ปลาช่อนบาร์กา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาช่อนบาร์กา
สถานะการอนุรักษ์

ไม่มีข้อมูล  (IUCN 3.1)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Anabantiformes
วงศ์: Channidae
สกุล: Channa
สปีชีส์: C.  barca
ชื่อทวินาม
Channa barca
(Hamilton, 1822)
ชื่อพ้อง

ปลาช่อนบาร์กา (อังกฤษ: Barca snakehead) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa barca ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) มีความยาวเต็มที่ประมาณ 90 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีสีสันสวยงามมาก โดยมีสีเขียวและเหลืองประกอบกับจุดสีดำและแดงกระจายทั่วบริเวณส่วนหัว, ลำตัว และครีบ ส่วนหัวมีขนาดโตและปากกว้างมาก จนได้ชื่อว่าเป็นปลาช่อนที่มีความสวยงามที่สุดในโลก

มีถิ่นกระจายพันธุ์อยู่ในแม่น้ำพรหมบุตรและแม่น้ำคงคาในรัฐอัสสัมและรัฐเบงกอลตะวันตก ในประเทศอินเดีย และบางส่วนของบังกลาเทศเท่านั้น

ปลาช่อนบาร์กา เป็นที่รู้จักครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1822 โดย ฟรานซิส บูชาแนน แฮมิลตัน ซึ่งเป็นนายแพทย์และนักชีววิทยาประจำกองทัพจักรวรรดิอังกฤษที่ปกครองอินเดียอยู่ ได้ศึกษาธรรมชาติในรัฐเบงกอลและได้ค้นพบปลาน้ำจืดชนิดใหม่ ๆ ได้ถึง 100 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ ปลาช่อนชนิดนี้ พร้อมกับได้เขียนภาพประกอบไว้ โดยได้ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ An account of the fishes found in the river Ganges and its branches โดยบรรยายไว้เกี่ยวกับปลาช่อนบาร์กาว่า ความยาวเต็มที่ได้ถึง 90 เซนติเมตร และทำรังโดยขุดรูขึ้นบริเวณริมฝั่งโผล่และเฉพาะส่วนหัวออกมาเพื่อหาอาหาร เพศของปลาชนิดนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีแต่ขึ้นอยู่กับรูปร่างครีบปลาลำตัว แต่ในปลาตัวผู้นั้นจะมีครีบหลัง ครีบอก ครีบก้นที่ใหญ่กว่าตัวเมียและลำตัวผอมยาวอย่างเห็นได้ชัดแต่ตัวเมียนั้นมีครีบที่เล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด และในตัวเมียมีลำตัวมีลักษณะข้อนข้างป้อมสั้นกว่าตัวผู้ส่วนเรื่องสีของปลาชนิดนี้ก็จะขึ้นอยู่กับค่าน้ำสภาพแวดล้อม และอื่นๆ

ปลาช่อนบาร์กา จัดไว้เป็นหนึ่งในปลาช่อนที่หายากที่สุดในโลก จากคุณสมบัติทั้งหมดดังกล่าว ทำให้เป็นปลาสวยงามที่มีราคาแพงมากชนิดหนึ่ง และสำหรับในประเทศไทยเป็นปลาที่มีการนำเข้ามาจำหน่ายเพียงแค่ไม่กี่ตัว และเคยมีการหลอกขายโดยเอาปลาช่อนชนิดอื่นมาขายกันแล้วในชื่อต่าง ๆ รวมทั้งเคยสับสนกับปลาช่อนชนิดอื่นที่มีความใกล้เคียงกันด้วย พฤติกรรมในที่เลี้ยงเป็นปลาที่มีดุร้ายก้าวร้าวมาก ไม่สามารถเลี้ยงรวมกันโดยเฉพาะตัวผู้หลาย ๆ ตัวได้เลย เพราะจะกัดกันทันทีแม้กระทั่งเพิ่งเทจากถุงลงตู้กระจก แต่การเลี้ยงรวมกับตัวเมียสามารถกระทำได้อย่างง่ายดาย

เป็นปลาที่สามารถเลี้ยงในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะอาศัยอยู่ในที่ ๆ มีอุณหภูมิระหว่าง 10-24 องศาเซลเซียส มีพฤติกรรมการกินอาหารเพียงแค่ แมลง หรือกุ้งฝอย หรือเนื้อกุ้งชิ้นเท่านั้น โดยไม่กินปลาเหยื่อหรือลูกปลาขนาดเล็กเลย [2]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Chaudhry, S. (2010). "Channa barca". IUCN Red List of Threatened Species. 2010: e.T166596A6244166. สืบค้นเมื่อ 22 December 2019.
  2. หน้า 107-108, CHANNA CRAZY คนคลั่งช่อน, "Wild Ambition" โดย ชวิน ตันพิทยคุปต์ และชัยพัทธ์ งามบุษบงโสภิน. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 42: ธันวาคม 2013