ประวัติศาสตร์โซมาเลีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประเทศโซมาเลีย (โซมาลี: Soomaaliya; อาหรับ: الصومال aṣ-Ṣūmāl) หรือชื่ออย่างเป็นทางการ สหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย (โซมาลี: Jamhuuriyadda Federaalka Soomaaliya, อาหรับ: جمهورية الصومال الفدرالية Jumhūriyyat aṣ-Ṣūmāl al-Fideraaliya) มีชื่อเดิมว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาลี เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแหลมแอฟริกา

ตามประวัติศาสตร์สาธารณรัฐโซมาลี หรือ โซมาเลีย ตั้งอยู่บริเวณแหลมแอฟริกาซึ่งแต่เดิมเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของแอฟริกา[1][2] โดยเป็นจุดค้าขายสินค้าที่มีค่า ได้แก่ ยางสน ยางไม้หอม และเครื่องเทศ ประชาชนในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากชาวอาหรับมุสลิม[3][4]

ศตวรรษที่ 19[แก้]

อิตาเลียนโซมาลีแลนด์

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวยุโรปเริ่มแผ่ขยายลัทธิล่าอาณานิคมมายังดินแดนแหลมแอฟริกา แต่ผู้ปกครองชาวเดอร์วิชในสมัยนั้น สามารถต่อสู้และขับไล่ชาติตะวันตกออกไปได้[5][6] จนกระทั่งปี 2463 สหราชอาณาจักรทำสงครามรูปแบบใหม่โดยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดที่เมืองตาลีกซ์ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของชาวเดอร์วิช ส่งผลให้ดินแดนเดอร์วิช ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร (บริติชโซมาลีแลนด์) และมีดินแดนบางส่วนตกอยู่ภายใต้การปกครองของอิตาลี (อิตาเลียนโซมาลีแลนด์) ต่อมาในปี 2484 ดินแดนทางตอนเหนือของโซมาเลียตกอยู่ภายใต้การบริหารจัดการทางทหารของสหราช อาณาจักรส่วนดินแดนทางใต้มีสถานะเป็นดินแดนในอารักขา หลังจากนั้น สหราชอาณาจักรถอนกำลังออกจากบริเวณดังกล่าวในปี 2503 และยินยอมให้ดินแดนของตนรวมตัวกับดินแดนที่อยู่ภายใต้การดูแลของอิตาลี และจัดตั้งรัฐใหม่โดยใช้ชื่อว่า สาธารณรัฐโซมาลี

สาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาลี[แก้]

นายพลโมฮัมเหม็ด ไซอัด บาร์รี ประธานคณะปฏิวัติและประธานาธิบดีในระบอบเผด็จการ

ในปี 2512 นายพลซาลาอัด บาเบย์เร เคดีย์ นายพลโมฮัมเหม็ด ไซอัด บาร์รี และนายจามา คอร์เชล ผู้บัญชาการตำรวจได้ทำรัฐประหาร ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาลี และแต่งตั้งให้นายพลโมฮัมเหม็ด ไซอัด บาร์รี เป็นประธานาธิบดี โดยปกครองประเทศแบบเผด็จการ แต่ท้ายที่สุดระบบการปกครองของ นายพลโมฮัมเหม็ด ไซอัด บาร์รี ก็ล่มสลายลงในช่วงหลังสงครามเย็น[7][8]

สงครามกลางเมืองโซมาเลีย[แก้]

หลังจากนั้น สถานการณ์ในประเทศโซมาเลียตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย เกิดการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยต่างๆ จนกระทั่งตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตย[9] ในช่วงกลางปี 2534 ชนเผ่าทางเหนือของโซมาเลียที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรประกาศเอกราช และจัดตั้งรัฐใหม่ มีชื่อว่าสาธารณรัฐโซมาลีแลนด์ ปกครอง 6 เขต ได้แก่ อาวดาล, โวคูวี กัลบีด, ทูจด์ฮีร์, ซานัก และ ซูล อย่างไรก็ตาม รัฐดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ นอกจากนี้รัฐพุนต์แลนด์ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของโซมาเลียได้ประกาศเป็นรัฐปกครองตนเอง ในปี 2541 และปกครอง 3 เขต ได้แก่ บารี, นูกัล และทางตอนเหนือของเขตมูดัก อย่างไรก็ตามรัฐพุนต์แลนด์ยังไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะประกาศเอกราช แต่ต้องการปฏิรูประบบบริหารให้เกิดความชอบธรรม ซึ่งต่อมาทั้งสองรัฐเกิดความขัดแย้งอันเนื่องจากการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือ พื้นที่ทางตะวันออกของเขต ซูล และ ซานัก[10]

ต้นปี 2536 สหประชาชาติได้เข้ามามีบทบาทในโซมาเลียโดยได้จัดตั้งภารกิจสหประชาชาติในโซมาเลีย เพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับประชาชนในพื้นที่[8] แต่เนื่องจากการดำเนินภารกิจกระทำด้วยความยากลำบาก ทำให้สหประชาชาติต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ในปี 2538

รัฐบาลเฉพาะกาลแห่งชาติ[แก้]

หลังจากนั้น รัฐบาลเคนยาและ Intergovernmental Authority on Development (IGAD) ร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างกระบวนการสันติภาพในโซมาเลีย โดยสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและจัดตั้งรัฐบาล จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2547 นายอับดุลลาฮี ยูซุฟ อะห์เมด ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัฐบาลรักษาการโซมาเลีย[11] และได้จัดตั้งสถาบันสหพันธรัฐรักษาการ ขึ้นที่ประเทศเคนยา โดยประกอบด้วยสมาชิกสภา จำนวน 275 คน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสมัชชาสหพันธรัฐรักษาการ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความไม่สงบในกรุงโมกาดิชูยังคงมีอย่างต่อเนื่อง[12] และในปี 2549 TFG ย้ายที่ตั้งของรัฐบาลกลับมายังโซมาเลียที่เมืองไบโดอา และยึดเป็นฐานที่มั่น

เมื่อ TFG ย้ายกลับมาตั้งถิ่นฐานในโซมาเลีย TFG ได้ขอรับการสนับสนุนกองกำลังจากเอธิโอเปียเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐบาลและเสถียรภาพของรัฐ การกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่หลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่ม Islamic Court of Union (ICU) ที่สนับสนุนการปกครองตามหลักกฎหมายอิสลาม[13] และมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศ ทำให้กลุ่มต่อต้าน TFG ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรปลดปล่อยโซมาเลีย เพื่อตอบโต้การที่ TFG อนุญาตให้เอธิโอเปียรุกล้ำเข้ามาในดินแดนโซมาเลีย

ทหารเซียร์ราลีโอนที่สหภาพแอฟริกาส่งมาปฏิบัติภารกิจในโซมาเลีย

ในปี 2549 สงครามระหว่าง ARS ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมุสลิม และTFG ภายใต้การสนับสนุนจากกองกำลังเอธิโอเปีย หรือเรียกว่ายุทธการไบโดอา จึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่กองกำลังเอธิโอเปียออกไปจากโซมาเลีย อย่างไรก็ตาม TFG และกองกำลังเอธิโอเปียเป็นฝ่ายชนะ และสามารถเข้ายึดกรุงโมกาดิชูซึ่งเป็นเมืองหลวงและฐานที่มั่นของ ARS ได้สำเร็จ หลังจากนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จึงได้รับรองข้อมติ UNSC ที่ 1744 (2007) อนุมัติให้สหภาพแอฟริกาจัดตั้งภารกิจของสหภาพแอฟริกาในโซมาเลีย[14] เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพทางการเมืองของโซมาเลีย โดยมีอาณัติในการสนับสนุนการเจรจาและความปรองดองแห่งชาติ ตลอดจนคุ้มครองและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้นำทางการเมือง ผู้นำชนเผ่า ผู้นำทางศาสนา และผู้แทนจากภาคประชาสังคม

ต่อมารัฐบาลเคนยาและองค์กร Intergovernmental Authority for Development ได้ร่วมกันพยายามผลักดันให้เกิดการสร้างกระบวนการสันติภาพในโซมาเลีย[15] จนกระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2551 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงสันติภาพจิบูตีร่วมกัน โดยมีสหประชาชาติเป็นคนกลาง และในเดือนมกราคม 2552 เอธิโอเปียได้ถอนกำลังทหารออกจากโซมาเลีย

ผลของยุทธการไบโดอาทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และขั้วอำนาจของ ARS ได้แตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนให้มีการประณีประนอมกับ TFG นำโดยชีค ชารีฟ ชีค อาห์เมด ซึ่งเป็นอดีตผู้นำ ICU และฝ่ายต่อต้าน TFG นำโดยชีค ฮัสซัน ดาฮีร์ อาเวส์[16][17]

ในช่วงปลายปี 2551 นายอับดุลลาฮี ยูซุฟ อะห์เมด ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากนั้น TFG และ ARS ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลขึ้นในเดือนมกราคม 2552 โดยเห็นชอบให้เพิ่มสมาชิกสภาจากฝ่าย ARS อีก 275 คน ดังนั้น รัฐสภาจึงมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 550 คน และรัฐสภาใหม่ได้คัดเลือกให้ชารีฟ ชีค อาห์เหม็ด ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี[18] เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 นอกจากนี้ ได้แต่งตั้งให้นายโอมาร์ อับดีราซิด อาลี ชาร์มาร์กี บุตรชายของนายอับดุลลาฮี ยูซุฟ อะห์เมด ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโซมาเลีย

อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพของ TFG ยังคลอนแคลน เนื่องจากกองกำลังเอธิโอเปียซึ่งเป็นกำลังพลส่วนมากได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ คงเหลือเฉพาะกองกำลังของสหภาพแอฟริกาที่ช่วยรักษาความมั่นคงและฟื้นฟูประเทศ ความอ่อนแอของรัฐบาลทำให้กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงกลับมามีอำนาจ ประกาศใช้กฎหมายอิสลาม และบุกยึดพื้นที่ทางตอนใต้ของโซมาเลีย และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงได้เข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงโมกาดิชูได้สำเร็จ แต่ยังไม่สามารถล้มรัฐบาลได้[19]

อ้างอิง[แก้]

  1. John Kenrick, Phoenicia, (B. Fellowes: 1855), p. 199.
  2. Jeanne Rose, John Hulburd, The aromatherapy book: applications & inhalations, (North Atlantic Books: 1992), p. 94.
  3. Charnan, Simon (1990). Explorers of the Ancient World. Childrens Press. p. 26. ISBN 0-516-03053-1.
  4. "The Mariner's mirror". The Mariner's Mirror. Society For Nautical Research. 66–71: 261. 1984.
  5. Christine El Mahdy, Egypt : 3000 Years of Civilization Brought to Life, (Raincoast Books: 2005), p.297.
  6. Stefan Goodwin, Africa's legacies of urbanization: unfolding saga of a continent, (Lexington Books: 2006), p. 48.
  7. Laitin 1977, p. 8.
  8. 8.0 8.1 Issa-Salwe, Abdisalam M. (1996). The Collapse of the Somali State: The Impact of the Colonial Legacy. London: Haan Associates. pp. 34–35. ISBN 187420991X.
  9. Kevin Shillington, Encyclopedia of African history‎, (CRC Press: 2005), p. 1406.
  10. Samatar, Said Sheikh (1982). Oral Poetry and Somali Nationalism. Cambridge University Press. pp. 131 & 135. ISBN 0-521-23833-1.
  11. Peter Robertshaw (1990). A History of African Archaeology. J. Currey. p. 105. ISBN 978-0-435-08041-9.
  12. S. A. Brandt (1988). "Early Holocene Mortuary Practices and Hunter-Gatherer Adaptations in Southern Somalia". World Archaeology. 20 (1): 40–56. doi:10.1080/00438243.1988.9980055. JSTOR 124524. PMID 16470993.
  13. Greystone Press Staff, The Illustrated Library of The World and Its Peoples: Africa, North and East, (Greystone Press: 1967), p. 338.
  14. H.W. Seton-Karr (1909). "Prehistoric Implements From Somaliland". Man. 9 (106): 182–183. doi:10.2307/2840281. JSTOR 2840281. สืบค้นเมื่อ 30 January 2011.
  15. Bakano, Otto (April 24, 2011). "Grotto galleries show early Somali life". AFP. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-30. สืบค้นเมื่อ 11 May 2013.
  16. Mire, Sada (2008). "The Discovery of Dhambalin Rock Art Site, Somaliland". African Archaeological Review. 25: 153–168. doi:10.1007/s10437-008-9032-2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-27. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  17. Alberge, Dalya (17 September 2010). "UK archaeologist finds cave paintings at 100 new African sites". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 25 June 2013.
  18. Hodd, Michael (1994). East African Handbook. Trade & Travel Publications. p. 640. ISBN 0844289833.
  19. Ali, Ismail Mohamed (1970). Somalia Today: General Information. Ministry of Information and National Guidance, Somali Democratic Republic. p. 295.