ประติภา ปาฏีล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประติภา ปาฏีล
ประธานาธิบดีอินเดีย คนที่ 12
ดำรงตำแหน่ง
25 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 – 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
ก่อนหน้าอับดุล กลาม
ถัดไปประณัพ มุขัรชี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 ธันวาคม พ.ศ. 2477 (89 ปี)
รัฐมหาราษฏระ บริติชอินเดีย
ศาสนาฮินดู
คู่สมรสเทวีสิงห์ รณสิงห์ เศขาวัต

ประติภา เทวีสิงห์ ปาฏีล (มราฐี: प्रतिभा देवीसिंह पाटिल, ปฺรติภา เทวีสิงฺห ปาฏิล; อักษรโรมัน: Pratibha Devisingh Patil; เกิด 19 ธันวาคม พ.ศ. 2477) เป็นประธานาธิบดีอินเดียคนที่ 12 นับเป็นชาวมหาราษฎระคนแรกและเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ของอินเดียที่ได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 แทน อับดุล กลาม (Abdul Kalam) มีอายุ 73 เมื่อเข้ารับตำแหน่ง

ปาฏีลเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติของอินเดียจากรัฐมหาราษฏระ ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคสหพันธมิตรก้าวหน้า (United Progressive Alliance) และพรรคอินเดียซ้าย (Indian Left) ที่กำลังเป็นรัฐบาลอยู่ ปาฏีลได้รับชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคู่แข่งสำคัญคือ ไภโรน สิงห์ เศขาวัต (Bhairon Singh Shekhawat) มากกว่า 300,000 คะแนน

ปาฏีล จบการศึกษาด้านกฎหมาย ได้เป็นผู้แทนเขตเลือกตั้งมุกตาอีนคร (Muktainagar) ในเขตชัฬคาง์ว (Jalgaon) รัฐมหาราษฎระในตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐมหาราษฎระ (พ.ศ. 2505–2528) และได้ดำรงตำแหน่งรองประธานราชยสภา (พ.ศ. 2529–2531) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเมืองอมราวดี รัฐมหาราษฎระ เป็นผู้ว่าราชการรัฐราชสถานคนที่ 24 และเป็นสตรีคนแรกที่เป็นผู้ว่าราชการรัฐราชสถาน (พ.ศ. 2547–2550)

ชีวิตในเยาว์วัย[แก้]

ประติภา ปาฏีล เกิดที่หมู่บ้านนาทคาง์ว (Nadgaon) เขตชัฬคาง์ว รัฐมหาราษฎระ เข้าโรงเรียนที่ชัฬคาง์ว และได้รับปริญญา M.A. จากวิทยาลัย Mooljee Jetha ซึ่งเป็นวิทยาเขตสาขาของมหาวิทยาลัยมหาราษฎระเหนือที่ตั้งที่ชัฬคาง์ว ต่อมาได้รับปริญญาด้านนิติศาสตร์จากวิทยาลัยกฎหมายรัฐประศาสนศาสตร์ มุมไบ (สาขาของมหาวิทยาลัยบอมเบย์) ในระหว่างการศึกษา ประติภาเป็นนักกีฬาปิงปองระดับโด่งดังและยอดเยี่ยมคนหนึ่งที่สามารถเอาชนะการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัยหลายครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2505 ได้รับการลงคะแนนเป็นดาวเด่นของมหาวิทยาลัย ในปีเดียวกันนั้นเอง เธอก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจากเขตมุกตาอีนครในนามของพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย

ประติภา ปาฏีล สมรสกับนักการศึกษาชื่อ เทวีสิงห์ รณสิงห์ เศขาวัต (Devisingh Ransingh Shekhawat) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 เนื่องจากต้องวนเวียนอยู่ในวงการการเมืองตลอดเวลา ประติภาจึงไม่ได้ใช้นามสกุลของสามี ทั้งสองมีบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 1 คน

งานมูลนิธิการกุศล[แก้]

ประติภาและสามีได้จัดตั้งสถาบันเพื่อการศึกษาชื่อ "วิทยภารตีศิกษานประสารักมณฑล" (Vidya Bharati Shikshan Prasarak Mandal) ขึ้นเพื่อดำเนินกิจการโรงเรียนลูกโซ่และวิทยาลัยในชัฬคาง์วและมุมไบ นอกจากนี้เธอยังได้จัดตั้ง "ศรังสัธนาทรัสต์" (Shram Sadhana Trust) เพื่อดำเนินกิจการหอพักสำหรับคนทำงานในนิวเดลี มุมไบ, "มูลนิธิสันตมุกตไพสหการีสาขารการขาน" (Sant Muktabai Sahakari Sakhar Karkhana), และธนาคารสหกรณ์ที่ตั้งชื่อตามเธอเอง คือ "ธนาคารประติภามหิฬสหการี" (Pratibha Mahila Sahakari Bank) นอกจากนี้ยังได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งโรงเรียนฝึกงานอุตสาหกรรมในชัฬคาง์ว และทำโรงเรียนสำหรับเด็กยากจน ที่ตำบลวิมุกตชาติส (Vimukta Jatis) และสำหรับชนเผ่าเร่ร่อนต่าง ๆ

ชีวิตการเมือง[แก้]

ประติภา ปาฏีล เริ่มชีวิตการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2505 เมื่ออายุได้ 27 ปี ภายได้การบ่มเพาะแนะนำจากผู้นำรัฐสภาและอดีตรัฐมนตรีชื่อ ยัศวันตราว จวหาน (Yashwantrao Chavan) เธอได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลังการการได้รับเลือกตั้งครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2510 ในสมัยเลือกตั้งต่อมา (พ.ศ. 2515–2521) ประติภาก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ และในวิถีการเมืองสมัยต่อ ๆ มาได้ ประติภาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการด้านการท่องเที่ยว ด้านการสังคมและด้านเคหการ เธอได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาเสมอมาโดยจนถึงเมื่อ พ.ศ. 2538 จึงได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกราชยสภา

ประติภา ปาฏีล ไม่เคยแพ้การเลือกตั้งที่เธอลงสมัครแข่งขันในครั้งใด ๆ เลย

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Bibhudatta Pradhan. "Patil Poised to Become India's First Female President", Bloomberg.com, 2007-07-19. Retrieved on 2007-07-20.
  2. Anita Joshua. "High turnout in Presidential poll", The Hindu, 2007-07-20. Retrieved on 2007-07-20.
  3. "Voting for Presidential poll ends", NDTV, 2007-07-19. Retrieved on 2007-07-20.
  4. "Pratibha Patil becomes next President of India".
  5. Biographical Sketch Member of Parliament X Lok Sabha
  6. Tare, Kiran. "From college queen to future President", Mid-Day, Mumbai, 2007-06-15. Retrieved on 2007-06-15.
  7. "Biography of Mrs Pratibha Patil", indiastudychannel.com. Retrieved on 2007-06-16.
  8. Ravish Tiwari / Mahesh Mhatre. "Pratibha's CV says it all: She backed Indira 'n was backed by Rajiv", Indian Express, 2007-06-15. Retrieved on 2007-06-15.
  9. a b Rediff.com. "Profile: UPA President nominee Pratibha Patil", Tabrez Khan in Mumbai, 2007-06-14. Retrieved on 2007-06-15.