ปลากะพงขาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลากะพงขาว
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: อันดับปลากะพง
วงศ์: วงศ์ปลากะพงขาว
สกุล: ปลากะพงขาว (สกุล)
(Bloch, 1790)
สปีชีส์: Lates calcarifer
ชื่อทวินาม
Lates calcarifer
(Bloch, 1790)
ชื่อพ้อง[2]
  • Holocentrus calcarifer Bloch, 1790
  • Coius vacti F. Hamilton, 1822
  • Pseudolates cavifrons Alleyne & W. J. Macleay, 1877
  • Lates darwiniensis W. J. Macleay, 1878

ปลากะพงขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Lates calcarifer) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่งที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดหรือน้ำกร่อยได้ อยู่ในวงศ์ปลากะพงขาว (Latidae) มีรูปร่างลำตัวหนาและด้านข้างแบน หัวโต จะงอยปากค่อนข้างยาวและแหลม นัยน์ตาโต ปากกว้างยืดหดได้ มุมปากอยู่เลยไปทางหลังนัยน์ตา ฟันเป็นฟันเขี้ยวอยู่บนขากรรไกรบนและล่าง ขอบกระดูกแก้มเป็นหนามแหลม ขอบกระดูกกระพุ้งเหงือกแข็งและคม คอดหางมีขนาดใหญ่และแข็งแรง เกล็ดใหญ่มีขอบหยักเป็นหนามเมื่อลูบจะสากมือ ครีบหลังอันแรกมีก้านครีบเป็นหนามแข็ง ปลายแหลม อันที่สองเป็นครีบอ่อนมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบใหญ่ปลายกลมมน พื้นลำตัวสีขาวเงินปนน้ำตาล แนวสันท้องสีขาวเงิน มีขนาดความยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร พบใหญ่สุดถึง 2 เมตร หนักได้ถึง 60 กิโลกรัม โดยปลาที่พบในทะเลจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาที่พบในน้ำจืด[3]

พบกระจายทั่วไปในชายฝั่งทะเลของทวีปเอเชียไปจนถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย โดยเป็นปลาที่อพยพไปมาระหว่างทะเลกับน้ำจืด โดยพ่อแม่ปลาจะว่ายจากชายฝั่งเข้ามาวางไข่ในป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำ จนกระทั่งลูกปลาฟักและเติบโตแข็งแรงดีแล้ว จึงจะว่ายกลับสู่ทะเล บางครั้งพบอยู่ไกลจากทะเลนับเป็นร้อย ๆ กิโลเมตร เช่นที่ แม่น้ำโขง ก็มี[4]เป็นปลากินเนื้อ อาหารได้แก่ สัตว์น้ำ, ปลา, กุ้ง ที่มีขนาดเล็กกว่า

เป็นปลาเศรษฐกิจที่กรมประมงส่งเสริมให้เลี้ยง เกษตรกรนิยมผลิตลูกปลาชนิดนี้ส่งไปจำหน่ายยังประเทศมาเลเซียและไต้หวัน เนื้อมีรสชาติดี นำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท เช่น แปะซะ, นึ่งบ๊วย เป็นต้น และนิยมตกเป็นเกมกีฬา อีกทั้งยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้อีกด้วย

ปลากะพงขาวยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ปลากะพงน้ำจืด" ขณะที่ชื่อท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำบางปะกงเรียก "ปลาโจ้โล้"[5]

การดํารงชีพ และการสืบพันธุ์[แก้]

ปลากะพงขาวจัดเป็นปลากินเนื้อที่กินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่าทุกชนิดเป็นอาหาร เช่น ปลาขนาดเล็ก กุ้ง และปูและเป็นปลาที่กินพวกเดียวกันที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหารเช่นกัน แต่สามารถนํามาเลี้ยงให้กินอาหารที่ไม่มีชีวิตได้เช่น อาหารเม็ดสําเร็จรูป รวมถึงเศษปลา หรือซากสัตว์ ทั้งนี้ปลากะพงขาวในธรรมชาติมักอาศัยและหาอาหารเป็นฝูง ซึ่งปลาที่มีขนาดเล็กจะมีนิสัยดุกว่าปลาขนาดใหญ่แตจะหายไปเองเมื่อเติบโตขึ้น

ฤดูผสมพันธุ์ของปลากะพงขาวจะเริ่มในช่วงกลางฤดูร้อน โดยพ่อแม่ปลาที่มีไข่และน้ำเชื้อพร้อมผสมพันธุ์จะว่ายจากแหล่งน้ำจืดไปหาแหล่งน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำหรือเขตติดต่อกับทะเลที่มีความเค็มปานกลาง

ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก ปลากะพงขาวจะวางไข่ก่อนฤดูฝนเล็กน้อย ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน และในทางชายทะเลฝั่งอ่าวไทย ปลากะพงขาวจะวางไข่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม เพราะอิทธิพลของฤดูมรสุมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

อ้างอิง[แก้]

  1. Pal, M.; Morgan, D.L. (2019). "Lates calcarifer". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T166627A1139469. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-3.RLTS.T166627A1139469.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2019). "Lates calcarifer" in FishBase. December 2019 version.
  3. หนังสือสารานุกรมปลาไทย โดย สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล. กรุงเทพ. (พ.ศ. 2540). ISBN 9789748990026.
  4. บทความเรื่อง พันธุ์ปลาหลังเปิดเขื่อนปากมูล งานวิจัยของคนหาปลา สารคดี, สิงหาคม พ.ศ. 2545 โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์
  5. รายการกิน อยู่ คือ ทางทีวีไทย: พุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]