ประยุกต์ศิลป์และหัตถกรรมตะวันออก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประยุกต์ศิลป์และหัตถกรรมตะวันออก

π

งานประยุกต์ศิลป์[แก้]

ส่วนใหญ่คืองานศิลปะที่สนองประโยชน์ใช้สอย ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะงานประณีตศิลป์ และงานหัตถกรรมเท่านั้น เพราะทั้งสองประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นส่งของเครื่องใช้ นับตั้งแต่สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันขึ้นไปจนถึงสิ่งฟุ่มเฟือยซึ่งสนองตอบในทางตกแต่งประดับประดามากกว่าจะมีความจำเป็นจริงๆ ในเรื่องนี้ถ้าเราหันกลับไปดูในยุคโบราณก็จะเห็นได้ว่ามนุษย์ดึกดำบรรพ์มีทั้งเครื่องมือหิน หนังสัตว์ และเครื่องประดับประดาที่เป็นลูกปัดร้อยเป็นพวงแขวนคอ ดังนั้น เครื่องประดับอาจใช้แทนเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ก็ได้

ประณีตศิลป์[แก้]

มักจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ของชนชั้นสูง เช่น เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องประดับมุก ตลอดจนผ้าแพรพรรณที่ประณีต ลักษณะรูปแบบของประณีตศิลป์ย่อมขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมอีกด้วย เช่น เครื่องประดับร่างกายของชาวอินเดีย จะสวมแหวนในงานพิธี ทั้งนิ้วมือและนิ้วเท้า ของจีนนิยมใช้หยกและทองคำมาทำเครื่องประดับ ส่วนของไทยนิยมทั้งเงิน นาก ทองคำ และยังมี “ นพเก้า ” คือ แก้วมณีทั้ง 9 ชนิดอีกด้วย

หัตถกรรม[แก้]

ประณีตศิลป์กับงานหัตถกรรม มีส่วนคล้ายกันในเรื่องชนิดของงาน เช่น เครื่องใช้ เครื่องประดับ แต่ลักษณะของงานย่อมแสดงให้เห็นว่า งานหัตถกรรมใช้ฝีมือตามวิธีการที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาและมีความละเอียดพอควรแก่ชนิดของงาน การตกแต่งประดับประดาอาจน้อยลง เช่น การทำภาชนะดินเผา ถ้าเป็นระดับงานหัตถกรรม ก็จะทำแต่เฉพาะตัวภาชนะเกลี้ยง ๆ ไม่เคลือบผิว แต่ถ้าเป็นประณีตศิลป์ อาจจะต้องมีขารอง ทำชั้นเชิงที่ขาเพื่อเหมาะกับเขียนลาย แล้วเคลือบสีเขียวลายตกแต่งให้วิจิตรบรรจงขึ้นก็ได้หรือในการทอผ้า ถ้าเป็นผ้าด้ายธรรมดาย้อมสี ก็ทอเป็นผ้าพื้น ผ้าขาวม้า แต่ถ้าทอด้วยไหมสลับดิ้นทองยกเป็นดอกดวงที่ประณีต ก็จะแตกต่างกันไป เพราะเพียงผ้าพื้นและผ้าขาวม้านั้น เป็นเพียงงานหัตกรรมที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันมากกว่าผ้าไหมสอดดิ้นทองแพววพราวซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ที่ใช้ครั้งคราวเท่านั้น

เครื่องเคลือบดินเผา[แก้]

ทำกันมาก่อนในทวีปเอเชีย จนมีชื่อเสียงทั้งของจีนและของไทย แล้วก็มีผู้นำเอาไปในยุโรปภายหลัง จึงเห็นได้ว่า งานประยุกต์ศิลป์และงานหัตถกรรมของตะวันออก มีส่วนผลักดันให้ทางตะวันตกคิดสร้างสรรค์ขึ้นด้วย นอกจากนั้นยังได้แสดงถึงประโยชน์ในการช่างใช้และเหมาะสมกับชีวิตของชาวตะวันออกเอง ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามลักษณะของวัฒธรรมในและละประเทศด้วย

เครื่องปั้นดินเผา[แก้]

นับว่าเป็นงานที่มีรูปแบบที่วิวัฒนาการสืบเนื่องมายาวนานที่สุด จากการรวบรวมหลักสูตรมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทราบได้ว่ามีการทำภาชนะดินเผากันมาไม่ต่ำกว่า 7,000 ปี แล้ว รูปแบบของภาชนะก็จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ตามสมัยและในบางยุคสมัยก็ยังสามารถสร้างสรรค์ให้เป็นที่นิยมไปทั่วสารทิศ เช่น ในสมัยสุโขทัย ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 การผลิตเครื่องปั้นดินเผาของสุโขทัยยั้งคงผลิตเพื่อใช้ในท้องถิ่นเท่านั้นและในเวลาเดียวกันนี้ ได้มีการผลิตที่พม่าและเขมรเช่นกัน การตั้งอาณาจักรสุโขทัยเปลี่ยนแปลงไปด้วย คือมีการผลิตชนิดที่ดีและมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อใช้ในพิธีกรรม ใช้ในครัวเรือน และใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง ตามหลักฐานวิเคราะห์ได้ว่ามีการสร้างเตาเผาขึ้นที่บ้านป่ายาง นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย เพื่อผลิตวัสดุก่อสร้างภาชนะ เช่น ถ้วยชาม แจกัน ไห และอื่น ๆ เพื่อใช้ภายในอาณาจักร แต่ต่อมามีการขยายตัวมากขึ้น การผลิตเครื่องปั้นดินเผาเพื่อส่งขายเป็นสินค้าออกก็เพิ่มมากขั้น

เครื่องปั้นดินเผาที่พบมากในประเทศอินโดนีเชียและฟิลิปปินส์ เชื่อว่าเมื่อประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ได้มีพ่อค้าจากอยุธยาซึ่งคงจะเป็นชาวจีน นำเครื่องปั้นดินเผาไทยเข้าไปตีตลาดเครื่องปั้นดินเผาจีนในอินโดนีเชียและฟิลิปปินส์ ซึ่งตลาดทั้งสองแห่งนี้ได้นำมาสู่การขยายตัวของอุตสาหกรรม เครื่องปั้นดินเผาของอาณาจักรสุโขทัย กล่าวคือมีการสร้างเตาเผาขนาดใหญ่ผลิตรูปทรงแปลก ๆ มากขึ้น ลวดลายประณีต และกรรมวิธีที่จะผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากได้ถูกนำมาใช้ การส่งออกขายภายนอกอาณาจักรนั้น ดำเนินมาจนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็หยุดชะงักไป เพราะการรุกรานของพม่า กล่าวได้ว่าเตาเผาของอาณาจักรสุโขทัยเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาแท่นใหญ่ที่สุดของไทยในระยะคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 นอกจากจะพบเตาเผาที่บ้านป่ายาง บ้านเกาะน้อย ที่อำเภอศรีสัชนาลัย และที่สุโขทัยเมืองเก่าแล้ว ยังพบเตาเผาที่พิษณุโลกอีกด้วย

เตาเผาที่เกาะน้อยเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุด เตาเผาที่เกาะน้อยมีประมาณ 600-800 เตา บ่างแห่งสร้างติดต่อเรียงกันเป็นแนวยาว เตาเผาบางแห่งสร้างซ้อนทับกัน ผู้เขียนได้ไปสำรวจบริเวณการก่อสร้างดังกล่าว เมื่อ พ.ศ. 2526 เพื่อเก็บข้อมูลเรื่องเครื่องปั้นดินเผา พบว่า พัฒนาการของเตาเผาเกาะน้อยเริ่มจากสร้างเป็นหลุมเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำ ต่อมาก่อผนังกั้นไฟสร้างเตาเผาในหลุมบนพื้นราบ มีหลังคาเป็นดินเหนียวโครงทำด้วยไม้ไผ่ เข้าใจว่ามีการค้าขายกับประเทศใกล้เคียง โดยการเผาผลิตภัณฑ์แล้วลำเลียงด้วยเรือ ซึ่งสำรวจพบว่า บริเวณการก่อสร้างเตานั้นมีซากของหอยชนิดต่าง ๆ อยู่ด้วย เข้าใจว่ามีน้ำท่วมบริเวณนั้น เรือสามารถจอดได้ ณ บริเวณการก่อสร้างผลิตภัณฑ์นั่นเอง