ประชาสังคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประชาสังคม หรือ civil society เป็นแนวคิดที่มีเป้าหมายเพื่อการมีสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง ด้วยเป็นแนวคิดที่กว้าง จึงมีผู้ให้คำนิยามไว้หลากหลาย โดยทั่วไปประชาสังคม หมายถึง พื้นที่หรือส่วนของสังคมที่มีประชาชนเป็นผู้แสดงบทบาทหลัก พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่ภาครัฐ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมีกฎหมายรองรับ และภาคธุรกิจเอกชนที่เน้นดำเนินงานโดยมุ่งแสวงหาผลกำไรในพื้นที่ประชาสังคม ประชาชนทั่วไปเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการที่เป็นอิสระจากภาครัฐ และอยู่นอกบริบทการแข่งขันทางการเมือง ซึ่งกลุ่มและผู้กระทำการทางสังคม อาจมีวัฒนธรรม วิถีชีวิต วิธีคิดอันหลากหลายมาร่วมกันในกิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิด สร้างเอกลักษณ์และความเห็นร่วมกัน รวมถึงต้องมีจุดมุ่งหมายร่วมในการพิทักษ์หรือเพิ่มพูนผลประโยชน์สาธารณะบางประการให้กับสังคม โดยลักษณะของพื้นที่ดังกล่าวสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจระหว่างสามพื้นที่ดังกล่าวนี้ด้วย[1][2][3]

อธิบาย[แก้]

คำว่าประชาสังคมมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานในฐานะที่เป็นพื้นที่ทางสังคมซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับภาครัฐ กล่าวได้ว่าประชาสังคมในช่วงศตวรรษที่ 17-18 หมายถึง พื้นที่อิสระที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวอย่างสมัครใจของคนที่มีความเชื่อร่วมกันในคุณค่าบางประการ มีวิถีชีวิตในการปฏิบัติการร่วมกัน และต้องมีองค์การที่จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นสาธารณะ หรือกล่าวได้ว่าประชาสังคมคือพื้นที่ในการประกอบกิจกรรมของปัจเจกชนที่เป็นอิสระจากรัฐ ประชาสังคมในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนในระบบทุนนิยม

อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ได้เกิดการตั้งคำถามกับคำว่าประชาสังคมว่า ควรรวมถึงภาคเอกชนหรือไม่ เพราะภาคเอกชนมีเป้าหมายอยู่ที่ผลประโยชน์ส่วนตัว (self-interest) จนทำให้เกิดการทบทวนนิยามคำว่าประชาสังคม ให้แยกออกจากภาคเอกชน ในฐานะที่เป็นพื้นที่อิสระ ที่ไม่ใช่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่เป็นพื้นที่ใหม่เรียกว่าภาคประชาสังคม ซึ่งเกิดมาจากการรวมตัวอย่างอิสระเพื่อวัตถุประสงค์ในการกระทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันในการบรรลุผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งอาศัยความคิดของนักปรัชญาชาวสก๊อตในศตวรรษที่ 18 อย่างอดัม เฟอร์กูสัน (Adam Ferguson) ที่ได้กล่าวว่า ประชาสังคมเป็นพื้นที่สาธารณะของปัจเจกบุคคล ที่โดยธรรมชาติแล้วเป็นผู้ที่มีจริยธรรมและมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงผู้อื่นเสมอ ประชาสังคมจึงมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลที่ได้มาจากพื้นที่ทางเศรษฐกิจและกลไกตลาด (Hann and Dunn, 1996: 4)[4]

ความหมายของแนวคิดประชาสังคมในปัจจุบันที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือนิยามของนักรัฐศาสตร์ร่วมสมัยอย่าง แลร์รี่ ไดมอนด์ (Diamond, 1996: 228) ซึ่งได้อธิบายแนวคิดประชาสังคมว่า คืออาณาบริเวณ (realm) ที่มีการจัดตั้งขึ้นของชีวิตทางสังคมที่มีลักษณะเป็นอาสาสมัคร มีการเติบโตอย่างเป็นอิสระจากรัฐ และอยู่ภายใต้กติการ่วมกันของสังคม คำว่าประชาสังคมจึงแตกต่างจากคำว่า “สังคม” (society) เพราะเป็นพื้นที่ของพลเมืองที่จะร่วมกันกระทำการบางอย่างในพื้นที่สาธารณะ (public sphere) โดยมีประชาสังคมเป็นพื้นที่ตรงกลาง (intermediary entity) ระหว่างพื้นที่ของเอกชนและภาครัฐ ทั้งนี้รวมถึงเป็นพื้นที่เชื่อมระหว่างประชาชนกับภาคธุรกิจเอกชนและภาครัฐ ด้วยเหตุนี้ประชาสังคมจึงไม่ได้เป็นเพียงความพยายามในการจำกัดอำนาจรัฐ แต่อาจเป็นพื้นที่สำหรับให้ความชอบธรรมแก่รัฐก็ได้ หากภาครัฐนั้นได้กระทำการอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม และเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม[5]

ถึงกระนั้นแล้ว คำว่าประชาสังคมยังคงเป็นคำศัพท์ทางการเมืองที่มีความสับสนในการนิยามและนำไปใช้อย่างมาก การนำคำว่าประชาสังคมไปใช้ในสังคมตะวันตกจึงจำเป็นต้องผูกโยงกับคำศัพท์อื่นที่เข้าใจง่ายกว่า เช่น กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (democratization) โลกาภิวัตน์ (globalization) การเป็นอาสาสมัคร (volunteering) ความเป็นพลเมือง (citizenship) และผลประโยชน์สาธารณะ (public interest) เป็นต้น.

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย[แก้]

การนิยามประชาสังคมในประเทศไทย งานของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความหมายของประชาสังคมไว้ว่าคือ เครือข่าย กลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ สถาบัน และชุมชนที่มีกิจกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีจุดเน้นอยู่ที่ไม่ชอบและไม่ยอมให้รัฐครอบงำหรือบงการ แม้ว่าจะยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐและความร่วมมือกับรัฐได้ แต่ก็สามารถชี้นำกำกับและคัดค้านรัฐได้พอสมควร และไม่ชอบลัทธิปัจเจกชนนิยมสุดขั้ว ซึ่งส่งเสริมให้คนเห็นแก่ตัว ต่างคนต่างอยู่ แก่งแย่งแข่งขันกันจนไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หากแต่สนับสนุนให้ปัจเจกชนรวมกลุ่มรวมหมู่ และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยไม่ปฏิเสธการแสวงหาหรือปกป้องผลประโยชน์เฉพาะส่วนเฉพาะกลุ่ม[6] และงานของ ชลธิศ ธีระฐิติ เห็นว่าประชาสังคมเป็นมโนทัศน์ทางยุทธศาสตร์ (strategic concept) ที่มีความหมายหลากหลายจนไม่สามารถกล่าวว่านิยามใดถูกต้องทั้งหมด เพราะความหมายของคำว่าประชาสังคมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ ในทางยุทธศาสตร์ของผู้ที่นำคำว่าประชาสังคมไปใช้ ว่ามีวัตถุประสงค์ในด้านใดเป็นสำคัญ เช่น หากบุคคลหนึ่งมีประสบการณ์ทางการเมืองในการต่อสู้กับภาครัฐ ประชาสังคมจึงอาจหมายถึงพื้นที่ในการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน หรือหากอีกบุคคลหนึ่งเคยทำงานเพื่อสังคมโดยอาศัยการสนับสนุนบางอย่างจากกลไกรัฐ ประชาสังคมของบุคคลที่สองจึงอาจเชื่อมโยงหรือมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐมากกว่าบุคคลแรก[7]

ประเด็นที่น่าจับตามองคือ การนำคำว่าประชาสังคมไปใช้ในสังคมไทยนั้น ยังมีความสับสนอยู่มากในการแยกแยะระหว่างคำว่าประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) กล่าวคือ สองคำนี้ถูกใช้เสมือนมีความหมายเดียวกัน และหลายครั้งใช้ทับซ้อนกันไปมาระหว่างประชาสังคมที่เป็น “พื้นที่สาธารณะ” และประชาสังคมที่เป็น “ตัวแสดง” ขององค์กรพัฒนาเอกชน อีกทั้งยังมีความเข้าใจผิดที่ว่าประชาสังคมจะเกิดขึ้นในชนบทเท่านั้น เพราะไม่เชื่อว่าชุมชนเมืองจะสามารถเกิดการรวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมได้ หรือกล่าวได้ว่ามีความพยายามที่จะนำคำว่าประชาสังคมไปใช้ร่วมกับคำว่าชุมชนท้องถิ่นนิยม (communitarianism) ทั้งที่ในนิยามสากล ประชาสังคมเป็นพื้นที่ที่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าในเมืองหรือในชนบท

ดังนั้น สังคมไทยจึงควรกลับมาพิจารณาคำว่า “ประชาสังคม” ในความหมายของ “พื้นที่สาธารณะ” ที่อยู่ตรงกลางระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือจะกล่าวโดยเปรียบเทียบได้ว่าประชาสังคมเป็น “สนาม” ในการเข้ามาทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันอย่างอิสระและมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่ง “ผู้เล่น” ที่จะเข้าไปใช้สนามดังกล่าวนั้นจึงถือว่าเป็น “ตัวแสดง” (actor) ในการเข้าไปมีอิทธิพลหรือเข้าไปมีส่วนร่วมระหว่างพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางการเมือง

แนวคิดเรื่องประชาสังคมสามารถแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย ภาคส่วนที่สาม (third sector) องค์กรนอกภาครัฐ (NGO) กลุ่มทางสังคม (social group) ขบวนการทางสังคม (social movement) และเครือข่ายสังคม (social network) แต่ละส่วนมีบทบาทและทำหน้าที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่การขับเคลื่อนใน “ประชาสังคม” มีลักษณะที่ทับซ้อนระหว่างบทบาทของแต่ละส่วน และอาจมีลักษณะร่วมกันจนไม่สามารถจำแนกออกเป็น 5 ส่วนได้อย่างชัดเจน เช่น NGO/NPO อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคม ดังนั้น การจำแนกดังกล่าวจึงมีไว้เพื่อช่วยทำความเข้าใจรายละเอียดของประชาสังคม แต่ไม่มุ่งหวังที่จะสร้างกรอบการมองประชาสังคมที่แยกส่วนแบบไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างส่วนต่างๆ[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. ธีรยุทธ บุญมี. ประชาสังคม. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2547.
  2. Sudipta Kaviraj and Sunil Khilnani (eds.), Civil Society: History and Possibilities, Cambridge University Press, Cambridge, 2001.
  3. Jude Howell and Jenny Pearce, Civil Society and Development. A Critical Exploration Boulder and London: Lynne Rienner, 2001, vii + 267 pp.
  4. HANN C. & DUNN E. (eds), 1996. Civil Society: Challenging Western Models. London, Routledge.
  5. Larry Diamond, Development Democracy: Toward Consolidation, Baltimore: The Johns Hopkins University Press, 1999
  6. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (2545: 23-29)
  7. ชลธิศ ธีระฐิติ (2546: 47-48)
  8. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี (2557), หนังสือคำและแนวคิดประชาธิปไตยสมัยใหม่: Glossary of Concepts and Terms in Modern Democracy, 258 p.