ปลาฉลามหัวค้อนหยัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาฉลามหัวค้อนหยัก
ปลาฉลามหัวค้อนหยักที่เกาะโกโกส คอสตาริกา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
ชั้นย่อย: Elasmobranchii
อันดับ: Carcharhiniformes
วงศ์: Sphyrnidae
สกุล: Sphyrna
สปีชีส์: S.  lewini
ชื่อทวินาม
Sphyrna lewini
(E. Griffith & C. H. Smith, 1834)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Cestracion leeuwenii Day, 1865
  • Cestracion oceanica Garman, 1913
  • Sphyrna diplana Springer, 1941
  • Zygaena erythraea Hemprich and Ehrenberg, 1899
  • Zygaena indica van Hasselt, 1823
  • Zygaena lewini Griffith and Smith, 1834

ปลาฉลามหัวค้อนหยัก หรือ ปลาฉลามหัวค้อนสั้น หรือ อ้ายแบ้หยัก หรือ อ้ายแบ้สั้น (อังกฤษ: scalloped hammerhead, squat-headed hammerhead, kidney-headed shark; ชื่อวิทยาศาสตร์: Sphyrna lewini) เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาฉลามหัวค้อน (Sphyrnidae)

รูปร่างยาวเรียวคล้ายกับปลาฉลามหัวค้อนชนิดอื่น ๆ มีลักษณะเด่น คือ ส่วนของหัวที่แผ่ออกแบนออกไปทั้งสองข้าง เป็นรูปค้อน นัยน์ตาอยู่ตรงบริเวณปลายส่วนที่แผ่ออกไปทั้ง 2 ด้าน มีรอยหยักลึกด้านหน้าสุดของหัวที่แตกต่างไปจากปลาฉลามหัวค้อนชนิดอื่น มีเยื่อหุ้มนัยน์ตา ปากอยู่ค่อนไปทางด้านล่างของลำตัว ลักษณะคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยว ครีบหลังมีขนาดใหญกว่าครีบอก พื้นลำตัวสีเทา หลังสีเทาปนน้ำตาล ท้องสีขาว ขอบครีบมีรอยแต้มสีดำที่ปลาย

มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นปลาล่าเหยื่อที่สามารถกินสัตว์น้ำได้หมดแทบทุกอย่าง มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 4.3 เมตร (14 ฟุต) น้ำหนักถึง 150 กิโลกรัม (330 ปอนด์) แต่ขนาดโดยเฉลี่ยประมาณอยู่ที่ 50–100 เซนติเมตร จัดเป็นปลาฉลามหัวค้อนที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง โดยหากินตั้งแต่กลางน้ำจนถึงหน้าดิน มีรายงานว่าพบได้ในที่ที่ลึกถึง 500 เมตร ในบางครั้งอาจหากินเข้ามาถึงในแหล่งน้ำกร่อย

มีการกระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้างขวาง ตั้งแต่ตลอดแนวชายฝั่งด้านมหาสมุทรแอตแลนติกของทวีปอเมริกาเหนือ, อเมริกากลาง จนถึงอเมริกาใต้, ทวีปแอฟริกา, ทวีปเอเชีย, ออสเตรเลีย สำหรับน่านน้ำไทยพบได้ที่ฝั่งอ่าวไทย

การอนุรักษ์[แก้]

ใน พ.ศ. 2564 ฉลามหัวค้อนหยักได้รับการจัดสถานะในระดับ "เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์" โดย IUCN Red List[2] โดยอ้างถึงการทำประมงเกินขนาดและการบริโภค ว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนประชากรฉลามหัวค้อนหยักลดลง[3] ฉลามหัวค้อนหยักถูกจับมากมีสาเหตุจากขนาดและมีครีบขนาดใหญ่ ซึ่งครีบของมันมี "ปริมาณเส้นหูฉลามสูง"[4]

ความพยายามในการอนุรักษ์ฉลามหัวค้อนหยัก (Sphyrna lewini) ได้แก่

  • การใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมจากครีบที่ซื้อจากตลาดฮ่องกงเพื่อระบุตำแหน่งที่ถูกจับและติดตามระดับการจับฉลามหัวค้อนหยักในแต่ละน่านน้ำ[5]
  • การปกป้องแหล่งอนุบาลตัวอ่อนในธรรมชาติ ฉลามหัวค้อนหยักมักกลับสู่แหล่งกำเนิดเดิมเพื่อขยายพันธุ์ ซึ่งลูกฉลามหัวค้อนหยักจะใช้ชีวิตปีแรกในพื้นที่อนุบาลริมชายฝั่งเหล่านี้ ก่อนที่พวกมันจะออกสู่ทะเลเปิด[6]
  • เขตห้ามจับฉลามในพื้นที่เหล่านี้บางแห่ง เช่น คาบสมุทรยูกาตันตะวันตกในช่วงฤดูผสมพันธุ์เพื่อปกป้องฉลามหัวค้อนที่มีอายุน้อย[7]

จากการศึกษาในบางส่วนของมหาสมุทรแอตแลนติกประชากรของพวกเขาลดลงกว่าร้อยละ 95 ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สาเหตุของการลดลงคือการทำประมงเกินขนาด และความต้องการหูฉลามที่เพิ่มขึ้น นักวิจัยระบุว่าการเพิ่มขึ้นของความต้องการหูฉลามซึ่งเป็นอาหารอันโอชะราคาแพง (เช่น ซุปหูฉลาม) และใน พ.ศ. 2551 ได้เรียกร้องให้มีการห้ามการตัดเฉพาะหูฉลาม (shark finning) ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในการตัดหูฉลามออกและโยนส่วนที่เหลือของฉลามกลับลงไปในทะเลให้ตาย

ฉลามหัวค้อนชนิดต่าง ๆ เป็นหนึ่งในปลาฉลามที่ถูกจับได้บ่อยที่สุดสำหรับการนำไปบริโภคครีบ (หูฉลาม)[8] เนื่องจาก "ฉลามหัวค้อนมีแนวโน้มรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ ทำให้การจับเป็นจำนวนมากด้วยเบ็ดราว อวนลอยหน้าดิน และอวนลากทำได้ง่ายขึ้น"[9] ทั่วโลกปลาฉลามหัวค้อนถูกจับปลามากเกินไปเพราะครีบและน้ำมันตับของพวกมัน ในปี 2563 มีการประมาณจำนวนครีบที่ถูกจับตัดถึง 1.3–2.7 ล้านครีบในแต่ละปีจากฉลามหัวค้อนเรียบ (S. zygaena) และปลาฉลามหัวค้อนหยักเพื่อการค้าครีบฉลาม (หูฉลาม)[10]

ในวารสารเนเจอร์ เดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ซึ่งศึกษาปลาฉลามและปลากระเบน 31 ชนิดพบว่า จำนวนสายพันธุ์เหล่านี้ที่พบในมหาสมุทรเปิดลดลงร้อยละ 71 ในรอบ 50 ปี ซึ่งปลาฉลามหัวค้อนหยักถูกรวมอยู่ในการศึกษา[11][12]

อ้างอิง[แก้]

  1. Rigby, C.L., Dulvy, N.K., Barreto, R., Carlson, J., Fernando, D., Fordham, S., Francis, M.P., Herman, K., Jabado, R.W., Liu, K.M., Marshall, A., Pacoureau, N., Romanov, E., Sherley, R.B. & Winker, H. (2019). "Sphyrna lewini". The IUCN Red List of Threatened Species. IUCN. 2019: e.T39385A2918526.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. "The IUCN Red List of Threatened Species". IUCN Red List of Threatened Species. สืบค้นเมื่อ 2021-04-30.
  3. "The IUCN Red List of Threatened Species". IUCN Red List of Threatened Species. สืบค้นเมื่อ 2021-04-30.
  4. Chapman, Demian D.; Pinhal, Danillo; Shivji, Mahmood S. (2009-12-01). "Tracking the fin trade: genetic stock identification in western Atlantic scalloped hammerhead sharks Sphyrna lewini". Endangered Species Research (ภาษาอังกฤษ). 9 (3): 221–228. doi:10.3354/esr00241. ISSN 1863-5407.
  5. Chapman, Demian D.; Pinhal, Danillo; Shivji, Mahmood S. (2009-12-01). "Tracking the fin trade: genetic stock identification in western Atlantic scalloped hammerhead sharks Sphyrna lewini". Endangered Species Research (ภาษาอังกฤษ). 9 (3): 221–228. doi:10.3354/esr00241. ISSN 1863-5407.
  6. Kinney, Michael John; Simpfendorfer, Colin Ashley (2009). "Reassessing the value of nursery areas to shark conservation and management". Conservation Letters (ภาษาอังกฤษ). 2 (2): 53–60. doi:10.1111/j.1755-263X.2008.00046.x. ISSN 1755-263X. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-06. สืบค้นเมื่อ 2021-05-30.
  7. Cuevas‐Gómez, Gabriela Alejandra; Pérez‐Jiménez, Juan Carlos; Méndez‐Loeza, Iván; Carrera‐Fernández, Maribel; Castillo‐Géniz, José Leonardo (2020). "Identification of a nursery area for the critically endangered hammerhead shark (Sphyrna lewini) amid intense fisheries in the southern Gulf of Mexico". Journal of Fish Biology (ภาษาอังกฤษ). 97 (4): 1087–1096. doi:10.1111/jfb.14471. ISSN 1095-8649. PMID 32691418.
  8. Savage, Sam (19 February 2008). "Hammerhead Shark Makes Endangered Species List". redorbit.com.
  9. "Sphyrna lewini". Florida Museum (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 12 May 2017. สืบค้นเมื่อ 25 April 2020.
  10. "Smooth Hammerhead Shark". Oceana (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2 March 2020.
  11. Briggs, Helen (28 January 2021). "Extinction: 'Time is running out' to save sharks and rays". BBC News. สืบค้นเมื่อ 29 January 2021.
  12. Richardson, Holly (27 January 2021). "Shark, ray populations have declined by 'alarming' 70 per cent since 1970s, study finds". ABC News. Australian Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ 29 January 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]