วงศ์ปลาวัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปลากวาง)
วงศ์ปลาวัว
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีน - ปัจจุบัน
ปลาวัวไททัน หรือ ปลาวัวอำมหิต (Balistoides viridescens) เป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุดของวงศ์นี้
ปลาวัวปิกาโซ (Rhinecanthus aculeatus) เป็นชนิดหนึ่งที่มีสีสันและลวดลายสวยงาม นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Tetraodontiformes
วงศ์: Balistidae
สกุล
12 ดูในเนื้อหา

วงศ์ปลาวัว หรือ วงศ์ปลางัว หรือ วงศ์ปลากวาง[1] (วงศ์: Balistidae; อังกฤษ: Triggerfish; ฮาวาย: Humuhumu) เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็งทะเลวงศ์หนึ่ง อยู่ในอันดับปลาปักเป้า (Tetraodontiformes)

มีรูปร่างโดยรวม ลำตัวกว้างแบนเป็นทรงกลมรีคล้ายรูปไข่ ข้างตำแหน่งตาอยู่สูงบริเวณด้านบนของหัว ที่ครีบหลังอันแรกจะมีหนามแข็ง 3 อัน สามารถพับเก็บได้ และจะตั้งขึ้นได้เพื่อใช้ในการข่มขู่ศัตรู มีก้านครีบหางจำนวน 12 ก้าน และ 18 ก้านครีบที่ครีบหลัง มีเกล็ดที่ใหญ่แข็งและหนังหนา ส่วนของใบหน้ายาวและยื่นแหลมออกมา ปากมีขนาดเล็ก ภายในมีฟัน 4 ซี่ที่ด้านนอก และด้านในอีก 3 ซี่ ที่แหลมคมมาก ใช้สำหรับขบกัดสัตว์มีเปลือกต่าง ๆ กินเป็นอาหาร รวมถึงฟองน้ำ, ปะการัง, สาหร่าย หรือเม่นทะเลด้วย เช่นเดียวกับปลาปักเป้า อันเป็นปลาในอันดับเดียวกัน แต่อยู่ต่างวงศ์กัน พบกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น เช่น อินโด-แปซิฟิก, หมู่เกาะฮาวาย, ทะเลแดง, มหาสมุทรอินเดีย, ทะเลอันดามัน, อ่าวไทย, ทะเลฟิลิปปิน และมหาสมุทรแอตแลนติก

ตาของปลาวัวสามารถกลอกกลิ้งไปมาได้ อันเป็นลักษณะเฉพาะ โดยปกติแล้ว เป็นปลาที่มีอุปนิสัยดุร้าวก้าวร้าวมาก มักไล่กัดปลาอื่นหรือแม้แต่พวกเดียวกันเองที่รุกล้ำเข้ามาในถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นปลาที่จะหากินและอาศัยอยู่ในแนวปะการัง มีพฤติกรรมหากินโดยซอกซอนหากินเอาในแนวปะการังในเวลากลางวัน และนอนหลับพักผ่อนในเวลากลางคืน เป็นปลาที่ว่ายน้ำได้รวดเร็วมากโดยใช้ครีบหลัก ๆ ทั้ง 2 ครีบในด้านบนและด้านล่างของลำตัว ขณะที่ครีบหางใช้เป็นตัวควบคุมทิศทาง

เป็นปลาที่มีพฤติกรรมผสมพันธุ์วางไข่ โดยวางไข่ตามพื้นในรังซึ่งตัวผู้จะทำหน้าที่เฝ้าระวัง ซึ่งบางชนิดจะมีนิสัยดุร้ายมากในช่วงนี้

โดยมากแล้วเป็นปลาที่มีสีสันและลวดลายสวยงามสดใสมาก จึงเป็นที่นิยมมากของนักดำน้ำและนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย แต่ว่าเป็นปลาที่ดุร้ายมาก สามารถพุ่งเข้ากัดจนเป็นแผลเหวอะหรือไล่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ใหญ่กว่ามากได้อย่างไม่เกรงกลัว

มีขนาดความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 25–50 เซนติเมตร โดยมีชนิดที่ใหญ่ที่สุด คือ ปลาวัวไททัน (Balistoides viridescens) ที่ใหญ่ได้ถึง 75 เซนติเมตร หรือราว 1 เมตร และนับเป็นชนิดที่อันตรายมาก เพราะมีรายงานการกัดและไล่นักดำน้ำมาแล้วในหลายที่[2][3]

การจำแนก[แก้]

แบ่งออกได้เป็น 12 สกุล ประมาณ 40 ชนิด[4]

รอยแผลจากการกัดของปลาวัว

อ้างอิง[แก้]

  1. "งัว ๔". พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2011-09-27.
  2. "มารู้จักปลาวัวยักษ์และการรับมือการจู่โจมกันครับ{แตกประเด็นจาก E11059678}". พันทิปดอตคอม.
  3. รังผึ้ง, วินิจ. "ดำน้ำกับปลาวัวดุ". ผู้จัดการออนไลน์.[ลิงก์เสีย]
  4. "Balistidae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]