ปลาตะพัดพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาตะพัดพม่า
สถานะการอนุรักษ์

ไม่มีข้อมูล  (IUCN 3.1)[1]
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: อันดับปลาลิ้นกระดูก
วงศ์: วงศ์ปลาตะพัด
สกุล: ปลาอะโรวาน่าเอเชีย
T. R. Roberts, 2012
สปีชีส์: Scleropages inscriptus
ชื่อทวินาม
Scleropages inscriptus
T. R. Roberts, 2012

ปลาตะพัดพม่า หรือ ปลาตะพัดลายงู (อังกฤษ: Blue arowana, Myanmar arowana, Batik myanmar arowana; ชื่อวิทยาศาสตร์: Scleropages inscriptus) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาตะพัด (Osteoglossidae)

ลักษณะ[แก้]

จัดเป็นปลาในวงศ์นี้ ชนิดใหม่ล่าสุดที่ได้รับการอนุกรมวิธาน โดยแยกออกมาจากปลาตะพัดหรือปลาอะโรวาน่าเอเชีย (S. formosus) ทั่วไป โดยที่ปลาตะพัดพม่าจะมีรูปร่างคล้ายกับปลาตะพัดทั่วไป แต่มีลักษณะที่แตกต่างไปอย่างชัดเจน คือ มีลวดลายคล้ายกับลายขดของสมองหรือที่ในภาษาวงการปลาสวยงามเรียกว่า "ลายงู" ตั้งแต่บริเวณแผ่นปิดเหงือกไล่ไปตามตัวจนถึงหาง ยกเว้นบริเวณสันหลังเท่านั้นที่ไม่มี โดยลวดลายนี้จะสมบูรณ์และปรากฏเมื่อปลามีขนาดได้ราว 10 นิ้วเป็นต้นไป และจะชัดเจนที่สุดเมื่อปลามีขนาด 20 นิ้วขึ้นไป ขณะที่สีสันลำตัวจะเป็นสีเขียวหรือทองอ่อนเป็นสีพื้นเป็นหลัก แต่มีเหลือบสีฟ้าหรือสีนากสดใสชัดเจนตลอดทั้งตัว

การเป็นที่รู้จักและจำแนกชั้น[แก้]

เดิมที ปลาตะพัดพม่าถูกจัดเป็นชนิดเดียวกันกับปลาตะพัดหรือปลาอะโรวาน่าเอเชียทั่วไป แต่เป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ. 2536 จากการเข้าไปสำรวจปลาของผู้เชี่ยวชาญชาวไทยในพื้นที่ป่าดิบบริเวณรอยต่อระหว่างประเทศไทยและพม่า บริเวณแม่น้ำตะนาวศรี ในเขตตะนาวศรีของพม่า จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการเข้าไปสำรวจเพื่อจับปลาอย่างแท้จริง โดยได้ปลามาจำนวน 2 ตัว ที่บริเวณวังน้ำบนภูเขาที่เป็นสาขาของแม่น้ำตะนาวศรี แต่ปลาได้ตายลงขณะเดินทางกลับเพราะเส้นทางวิบากมาก แต่ได้มีการถ่ายรูปปลาทั้ง 2 ตัวนี้ไว้ และได้แพร่กระจายไปในหมู่นักเลี้ยงปลาในระดับสูงทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นปลาตะพัดพม่า ได้เป็นที่รู้จักในชื่อ "บลู อะโรวาน่า"

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2555 ดร.ไทสัน อาร์. โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาชาวอเมริกันได้บรรยายคุณลักษณะของปลาตะพัดพม่าในทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ตัวอย่างต้นแบบ 2 ตัวอย่างซึ่งเป็นปลาที่ตายแล้วจากผู้ค้าปลาสวยงามที่เมืองมะริด และถูกฝากไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จังหวัดปทุมธานี และมีคุณลักษณะดังเช่นที่ว่ามาในตอนต้น ซึ่งปลาตะพัดพม่านั้นมีถิ่นกำเนิดที่แม่น้ำตะนาวศรี และพบได้ในคลองละงู จังหวัดสตูล ในไทย และพบได้จนถึงทะเลสาบบางแห่งในตอนเหนือมาเลเซีย นอกจากนี้แล้วยังมีผู้ที่น่าเชื่ออ้างว่าพบเห็นบนเกาะภูเก็ตอีกด้วย โดยที่คำว่า inscriptus ที่ใช้เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ มาจากคำว่า "inscribeb" เป็นภาษาละตินแปลว่า "จารึกไว้" อันหมายถึง ลวดลายบนตัวปลานั่นเอง[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Scleropages inscriptus". IUCN Red List of Threatened Species.
  2. "Appendices | CITES". cites.org. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
  3. เปิดตำนาน ตะพัดพม่า คอลัมน์ V.I.P. (Very Important Pisces) โดย กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, กำพล อุดมฤทธิรุจ, ดร.ชวลิต วิทยานนท์, ชวิน ตันพิทยคุปต์ หน้า 104-119 นิตยสาร Aqurium Biz ฉบับที่ 24 ปีที่ 2: มิถุนายน 2012

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Scleropages inscriptus ที่วิกิสปีชีส์