ปิน็อกกีโอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาด ปิน็อกกีโอ โดยเอนริโก มัซซานติ ปี ค.ศ. 1883

ปิน็อกกีโอ[1] (อิตาลี: Pinocchio; ราชบัณฑิตยสถาน: ปีนอกกีโอ) เป็นวรรณกรรมเยาวชนภาษาอิตาเลียน ผลงานของ การ์โล กอลโลดี (Carlo Collodi) นักประพันธ์ชาวอิตาเลียน ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1880 เรื่องปิน็อกกีโอนี้ ได้กลายมาเป็นเรื่องอ่านเล่นคลาสสิกสำหรับเด็ก และแพร่หลายอย่างกว้างขวาง โดยมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เผยแพร่ไปทั่วโลก ทั้งยังมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากกว่า 20 ครั้ง โดยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดนั้น เป็นภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาวของ วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ส่วนที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ได้แก่ภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงในปี ค.ศ. 2002 กำกับและแสดงโดย Roberto Benigni ในชื่อเรื่อง พินอคคิโอ ฅนไม้ผจญภัย

ปิน็อกกีโอ เป็นเรื่องราวการผจญภัยของหุ่นไม้ที่มีชีวิต กับพ่อผู้ยากจนของเขา เจปเปตโต ซึ่งเป็นช่างไม้ ปิน็อกกีโอมีลักษณะเด่นที่รู้จักกันดี คือ เมื่อพูดโกหก จมูกของเขาจะยาวขึ้น

กอลโลดีนั้นไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสำหรับเด็กตั้งแต่แรก ในเนื้อเรื่องดั้งเดิมนั้น ปิน็อกกีโอถูกแขวนคอตาย เนื่องจากทำความผิดนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ได้แก้ไขในฉบับถัดมา ซึ่งตอนจบนั้น ได้แก้ให้หุ่นกระบอกนั้นกลายเป็นเด็กที่มีชีวิตจริง ๆ ซึ่งก็เป็นตอนจบที่เรารู้จักกันดี

คำวิจารณ์[แก้]

นักวิจารณ์หลายคนได้ให้ความเห็นว่า ปิน็อกกีโอเป็นเรื่องราวของสังคมในสมัยนั้น โดยแสดงการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง ความเป็นที่นับหน้าถือตา กับสัญชาตญาณของความเป็นอิสระ ในยุคสมัยที่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่เคร่งครัด ภายใต้ภาพพจน์ของการสั่งสอนในรูปแบบของการมองโลกในแง่ดี แต่เรื่องนี้นั้นกลับเป็นเรื่องที่แดกดันและเหน็บแนม เกี่ยวกับรูปแบบธรรมเนียมวิธีที่เป็นทางการ และการวางตัวในสังคมโดยทั่วไปที่ดูไม่มีเหตุผล

รูปแบบของเรื่องนั้นเป็นแนวทันสมัย และได้เป็นรูปแบบนำร่องให้กับนักเขียนในยุดถัดมา ภาษาอิตาเลียนที่ใช้ในเรื่องนั้น มีภาษาของชาวเมืองฟลอเรนซ์ ผสมผสานอยู่ทั่วไปในเนื้อเรื่อง และแนวความคิดหลายอย่างในเรื่อง ก็กลายมาเป็นแนวความคิดที่ใช้กันทั่วไป เช่น คำกล่าวที่ว่า คนจมูกยื่นจมูกยาว หมายถึง คนโกหก

เรื่องปิน็อกกีโอนั้น ได้รับความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่ในตระกูลชนชั้นสูงนั้นในช่วงแรก ๆ ถือว่าเรื่องนี้ไม่เหมาะสมกับเด็ก ๆ ที่ได้รับการศึกษาที่ดีแล้ว

คำว่า ปิน็อกกีโอ (Pinocchio) ในภาษาอิตาเลียน มาจากคำว่า pino คือ ต้นสน รวมกับคำว่า occhio คือ ตา

ตัวละครที่เกี่ยวข้อง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ปิน็อกกีโอ". ผีเสื้อ. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-14. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)