ปราสาทสระกำแพงใหญ่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปราสาทสระกำแพงใหญ่

ปราสาทสระกำแพงใหญ่ หรือ ปราสาทศรีพฤทเธศวร ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสระกำแพงใหญ่ ถนนประดิษฐ์ประชาราษฎร์ หมู่ 1 ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้กับสถานีรถไฟอุทุมพรพิสัย และห่างจากที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัยไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กิโลเมตร

สภาพทั่วไปของปราสาท[แก้]

สภาพทั่วไปของปราสาทสระกำแพงใหญ่ประกอบด้วยระเบียงคดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 49 เมตร ยาว 67 เมตร ล้อมรอบกลุ่มปราสาทอิฐและบรรณาลัย รวมทั้งหมด 6 หลัง จากภาพถ่ายทางอากาศ ชี้ให้เห็นว่าปราสาทสระกำแพงใหญ่น่าจะมีชุมชนรายรอบอย่างหนาแน่น ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ห่างออกไปประมาณ 400 เมตร มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เรียกว่า "สระกำแพง" สันนิษฐานว่าน่าจะขุดขึ้นเมื่อครั้งสร้างปราสาท ส่วนทางทิศตะวันออกมีลำห้วยเล็ก ๆ ไหลผ่าน คือ ห้วยตาเหมา ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาที่แยกออกมาจากห้วยสำราญ

ความสำคัญ[แก้]

ปราสาทสระกำแพงใหญ่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธแบบมหายานเพื่อเป็นที่ประดิษฐานเทวรูป จากการขุดแต่งบูรณปราสาทแห่งนี้ ของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2532 ได้ค้นพบปฏิมากรรมสำริดขนาดใหญ่เฉพาะองค์สูง 140 เซนติเมตร และรวมความสูงทั้งฐาน 180 เซนติเมตร ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ให้ความเห็นว่าเป็นรูปของนันทิเกศวร หรือ นันทีศวร ลักษณะพิเศษ คือเป็นสำริดกะไหล่ทอง เดิมอาจจะตั้งอยู่หน้าปราสาทหลังกลางภายในมุขหน้าปราสาท เพราะโดยปกติจะประจำอยู่กับเทวาลัยของพระอิศวร ปฏิมากรรมชิ้นนี้เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนตอนปลาย สำคัญมากนับเป็นปฏิมากรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันจัดแสดงพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน[แก้]

ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 0ง วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับปราสาทอีกหลายแห่งในจังหวัดขุขันธ์ (ชื่อในขณะนั้น)[1]

การประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน[แก้]

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 255 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน (กรมศิลปากร, 2539 : 143 - 144)

ประวัติ[แก้]

ความเป็นมาของปราสาทสระกำแพงใหญ่ ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าสร้างขึ้นมาในสมัยใดหรือศักราชใด ถึงแม้จะพบจารึกที่โบราณสถานแห่งนี้ ข้อความในจารึกกล่าวถึงการซื้อที่ดินถวายแก่เจ้านายผู้ล่วงลับคือ "กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร" ไม่ได้กล่าวถึงการสร้างปี พ.ศ. 1585 ที่ปรากฏในจารึกไม่ใช่ปีที่สร้างปราสาท ระยะดังกล่าวในกัมพูชาเป็นสม้ยที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์ แต่มิได้หมายถึงพระองค์เป็นผู้สร้าง จากการศึกษาลาดลายต่าง ๆ ทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ปราสาทสระกำแพงใหญ่ น่าจะมีอายุอยู่ในศิลปะเขมรแบบบาปวน หรือประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงพุทธศตวรรษที่ 16 ตอนปลาย

ปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นศาสนสถานแบบเขมร ทั้งในด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม รวมทั้งความเชื่อในการนับถือศาสนาจากหลักฐานที่ปรากฏสันนิษฐานว่าเดิมเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู โดยดูจากทับหลังที่สลักภาพบุคคลเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาฮินดู ภายหลังเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้จึงเปลี่ยนเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธโดยได้ขุดพบพระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ สูง 1.33 เมตร

จารึกปราสาทสระกำแพงใหญ่[แก้]

จารึกบริเวณกรอบประตูระเบียบคต

จากจารึกปราสาทสระกำแพงใหญ่ ที่กรอบประตูระเบียงคต มีทั้งหมด 33 บรรทัด เนื้อความย่อมีดังนี้

พระกมรเตงอัญศิวทาส คุณโทศพระสภาแห่งกมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร เมืองสดุกอำพิลร่วมกับข้าราชการคนอื่น ๆ คือพระกมรเตง อัญขทุรอุปกัลปดาบส พระกมรเตงอัญศิขเรสวัตพระธรรมศาสตร์ และพระกมรเตงอัญ ผู้ตรวจราชการ แต่ละปักษ์ ซื้อที่ดินซึ่งอยู่ติดกับตระพัง (สระน้ำ) เพื่อถวายให้แก่กมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร ในวันวิศุวสงกราณต์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 มหาศักราช 964 (พ.ศ. 1585)

องค์ประกอบของปราสาท[แก้]

  1. บาราย บารายคือสระน้ำ นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของศาสนสถานประเภทปราสาทหิน เนื่องจากจะต้องใช้น้ำในการประกอบศาสนพิธี ปกติบารายจะอยู่รอบ หรือทางทิศตะวันออกของศาสนสถาน บารายที่อยู่รอบศาสนสถานนั้นเป็นการจำลองเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรทั้ง 4 ด้านตะวันออกเป็นด้านที่ศาสนิกชนเข้าเฝ้าเทพเจ้า ซึ่งมักจะต้องตักน้ำเพื่อไปสรงศิวลึงค์หรือชำระพระบาทเทพเจ้า บารายที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่นี้อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันไม่เหลือสภาพแล้ว
  2. ระเบียงคต ระเบียงคตเป็นกำแพงของศาสนสถานที่ล้อมรอบอาคารศาสนสถานไว้ภายใน ระเบียงคตนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 49 เมตร ยาว 67 เมตร ระเบียงคตมีซุ้มประตูโคปุระ (ซุ้มประตู) ทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ฐานและผนังก่อด้วยศิลาแลงกรอบประตูหน้าต่างทำด้วยหินทรายภายในมีช่องทางเดินกว้าง 3 เมตร สภาพส่วนใหญ่คงเหลือแต่ฐานและผนังบางส่วนเท่นั้น ส่วนที่เป็นหลังคาพังทลายเสื่มสภาพไปแล้ว
  3. บรรณาลัยหรือวิหาร ภายในระเบียงคตเมื่อผ่านซุ้มโคปุระด้านทิศตะวันออกเข้าไปจะพบอาคาร 2 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก อาคารทั้งสองก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื้นออกมาด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังก่อเป็นอิฐทึบแต่แซะร่องให้มีลักษณะเป็นประตูปลอมเลียนแบบประตูจริง อาคาร 2 หลังนี้เรียกว่าวิหารหรือบรรณาลัย เปรียบได้กับหอตรัยของพุทธศาสนา คือใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่ารูปเคารพ
  4. ปรางค์ ปรางค์หรือปราสาท เป็นศูนย์กลางของศาสนสถาน เป็นที่ประดิษฐานของรูปเคารพ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ประกอบด้วยปรางค์ 4 หลัง คือ ปรางค์หลังทิศเหนือ ทิศใต้ โดยมีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ปรางค์ทั้ง 3 หลังนี้ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีปรางค์เดี่ยวอีกหนึ่งหลังอยู่ทางทิศตะวันตกค่อนไปทางทิศใต้ภายในระเบียงคต (ที่มีปรางค์หลายหลังเนื่องจากศาสนาฮฺนดูนับถือพระเจ้าหลายองค์ จึงต้องมีที่ประดิษฐานรูปเคารพหลายหลัง) ปรางค์ทั้งหมดมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 4 x 4 เมตร สำหรับปรางค์ประธานมีมุขยื่นออกมาด้านหน้า ปรางค์ทุกหลังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และมีประตูเข้าออกเพียงด้านเดียว นอกนั้นทำเป็นประตูปลอม

ภาพจำหลักทับหลัง[แก้]

โบราณสถานประเภทปราสาทหิน โดยทั่วไปจะมีทับหลังตั้งอยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าเสมอ ทับหลังนี้เป็นภาพจำหลักเล่าเรื่องต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคติความเชื่อเกี่ยวกับศาสนา ภาพจำหลักทับหลังปราสาทหินสระกำแพงใหญ่เป็นศิลปะเขมรแบบคลังต่อบาปวน ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ทับหลังที่พบที่ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่มี่มากถึง 13 แผ่นอยู่ภายในบริเวณปราสาทสระกำแพงใหญ่ ทับหลังที่น่าสนใจได้แก่

  1. ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
  2. ทับหลังพระกฤษณะประลองกำลังกับม้า
  3. ทับหลังพระศิวะทรงโคนนทิ
  4. ทับหลังคชลักษมี
  5. ทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
  6. ทับหลังหนุมานถวายแหวน

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • การท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ
  • สำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ

พิกัดภูมิศาสตร์: 15°6′N 104°8′E / 15.100°N 104.133°E / 15.100; 104.133