ปลัดขิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลัดขิกในถ้ำพระนาง จังหวัดกระบี่

ปลัดขิก เป็นรูปจำลองอวัยวะเพศชาย มักทำด้วยไม้ ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง อ้ายขิก, ไอ้ขิก หรือ ขุนเพ็ด ก็เรียก[1]

ลักษณะ[แก้]

ปลัดขิกหรือขุนเพ็ดจัดเป็นเครื่องรางของขลังที่ได้รับความนิยมอีกอย่างหนึ่งของคนไทย ปลัดขิกส่วนมากแกะสลักมาจากไม้ที่เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคล หรือบางทีอาจทำจาก หิน ทองเหลือง ทองแดง กัลปังหา เขา งา เขี้ยว ของสัตว์[2] แกะสลักเป็นรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศชายแต่ไม่มีหนังหุ้มปลายอวัยวะ มีขนาดต่าง ๆ กันและยาวพอเหมาะกับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง เมื่อทำการแกะสลักแล้วก่อนนำมาบูชาเป็นเครื่องรางของขลังจะต้องทำการปลุกเสกโดยผู้มีความรู้ด้านไสยศาสตร์ หรือพระภิกษุ ซึ่งหากทำการปลุกเสกด้วยพระภิกษุเชื่อกันว่าจะได้รับพระพุทธคุณมาด้วย ในปัจจุบันจึงพบว่าปลัดขิกส่วนใหญ่มาจากการปลุกเสกของพระภิกษุ คนไทยบางคนเชื่อกันว่าให้คุณแก่ผู้บูชา ส่วนชาวต่างชาติก็ทำเป็นของสะสม

ส่วนชื่อเรียก ปลัดขิก ไม่มีที่มาปรากฏชัดว่าเหตุใดจึงเรียกเช่นนั้น ส่วนคำว่า ปลัด หมายถึง ตำแหน่งรองจากตำแหน่งที่เหนือกว่า[2] หรือสันนิษฐานว่าพ้องเสียงมาจากคำว่า ปราศวะ ในภาษาสันสกฤต แปลว่าเคียงข้าง เนื่องจากผู้บูชาปลัดขิกนิยมแขวนไว้ที่เอวหรือหากเป็นเด็กจะแขวนที่คอ เมื่อมีผู้พบเห็นแล้วเกิดหัวเราะเสียงดังคล้าย คิกๆคักๆ จึงอาจเพี้ยนมาเป็นปลัดขิก[3]

ประวัติ[แก้]

ตามความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมานั้น สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากชาวอินเดียในแถบตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 2000 ปีก่อน โดยอาจเกี่ยวข้องกับชาวฮินดูที่นับถือพระศิวะ และบูชาแท่งหินแกะสลักคล้ายอวัยวะเพศชาย เรียกว่า ศิวลึงค์

การเริ่มบูชาปลัดขิกนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการบูชาพระอาทิตย์และพระจันทร์ ซึ่งได้มีการสร้างเสาหินที่ผสมผสานระหว่างรูปร่างของพระอาทิตย์และพระจันทร์เข้าด้วยกัน หากดูผิวเผินจะคล้ายกับอวัยวะเพศชาย จึงเรียกว่า ลึงค์ เมื่อมีความเชื่อเกี่ยวกับพระอิศวรหรือพระศิวะกับพระอุมา ศิวลึงค์จึงได้สร้างขึ้นมาให้มีขนาดเล็กลงเพื่อความสะดวกในการพกพา

บางตำนาน กล่าวว่าเกิดจากบรรดาเทพและมนุษย์ร่วมกันสร้างเพื่อบูชาพระศิวะ แต่การจะสร้างพระศิวะเพื่อบูชานั้นอาจดูว่าเป็นเรื่องธรรมดามากเกินไป จึงได้สร้างศิวะลึงค์ขึ้นบูชาซึ่งอาจสื่อถึงความมีราคะของพระศิวะ

ส่วนอีกตำนานหนึ่งนั้นกล่าวว่า วันหนึ่งพระศิวะร่วมเสพสังวาสกับพระอุมาในท้องพระโรง ทำให้บรรดาเหล่าเทพที่มาเข้าเฝ้าเห็นเข้า และแสดงความไม่นับถือต่อพระศิวะ ด้วยเหตุนี้พระศิวะจึงบันดาลโทสะและประกาศในท้องพระโรงนั้นว่า อวัยวะของพระองค์นี่แหละจักปกป้องคุ้มครองแก่ผู้เคารพบูชา หากเทพหรือมนุษย์ผู้ต้องการประสบความสำเร็จและความสุขในชีวิตจะต้องเคารพบูชาให้กราบไหว้บูชาอวัยวะของพระองค์

มีบางตำนานกล่าวว่า วันหนึ่งเกิดโรคระบาดจนมีผู้คนล้มตายลงเป็นอันมากและเชื่อกันว่าเกิดจากพระอุมา อัครมเหสีของพระศิวะเกิดบันดาลโทสะโดยไม่ทราบสาเหตุ เหล่าพราหมณ์จึงแก้ด้วยการทำสิ่งบูชาคล้ายอวัยวะเพศชายเพื่อเป็นตัวแทนพระอิศวรและทำให้โรคระบาดหายไปในที่สุด

ตำนานที่เชื่อกันว่าน่าเชื่อถือที่สุดคือตำนานเกี่ยวกับการบูชา ตรีมูรติ มีการบูชาเทพผู้เป็นใหญ่ทั้งสามได้แก่ พระศิวะ พระพรหม พระวิษณุ และเทพทั้งสามได้มาปรากฏกายให้ผู้บูชาได้ชื่นชมพระบารมี โดยพระพรหมปรากฏเป็น สี่หน้า สี่กร พระวิษณุ เป็นเทพธรรมดา ส่วนพระศิวะปรากฏให้เห็นเฉพาะส่วนที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเพศชาย หลักจากนั้นจึงได้มีการสร้างสิ่งเคารพที่แสดงถึงเทพทั้งสามตามที่ปรากฏให้เห็น [4]

ในประเทศไทยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเริ่มมีมาในสมัยใด และมีความแแตกต่างจากศิวลึงค์ของชาวฮินดู เนื่องจากปลัดขิกที่คนไทยนำมาบูชานั้นทำขึ้นจากผู้มีวิชาความรู้ด้านไสยศาสตร์และทำการปลุกเสกเพื่อให้เป็นเครื่องรางของขลัง โดยในสมัยโบราณคนไทยนิยมห้อยปลัดขิกไว้กับเอวหรือห้อยคอสำหรับเด็กผู้ชาย ซึ่งการทำเช่นนี้เพราะมีความเชื่อว่าหากมีปลัดขิกติดตัวจะช่วยป้องกันอันตรายต่างๆได้ หรือบางคนนำมาบูชาไว้กับสถานประกอบการค้าขายเพราะเชื่อว่าจะทำให้ค้าขายมีกำไรมีคนอุดหนุนกิจการมากขึ้น

ความเชื่อในปัจจุบัน[แก้]

ปลัดขิกในปัจจุบันนอกจากทำขึ้นโดยผู้มีความรู้ด้านไสยศาสตร์แล้ว ยังพบว่าถูกสร้างโดยพระภิกษุและได้รับความนิยมมากอาจเพราะมีความเชื่อทางด้านพุทธคุณประกอบกัน หรือ บางครั้งถูกสร้างโดยผู้มีความศรัทธาในพระภิกษุนั้นแล้วทำการแกะสลักปลัดขิกจากนั้นจึงนำไปให้พระภิกษุที่ตนเองนับถือทำการปลุกเสก

นอกจากนี้ปลัดขิกยังถูกมองว่าเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะมีการแกะสลักเป็นรูปลิง หรือรูปร่างหญิงเปลือยกาย ซึ่งล้วนแต่มีความเชื่อผสมอยู่เสมอ เช่น ลิงอาจหมายถึงความคล่องแคล่ว หญิง หมายถึง มีเสน่ห์ หรือทำขึ้นเพื่อให้ชาวต่างชาตินำไปเป็นของสะสม[3] [5] โดยมีความศรัทธาร่วมหรือไม่ก็สุดแล้วแต่

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2011-10-14.
  2. 2.0 2.1 ปลัดขิกและองคชาต
  3. 3.0 3.1 "มนต์เสน่ห์ของ...ปลัดขิก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-16. สืบค้นเมื่อ 2011-10-13.
  4. เครื่องรางสิ่งมงคล ชัย ป่ายางหลวง สำนักพิมพ์เพชรสีน้ำเงิน
  5. ""ปลัดขิก" เครื่องรางศิลปะอีโรติก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-01. สืบค้นเมื่อ 2011-10-13.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]