ปลาหมอมาคูลิคัวด้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาหมอมาคูลิคัวด้า
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
สกุล: Vieja
สปีชีส์: V.  maculicauda
ชื่อทวินาม
Vieja maculicauda
(Regan, 1905)
ชื่อพ้อง[1]
  • Cichlasoma maculicauda Regan, 1905

ปลาหมอมาคูลิคัวด้า หรือ ปลาหมอเวียจา (อังกฤษ: Spotted cichlid, Blackbalt cichild; ชื่อวิทยาศาสตร์: Vieja maculicauda) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)

จัดเป็นปลาหมอสีชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ มีพื้นลำตัวสีน้ำตาลจางแกมเหลือง แต่อาจมีสีม่วงแซมอยู่บ้าง มีจุดเล็ก ๆ สีดำกระจายทั่วไปตั้งแต่กลางลำตัวไปจนถึงบริเวณหาง และมีแถบเส้นสีดำขนาดใหญ่พาดกลางลำตัวในแนวตั้งคล้ายคาดเข็มขัดเป็นจุดเด่น แลเห็นชัดเจน หัวมีลักษณะค่อนข้างกลม ปากใหญ่ ริมฝีปากค่อนข้างหนา แก้มและท้องมีสีแดงเรื่อ ๆ นัยน์ตามีสีเขียว ครีบอกใส ครีบกระโดงหลังแผ่กว้างบริเวณส่วนปลายครีบเรียวแหลม เช่นเดียวกับครีบทวารแต่สั้นกว่า ครีบหางมีขนาดใหญ่ ปลายมนกลม ทุกครีบ ยกเว้นครีบอกมีจุดสีดำกระจายทุกครีบโดยมีพื้นสีม่วงจาง ๆ

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 35-40 เซนติเมตร กระจายพันธุ์ในภาคพื้นอเมริกากลางตั้งแต่ตอนใต้ของเม็กซิโก, นิคารากัว, ปานามา จนถึงทวีปอเมริกาใต้

เป็นปลาหมอสีชนิดหนึ่ง ที่นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม ซึ่งปลาหมอมาคูลิคัวด้า จัดเป็นปลาหมอสีชนิดหนึ่งที่มีนิสัย ก้าวร้าว หวงถิ่น เมื่อเทียบกับปลาหมอสีขนาดใหญ่ชนิดอื่น ๆ และมีนิสัยชอบขุดคุ้ยกรวดทรายบริเวณพื้นตู้ และสามารถเพาะขยายพันธุ์ในตู้เลี้ยงได้ เมื่อปลาจับคู่ได้แล้ว โดยปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายเลือกมุมหนึ่งของตู้เพื่อสร้างรัง ด้วยการใช้ปากคาบกรวดไปทิ้งรอบ ๆ เป็นวงกลม และเชิญชวนปลาตัวเมียมาวางไข่ โดยที่จะปล่อยไข่ออกมาด้วยการใช้ท้องถูกับวัสดุต่าง ๆ ใต้น้ำ และปลาตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าปฏิสนธิ เมื่อปลาตัวเมียปล่อยไข่หมดแล้ว ก็จะเสร็จสิ้นการผสมพันธุ์ จากนั้นปลาทั้งคู่จะช่วยกันดูแลไข่ โดยที่ไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 2-3 วัน [2]

อ้างอิง[แก้]

  1. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  2. หน้า 100-102, ปลาหมอมาคูลิคัวด้า หรือ ปลาหมอคาดเข็มขัด คอลัมน์ มองปลาตากลม โดย ขอนไม้. นิตยสาร fishzone ฉบับที่ 26 ปีที่ 3: 15 กรกฎาคม-15 สิงหาคม พ.ศ. 2545

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]