ปลาหมูลายเมฆ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาหมูลายเมฆ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Botiidae
สกุล: Botia
สปีชีส์: B.  kubotai
ชื่อทวินาม
Botia kubotai
(Kottelat, 2004)
ชื่อพ้อง
  • Botia angelicus
  • Botia myanmar

ปลาหมูลายเมฆ (อังกฤษ: Cloud-pattern loach, Polkadot botia) ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Botia kubotai อยู่ในวงศ์ปลาหมู (Botiidae) มีรูปร่างแบนข้าง ลำตัวเรียวยาวเล็กน้อย ลำตัวมีสีสันสวยงามมาก โดยเป็นปล้องและดวงสีเหลืองสลับกับสีดำบนพื้นลำตัว ครีบและหางก็มีสีสันแบบนี้ด้วยเช่นกัน โดยปลาแต่ละตัวสีสันจะไม่เหมือนกัน ปากค่อนข้างเรียว มีหนวด 3 คู่ ใต้ตามีกระดูกแข็งอยู่ข้างละคู่ซึ่งสามารถพับเก็บได้

มีขนาดลำตัวใหญ่เต็มที่ไม่เกิน 8.5 เซนติเมตร

พบอาศัยอยู่เป็นฝูง หากินบริเวณหน้าดินเฉพาะลุ่มแม่น้ำสาละวินเท่านั้น โดยพบระหว่างพรมแดนไทย-พม่า โดยในเขตแดนไทยพบที่แม่น้ำสุริยะ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

เป็นปลาชนิดใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ และถูกอนุกรมวิธานโดย ดร.มัวรีซ คอตเทเลต นักมีนวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 2004

จากความที่มีสีสันสวยงาม ทำให้ปลาหมูลายเมฆได้รับความนิยมในฐานะเป็นปลาสวยงามในระยะเวลาไม่นาน ในสถานที่เลี้ยง ปลาสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี มีอุปนิสัยไม่ก้าวร้าว สามารถเลี้ยงรวมเป็นฝูงหรือรวมกับปลาอื่นได้เป็นอย่างดี โดยจะเก็บกินเศษอาหารที่ปลาใหญ่ในตู้กินเหลือ

อนึ่ง มีปลาหมูอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายปลาหมูลายเมฆ และพบในลุ่มแม่น้ำสาละวินเช่นเดียวกัน คือ ปลาหมูพม่า (B. histrionica)

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]