ปลาใบไม้อเมริกาใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาใบไม้อเมริกาใต้
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Polycentridae
สกุล: Monocirrhus
Heckel, 1840
สปีชีส์: M.  polyacanthus
ชื่อทวินาม
Monocirrhus polyacanthus
(Heckel, 1840)
ชื่อพ้อง
  • Monocirrhus mimophyllus (Eigenmann & Allen 1921)

ปลาใบไม้อเมริกาใต้ หรือ ปลาใบไม้อเมซอน (อังกฤษ: Amazon leaffish) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Monocirrhus polyacanthus ในวงศ์ปลาใบไม้อเมริกาใต้ (Polycentridae) จัดเป็นปลาเพียงชนิดเดียวกันที่อยู่ในสกุล Monocirrhus

ปลาใบไม้อเมริกาใต้ เป็นปลาที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีว่าสามารถพรางตัวให้กับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยได้อย่างดีเยี่ยม โดยมีรูปร่างเหมือนใบไม้ที่มีทั้งก้านและแขนงจริง ๆ ด้วยว่าที่ปลายปากมีติ่งเล็ก ๆ อยู่ด้วย มีถิ่นที่อยู่ในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้

เป็นที่รู้จักครั้งในปี ค.ศ. 1840 จากการบรรยายของ โจฮานน์ จาคอบ เฮกเคล นักชีววิทยาชาวออสเตรีย โดยได้บรรยายลักษณะทางกายภาพเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ไว้ว่า มีสีเหลืองหรือสีแดง ส่วนหัวมีรูปทรงแบนข้าง ตอนปลายแหลม ด้านหน้ามีสัณฐานเว้า ตามีขนาดเล็ก ปากใหญ่ ก้านครีบอกทุกก้านสั้น ปรากฏแถบเล็กสีน้ำตาล 3 แถบ เริ่มต้นจากตา แถบนึงลงข้างล่าง อีก 2 แถบแตกไปทางด้านหลัง ปรากฏแถบหนากลางลำตัว และปรากฏแถบที่ตอนล่างของครีบหาง

ก้านครีบอกเป็นก้านครีบอ่อนที่แตกแขนง 20 ก้านครีบ ครีบท้องประกอบด้วยก้านครีบแข็ง 1 ก้านครีบต่อด้วยก้านครีบอ่อนที่แตกแขนง 4 ก้านครีบ ครีบหลังประกอบด้วยก้านครีบแข็ง 17 ก้านครีบต่อด้วยก้านครีบอ่อนที่แตกแขนง 12 ก้านครีบ ก้านครีบก้นประกอบก้วยก้านครีบแข็ง 13 ก้านครีบต่อด้วยก้านครีบอ่อนที่แตกแขนง 12 ก้านครีบ และเป็นปลาที่ไม่มีเส้นข้างลำตัว

จากนั้นในปี ค.ศ. 1921 คาร์ล เอช.อีเกนแมนน์ และ วิลเลียม เรย์ อัลเลน ได้สำรวจป่าดิบชื้นในอเมริกาใต้ ได้เก็บตัวอย่างที่มีชีวิตของปลาชนิดนี้ไว้ 3 ตัว โดยพบเห็นครั้งแรกด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นใบไม้ที่ลอยน้ำจริง ๆ

ปลาใบไม้อเมริกาใต้ มีพฤติกรรมมักลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ บริเวณผิวน้ำหรือบริเวณตอนบนของผิวน้ำ เพื่อรอดักอาหาร ได้แก่ ลูกปลาหรือกุ้งขนาดเล็ก มักจะอยู่รวมกันเป็นฝูง และอาศัยอยู่ในสภาพน้ำที่มีความเป็นกรด (ประมาณ 5-6 pH) ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 8 เซนติเมตร ปลาตัวเมียวางไข่ประมาณ 300 ฟอง และไข่จะฟักเป็นตัวในเวลาประมาณ 3 วัน โดยที่ปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาตัวผู้ [1]

ปัจจุบันนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วยความแปลกและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Monocirrhus polyacanthus ที่วิกิสปีชีส์