ปลาค้าวดำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปลาเค้าดำ)
ปลาค้าวดำ
สถานะการอนุรักษ์

ไม่มีข้อมูล (IUCN 3.1)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Siluriformes
วงศ์: Siluridae
สกุล: Wallagonia
สปีชีส์: W.  micropogon
ชื่อทวินาม
Wallagonia micropogon
Ng, 2004
ชื่อพ้อง
  • Wallago micropogon Ng, 2004

ปลาค้าวดำ หรือ ปลาเค้าดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Wallagonia micropogon) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) จัดเป็นปลาที่อยู่ในอันดับปลาหนัง (Siluriformes)

ปลาค้าวดำมีรูปร่างลำตัวยาวแต่ค่อนข้างป้อม ลำตัวที่อยู่ค่อนไปทางหางมีลักษณะแบนข้างมาก พื้นลำตัวสีเทาถึงดำสนิท ส่วนหัวมีขนาดใหญ่และแบน ปากกว้าง ภายในมีฟันซี่เล็ก ๆ อยู่ในขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง มีหนวด 2 คู่ โดยคู่ที่อยู่มุมปากมีลักษณะเรียวยาว ส่วนคู่ที่ใต้คางจะสั้นและเล็กมาก มีครีบทั้งหมด 7 ครีบ ครีบก้นใหญ่และยาวจรดครีบหาง ขอบปลายหางด้านบนจะใหญ่กว่าด้านล่าง ส่วนท้องป่องออก ส่วนหลังยกสูงขึ้นกว่าปลาค้าวขาว (Wallago attu) ซึ่งเป็นปลาที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่จัดอยู่ในคนละสกุล

มีขนาดลำตัวยาวได้ถึง 1 เมตร น้ำหนักกว่า 50 กิโลกรัม โดยอาจยาวได้ถึงกว่า 2 เมตร น้ำหนัก 80 กิโลกรัม สถิติที่ใหญ่ที่สุดพบที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์

พฤติกรรมตามปกติ มักจะซุกตัวอยู่นิ่ง ๆ ใต้น้ำ เป็นปลาที่สายตาไม่ดี จึงใช้หนวดในการนำทางและหาอาหาร พบตามแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ทั้งภาคกลางและภาคอีสานรวมทั้งภาคใต้ของประเทศไทย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาและสาขา, แม่น้ำโขงและสาขา, แม่น้ำตาปีรวมทั้งที่ทะเลสาบสงขลาด้วย เป็นต้น

ปลาค้าวดำ มีสถานภาพในปัจจุบันใกล้สูญพันธุ์อีกชนิดหนึ่งในธรรมชาติ แต่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้โดยสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ. 2534 โดยได้มีการปล่อยลูกปลาที่เพาะได้กลับคืนถิ่นธรรมชาติ[2]

ปลาค้าวดำเป็นปลาไทยอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่เป็นปลาที่มีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว หวงถิ่นที่อยู่อาศัยมาก กินปลาขนาดเล็กตัวอื่นเป็นอาหาร จึงมักเลี้ยงตัวเดียวเดี่ยว ๆ นอกจากนี้แล้ว ปลาค้าวดำเป็นปลาที่สามารถฮุบกลืนกินเหยื่อหรืออาหารขนาดใหญ่ได้ โดยในอดีตที่บ้านปากกิเลน อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เคยมีเหตุการณ์ปลาค้าวดำกินคนมาแล้ว โดยเกิดเหตุที่โป๊ะท่าน้ำ เมื่อทารกคนหนึ่งอุจจาระเลอะเปรอะเปื้อนทั้งตัว ผู้เป็นแม่จึงนำไปแกว่งล้างในแม่น้ำ ทันใดนั้นก็ได้มีปลาค้าวดำตัวใหญ่โผล่ขึ้นมาจากน้ำฮุบกินเด็กเข้าไปทั้งตัว เหตุการณ์นี้เป็นที่แตกตื่นตกใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น[3] นอกจากนี้แล้ว ปลาค้าวดำมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "ปลาอีทุก" หรือ "ปลาทุก" ในภาษาอีสาน โดยเรียกตามสีลำตัวที่มีสีดำสนิทเหมือนกับคนสวมชุดไว้ทุกข์

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Allen, D. (2010). "Wallago micropogon". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.2. สืบค้นเมื่อ 4 March 2013.
  2. "ค้าวดำปลาหายากในทะเลสาบสงขลา แหล่งที่มาจากสุราษฎร์ธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-17. สืบค้นเมื่อ 2009-10-10.
  3. หน้า 114, Monsters of the River 2013 โดย กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, ป๋อง บางตาล. "V.I.P. (Very Important Pisces)". นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 39: กันยายน 2013

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]