส Via del Corso มีเส้นทางตามแนวของ Via Flaminia ในยุคสมัยโรมันโบราณ โดยเริ่มต้นมาจากเนิน Capitoline ในยุคกลางนั้น Via Flaminia เป็นที่รู้จักในชื่อถนนลาตา จนกลายมาเป็น Via del Corso ที่ตัดตรงสู่จัตุรัสเวเนเซียในปัจจุบันนี้ ส่วน Via di Ripetta นั้นตัดผ่านสุสานออกัสตัสมุ่งสู่แม่น้ำไทเบอร์ ซึ่งเป็นจุดที่ Porta di Ripetta เคยตั้งอยู่จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ Via del Babuino เป็นเส้นทางที่มุ่งสู่บันไดสเปน ถนนสายนี้ได้ชื่อมาจากรูปสลัก Silenus ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "บาบูน"

ด้านทิศเหนือของจัตุรัส เป็นที่ตั้งของ ปอร์ตาเดลโปโปโล และโบสถ์ซานตามาเรียเดลโปโปโล ปอร์ตาเดลโปโปโลที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างขึ้นใหม่โดยสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7เมื่อปี พ.ศ. 2198 เพื่อต้อนรับพระราชินีคริสตินาแห่งสวีเดนในโอกาสเสด็จเยือนโรมหลังจากที่ทรงหันมานับถือนิกายโรมันคาทอลิกและสละราชสมบัติ ออกแบบโดยเบร์นินี ตรงข้ามกับโบสถ์ซานตามาเรียเดลโปโปโลคือสถานีรถไฟ Carabinieri ซึ่งมีโดมลักษณะคล้ายโบสถ์

ตามแผนการวางผังเมืองนั้น วาลาดีเอร์ได้วางกรอบบนพื้นที่เพื่อจัดทัศนียภาพ แล้วสร้างอาคารครอบมุมของกรอบ โดยมีโบสถ์แฝดสร้างครอบมุม 2 มุม และมีอาคารอีกหลังหนึ่งครอบมุมอีก 2 มุม แล้วหันหน้าเข้าหาโบถส์ซานตามาเรียเดลโปโปโล และมีการร่างแบบของจัตุรัสรูปวงรีนี้ตามแนวกำแพงเดิม ส่วนด้านตะวันตกจะมีแนวต้นไม้ที่ช่วยบดบังอาคารที่ไม่เป็นระเบียบด้านหลัง และมีน้ำพุตั้งอยู่แต่ละด้านของจัตุรัสไปทางตะวันออกและตะวันตก

ผลงานชิ้นเอกของวาลาดีเอร์ในจัตุรัสนี้คือส่วนที่เชื่อมต่อกับเนินของ Pincio ซึ่งเป็นส่วนที่สูงขึ้นเหนือพื้นที่ด้านตะวันออก โดยก่อนสร้างได้มีการรื้อถอนสวนขั้นบันไดของที่เป็นสมบัติของโบสถ์ออกัสติเนียนที่มีความสัมพันธ์กับโบสถ์ซานตามาเรียเดลโปโปโล ในบริเวณนี้วาลาดีเอร์ได้สร้างขั้นบันไดสำหรับคนเดินเลียบน้ำตกขึ้นไปยังสวน Pincio ขั้นบนสุดมีเรือนพักที่มีซุ้มประตูโค้ง 3 ช่อง

เมื่อไม่นานมานี้ ปิอัซซาเดลโปโปโลต้องเผชิญกับการจราจรที่แออัดอันเนื่องมาจากที่จอดรถจำนวนมากบริเวณใกล้เคียง จนกระทั่งปัจจุบันบริเวณจัตุรัสสงวนไว้เฉพาะสำหรับคนเดินเท้า

น้ำพุ[แก้]

  • Fontana dell' Obelisco - กลุ่มของน้ำพุขนาดเล็ก 4 ด้านรอบฐานโอเบลิสค์ แต่ละด้านสลักเป็นรูปสิงโตนั่งอยู่บนขั้นบันได
  • Fontana del Nettuno - มีรูปสลักเนปจูนถือสามง่ามและโลมา 2 ตัว
  • Fontana della Dea Roma