ปลาพาราไดซ์ (สกุล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาพาราไดซ์
การกัดกันของปลาพาราไดซ์ (M. opercularis) ตัวผู้ 2 ตัว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
โดเมน: Eukaryota
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Anabantiformes
อันดับย่อย: Anabantoidei
วงศ์: Osphronemidae
วงศ์ย่อย: Macropodusinae
สกุล: Macropodus
Lacepède, 1801
ชนิดต้นแบบ
Macropodus viridiauratus
Lacepède, 1801
ชนิด
9 ชนิด (ดูในเนื้อหา)

ปลาพาราไดซ์ หรือ ปลาสวรรค์ [1](อังกฤษ: Paradise fishes, Paradise gouramis) เป็นสกุลของปลาน้ำจืดขนาดเล็กสกุลหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ Macropodinae และอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae ใช้ชื่อสกุลว่า Macropodus (/แม็ค-โคร-โพ-ดัส/)

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

โดยคำว่า Macropodus ที่ใช้เป็นชื่อสกุลนั้น มาจากภาษาละติน คำว่า Macro หมายถึง "ใหญ่" และ podus หมายถึง "เท้า" (ในบริบทนี้หมายถึง ครีบ)

และชื่อสามัญที่เรียกว่า ปลาพาราไดซ์ นั้น มีที่มาจากยอดเขาลูกหนึ่ง ซึ่งเป็นยอดเขาที่แบ่งระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ใกล้กับเมืองดานัง และอยู่ทางใต้ของเมืองเว้ ซึ่งยอดเขานี้มีชื่อเรียกว่า "ยอดเขาสวรรค์" (Heaven's peak) มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,500 เมตร ซึ่งบริเวณแถบนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของปลาพาราไดซ์[1]

ลักษณะและถิ่นกระจายพันธุ์[แก้]

มีขนาดความยาวลำตัว ประมาณ 7.5 เซนติเมตร มีลำตัวค่อนข้างกว้าง แบนข้าง หัวเล็ก นัยน์ตาโต ปากอยู่หน้าสุด ริมฝีปากยืดหดได้ มีฟันบนกระดูกเพดานปาก เส้นข้างตัวไม่สมบูรณ์ มีลักษณะเด่นอยู่ที่ครีบหลัง ครีบหลัง ครีบท้อง และครีบก้น มีปลายที่ยื่นยาวเป็นเส้นสวยงาม ครีบท้องและครีบหางเป็นสีส้มแดงหรือสีต่าง ๆ ต่างออกไปตามแต่ชนิด ครีบหลังมีก้านครีบแขนงไม่เกิน 10 ก้าน ครีบหลังและครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบอกบางใส ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว อันแรกยื่นออกมาเป็นเส้นยาว ครีบหางมีปลายครีบตัดตรง แต่ในบางตัวหรือบางชนิดอาจแย่งออกเป็นแฉกต่าง ๆ ได้ สีพื้นลำตัวโดยมากเป็นสีเขียวมีลายสีส้มขวางลำตัว ตัวผู้จะมีสีสันสวยสดกว่าตัวเมีย และมีขนาดลำตัวใหญ่กว่า

ปลาพาราไดซ์เป็นปลาที่มีถิ่นกระจายพันธุ์ในแหล่งน้ำทั่วไป รวมถึงในนาข้าวของภูมิภาคอินโดจีน ตั้งแต่เวียดนาม จนถึงเอเชียตะวันออก เช่น จีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน, เกาหลี

มีพฤติกรรมก้าวร้าว ในตัวผู้มักกัดกันเองเหมือนเช่นปลากัด (Betta spp.) ซึ่งเป็นปลาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน อีกทั้งยังสามารถฮุบอากาศได้โดยตรงจากผิวน้ำ โดยไม่ต้องผ่านซี่กรองเหงือก มีพฤติกรรมในการวางไข่และผสมพันธุ์เหมือนปลากัด คือ ใช้การรัดและก่อหวอด ซึ่งสร้างมาจากน้ำลายของปลาผสมกับอากาศ ที่ผิวน้ำเหมือนกัน

การจำแนก[แก้]

ปลาพาราไดซ์ในปัจจุบันได้รับการอนุกรมวิธานไปแล้วกว่า 9 ชนิด ได้แก่

ทุกชนิดเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะการเลี้ยงในตู้ไม้น้ำ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 สุริศา ซอมาลี, ปลาสวรรค์ บนแดนดิน คอลัมน์ Aqua survey หน้า 56-71 นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 18 ปีที่ 2: ธันวาคม 2011

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Macropodus ที่วิกิสปีชีส์