ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี (Illiberal Democracy) นั้นคือประชาธิปไตยที่ถูกจำกัดสิทธิพลเมืองที่แม้โดยที่อาจจะอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนถูกละเมิด และมีสิทธิที่จำกัด หรือไม่ได้รับความคุ้มครอง มีการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูล สื่อถูกควบคุม และการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐ นอกจากนี้ในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เสรี กระบวนการเลือกตั้งมักไม่เป็นไปตามหลักการเลือกตั้งในระบอบเสรีประชาธิปไตย ที่เน้นความโปร่งใส (transparency) เป็นอิสระ (free) จากการครอบงำโดยผู้กุมอำนาจรัฐหรืออำนาจอื่นใด การแข่งขันเลือกตั้งให้ความเป็นธรรม (fair) กับผู้แข่งขันและผู้สนับสนุนทุกฝ่าย และประกันความลับของผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง (secret ballot) ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เสรีมักเกิดขึ้นในสังคมที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา (developing country) หรือประเทศประชาธิปไตยใหม่ (new democracies) แต่บางครั้งประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศก็อาจมีมิติของประชาธิปไตยที่ไม่เสรีปรากฏให้เห็นได้ด้วยเช่นกัน อาทิ ในสิงคโปร์ที่มีการเลือกตั้งที่สร้างกติกาปิดกั้นการแข่งขัน กีดกันผู้สมัครฝ่ายค้าน ไม่ประกันความลับของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนในการแสดงความคิดเห็น (Zakaria, 1997: 22-43)[1]

อรรถาธิบาย[แก้]

ในหนังสือเรื่อง “The Future of Freedom: Illiberal Democracy at Home and Abroad” ของฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria)[2] ได้พูดถึงประชาธิปไตยแบบไม่เสรีไว้ว่า เสรี (liberal) กับประชาธิปไตย (democracy) มักถูกกล่าวถึงร่วมกันในประเทศตะวันตก แต่ทั้ง 2 คำ ไม่จำเป็นต้องเกิดควบคู่กันเสมอไป คำว่าประชาธิปไตยจะมาพร้อมกับการตัดสินใจด้วยเสียงข้างมาก (majority rule) แต่คำว่าเสรีจะมีลักษณะเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล (individual freedom) ซึ่งเสรีภาพของปัจเจกบุคคลหลายครั้งมักจะพบกับปัญหาความขัดแย้งกับการตัดสินใจโดยเสียงข้างมาก หรือเผด็จการเสียงข้างมาก (tyrannical majority) ฉะนั้น บางประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่อาจจะไม่ได้มอบสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน หรือบางครั้งการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากได้ไปกระทบกระเทือนถึงสิทธิส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น รัสเซีย ที่มีผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้ง แต่ได้มีกฎหมายที่จำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพของสื่อไว้อย่างชัดเจน รวมไปถึงบทบาทของผู้นำที่เน้นอำนาจบารมีและใช้กลไกรัฐในการควบคุมประชาชนด้วยความรุนแรง ผูกขาดอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล และควบคุมสื่อ[3]

คำว่าประชาธิปไตยแบบไม่เสรีจึงมักใช้อธิบายประเทศที่มีประชาธิปไตยแต่เพียงในเชิงรูปแบบ แต่ไม่ส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน ขอยกตัวอย่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีข้อกฎหมายหลายอย่างที่จำกัดเสรีภาพในการออกเสียงในสภาและการทำงานของฝ่ายค้าน รวมถึงข้อบังคับในการจัดตั้งพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่จะเข้ามาแข่งขันกับพรรค People's Action Party (PAP) ทำให้การแข่งขันของพรรคการเมืองไม่เสรี เพราะถูกผูกขาดโดยพรรครัฐบาล เช่นเดียวกับมาเลเซียที่ถูกผูกขาดอำนาจโดยพรรค United Malays National Organization (UMNO) และยังสามารถอธิบายการเมืองฟิลิปปินส์ ที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้ป่วยแห่งเอเชีย (Sick Man of Asia) เพราะแม้จะมีประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่ถูกวางรากฐานจากสหรัฐอเมริกา แต่การเมืองยังคงเป็นระบบพวกพ้อง การอุปถัมภ์ทางการเมือง มีการใช้เงินซื้อสิทธิขายเสียง และมีการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง[4]

ในประเทศไทย[แก้]

สำหรับประเทศไทย คำว่าประชาธิปไตยแบบไม่เสรีถูกนำมาใช้อธิบายการเมืองไทยในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ ประมาณปี พ.ศ. 2523-31 และอธิบายการเมืองไทยยุคธนาธิปไตย (money politics) รวมไปจนถึงหลังปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา โดยเกษียร เตชะพีระ (2551) กล่าวถึงประชาธิปไตยแบบไม่เสรีไว้ว่า ในทวีปละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียหลายประเทศ บางทีก็เรียกว่า "ระบอบเลือกตั้งธิปไตย" (electocracy - electocrats) หรือเรียกผู้กุมอำนาจในระบอบนี้ว่า “democratators” หรือ "จอมบงการประชาธิปไตย" จนกระทั่งระบอบประชาธิปไตยไม่เสรีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น "the fallacy of electoralism" เป็นรูปแบบการเมืองที่เน้นการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว โดยเน้นหลักความเสมอภาคและอำนาจอธิปไตยของประชาชนผ่านการเลือกตั้งและพรรคการเมืองโดดๆ ด้านเดียว แต่ละเลยหรือล่วงละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพและหลักนิติธรรมไปเสีย เข้าทำนอง elections = democracy ไป

สำหรับการอธิบายบริบทการเมืองไทย เกษียร เตชะพีระ ได้กล่าวถึงประชาธิปไตยแบบไม่เสรีโดยกล่าวถึงสถานการณ์โดยรวมช่วงปี พ.ศ. 2531-2540 ว่าความไม่เสรีของประชาธิปไตยไทยเป็นผลจากการเข้ากุมอำนาจการเมืองโดยกลุ่มนายทุนหัวเมือง/นักเลือกตั้ง (provincial capitalists/ electocrats) และสถานการณ์โดยรวมช่วงปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา เกิดการประชันขันแข่งกันระหว่างรูปแบบประชาธิปไตยต่างๆ และถูกเรียกขานแตกต่างกันไป เช่น ประชาธิปไตยไม่เสรีหรือประชาธิปไตยอำนาจนิยม (illiberal/authoritarian democracy) เสรีอัตตาธิปไตย (liberal autocracy) เผด็จการทหารของพลังระบบราชการ ชนชั้นนำและคนชั้นกลางซึ่งมีที่มาจากคณะรัฐประหาร และระบอบเสรีประชาธิปไตยครึ่งใบ (liberal semi-democracy) ของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดและพันธมิตรของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ พ.ศ. 2550 ซึ่งลดความสำคัญของหลักความเสมอภาคทางอำนาจ และอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองลง หันไปขยายบทบาทอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลของบรรดาสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมาก (non-majoritarian institutions) และการเลือกตั้งที่เชื่อมโยงกับประชาชน เช่น ฝ่ายตุลาการ วุฒิสภา และองค์กรอิสระต่างๆ[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Zakaria, Fareed. “The Rise of Illiberal Democracy”. In Foreign Affairs. Acceded July 4, 2012 from http://msuweb.montclair.edu/~lebelp/FZakariaIlliberalDemocracy1997.pdf.
  2. Zakaria, Fareed (2007). The Future of Freedom: Illiberal Democracy at Home and Abroad. New York: W. W. Norton & Company.
  3. Mitchell, Neil J. “Illiberal Democracy and Vladimir Putin's Russia”. In College Board. Accessed July 4, 2012 from http://apcentral.collegeboard.com/apc/members/courses/teachers_corner/32074.html.
  4. Case, William (2010). Contemporary Authoritarianism in Southeast Asia: Structures, Institutions and Agency. London: Routledge Taylor & Francis.
  5. เกษียร เตชะพีระ (2551). “แนวโน้มสถานการณ์ในอนาคต: ระบอบ” ใน มติชน. ปีที่ 31 ฉบับที่ 10975, 28 มีนาคม 2551.