ปลากระเบนกิตติพงษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลากระเบนกิตติพงษ์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
อันดับ: Myliobatiformes
วงศ์: Dasyatidae
สกุล: Himantura
สปีชีส์: H.  kittipongi
ชื่อทวินาม
Himantura kittipongi
Vidthayanon & Roberts, 2005

ปลากระเบนกิตติพงษ์ หรือ ปลากระเบนแม่กลอง (อังกฤษ: Kittipong's whipray; ชื่อวิทยาศาสตร์: Himantura kittipongi) ปลากระเบนน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae) มีรูปร่างเหมือนปลากระเบนในวงศ์นี้ทั่วไป ต่างกันที่ด้านหลังจะมีสีน้ำตาลเข้มอมเหลือง รอบวงของลำตัว หาง ช่องหายใจ ช่องเหงือกและขอบด้านล่างของตัวเป็นสีคล้ำ และจำนวนของฟันซึ่งมีลักษณะเป็นซี่เล็ก ๆ บริเวณขากรรไกรล่างมีจำนวนมากถึง 14-15 แถว ส่วนลำตัวมีขนาดใหญ่สุดประมาณ 60 เซนติเมตร ส่วนหางยาว 50-80 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม

ปลากระเบนกิตติพงษ์ ได้ถูกจำแนกออกจากปลากระเบนขาว (H. signifer) ซึ่งเป็นปลากระเบนลักษณะคล้ายคลึงกัน จากการสังเกตของเจ้าของร้านขายปลาสวยงามแห่งหนึ่งในตลาดกลางปลาสวยงาม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากนั้น กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ นักสำรวจปลาน้ำจืดชาวไทยที่มีชื่อเสียงได้ส่งตัวอย่างต้นแบบแรกให้แก่ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักมีนวิทยาชาวไทย และ ดร.ไทสัน อาร์. โรเบิร์ตส์ แห่งสถาบันสมิธโซเนียน ได้ร่วมกันอนุกรมวิธาน และได้ให้ชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นเกียรติแก่กิตติพงษ์

แหล่งอาศัยของปลากระเบนกิตติพงษ์ พบได้บ่อยในแม่น้ำแม่กลองในบริเวณที่เป็นน้ำจืด ตั้งแต่จังหวัดราชบุรีถึงกาญจนบุรี บริเวณหลังเขื่อนแม่กลองพบได้น้อยมาก เนื่องจากการปิดเขื่อนที่ต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี นอกจากนี้แล้วยังพบได้บ้างในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็พบได้น้อยมาก และยังพบได้ที่รัฐปะหังและซาราวัก ในประเทศมาเลเซียอีกด้วย โดยชาวบ้านในจังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า "ปลากระเบนเหลือง" หรือ "ปลากระเบนทราย"

ปัจจุบัน ปลากระเบนกิตติพงษ์สามารถขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้แล้วโดยกรมประมง[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Himantura kittipongi". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2010.2. 2007. สืบค้นเมื่อ August 23, 2010.
  2. หน้า 102-120, กระเบนน้ำจืดแห่งชาติ. "Wild Ambition" โดย กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, ชวลิต วิทยานนท์. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 51: กันยายน 2014

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]