ประกาศพระราชเสาวนีย์แห่งสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2546

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การอ่านประกาศพระราชโองการให้ขับไล่ชาวอคาเดียเมื่อ พ.ศ. 2298

ประกาศพระราชเสาวนีย์แห่งสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2546 (อังกฤษ: The Royal Proclamation of 2003) หรือชื่อเดิมว่า ประกาศพระราชเสาวนีย์กำหนดวันที่ยี่สิบแปดกรกฎกาคมของทุกปีให้เป็นวันมหามิคสัญญีรำลึก (อังกฤษ: Proclamation Designating July 28 of Every Year as A Day of Commemoration of the Great Upheaval) เป็นพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ที่ทรงแสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อเหตุการณ์มหามิคสัญญี อันเป็นเหตุการณ์ที่ชาวอังกฤษขับไล่เกษตรกรเชื้อชาติอคาเดียที่ใช้และสามารถใช้ภาษาฝรั่งเศสได้ออกไปจากรัฐโนวาสโกเชีย ประเทศแคนาดา เมื่อ พ.ศ. 2298 ทั้งนี้ พระราชเสาวนีย์มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2548

ข้อความในประกาศ[แก้]

เอลิซาเบทที่สอง พระมหากษัตริย์และอัครศาสนูปถัมภกแห่งเครือจักรภพโดยเทวอำนาจแห่งสหราชอาณาจักร แคนาดา และบรรดาแว่นแคว้นแดนดินในพระโพธิสมภาร.

ขอประกาศแก่ปัจจุชน อนุชน และชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง มอร์ริส โรเซนเบิร์ก รองอธิบดีกรมอัยการสูงสุดแห่งแคนาดา

ซึ่งพระราชเสาวนีย์ดังต่อไปนี้

โดยที่ชนชาวอคาเดียได้กระทำคุณูปการอันเป็นอนุสรณ์โดยสุดกำลังปัญญาสามารถของตนแก่สังคมชาวแคนาดามากว่าสี่ร้อยปี

โดยที่วันที่ยี่สิบแปดกรกฎาคมพุทธศักราชสองพันสองร้อยเก้าสิบแปด พระมหากษัตริย์แห่งโนวาสโกเชีย รัฐอาณานิคมแห่งกรุงบริเตน ได้มีพระราชวินิจฉัยให้ขับชนชาวอคาเดียออกไปเสียสิ้น

โดยที่การเนรเทศชนชาวอคาเดียนับแต่คริสต์ศักราชหนึ่งพันเจ็ดร้อยหกสิบสาม (พุทธศักราชสองพันสองร้อยเก้าสิบแปด) อันเป็นที่รู้จักไปในนามเหตุการณ์มหามิคสัญญี ได้กระทำให้เกิดความจาบัลย์เวทนาสาหัสอันได้แก่การที่มีชาวอคาเดียเรือนแสนล้มตายไปเพราะโรคภัย เพราะเรืออับปาง กับทั้งตายไปในแหล่งลี้ภัย ในสถานกักขัง แห่งโนวาสโกเชียและแห่งกรุงอังกฤษตลอดจนแห่งอาณานิคมของกรุงบริเตนและแห่งอเมริกา

โดยที่ได้ทรงอนุสรถึงข้อเท็จจริงและข้อคดีทางประวัติศาสตร์ กับทั้งทุกขเวทนาสาหัสอันชาวอคาเดียได้ประสบระหว่างเหตุการณ์มหามิคสัญญี

โดยที่ได้มีพระราชหฤทัยหวังตั้งพระราชประสงค์ว่า ชาวอะคาเดียจะได้เลือนลืมหน้าประวัติศาสตร์อันโฉดร้ายเสีย

โดยที่ประเทศแคนาดาหาได้เป็นอาณานิคมแห่งกรุงบริเตนสืบไป หากได้ตั้งเป็นรัฐอธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญแห่งแคนาดาแล้ว

โดยที่เมื่อครั้งได้ทรงตั้งประเทศแคนาดาเป็นรัฐอธิปไตย ได้มีพระราชสังวรอนุสรณ์ว่า ประเทศแคนาดาและรัฐหนมณฑลจังหวัดทั้งปวงอยู่ภายใต้พระราชอำนาจและพระราชเอกสิทธิ์อันชอบธรรมแห่งสหราชอาณาจักรโดยแท้

โดยที่ทรงบริหารอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งแคนาดาในพระราชสถานะพระประมุขแห่งแคนาดา

โดยที่ประกาศพระราชเสาวนีย์ฉบับนี้มิได้เกี่ยวพันกับความรับผิดชอบทางกฎหมายหรือทางการเงินของพระมหากษัตริย์แห่งแคนาดาและแว่นแคว้นแดนดินของแคนาดาไม่ว่าประการใด ๆ และมิได้ก่อให้เกิดผลและความรับผิดชอบใด ๆ เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลหรือคณะบุคคลไม่ว่าประการใด ๆ

และโดยที่อาศัยอำนาจตามคำสั่งผู้สำเร็จราชการแคนาดา ฉบับที่ 2003/1967 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2546 และโดยความยินยอมของผู้สำเร็จราชการแคนาดา จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาถโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า ให้กำหนดวันที่ยี่สิบกรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันที่มหามิคสัญญีรำลึก” นับแต่วันที่ยี่สิบแปดกรกฎาคม คริสต์ศักราชสองพันห้า (พุทธศักราชสองพันห้าร้อยสี่สิบแปด) สืบไปเมื่อหน้า

บัดนี้ ขอประกาศให้ชนทั้งปวงจงทราบว่า สมเด็จพระนางเจ้ากรุงแคนาดา โดยคำแนะนำแห่งสภาองคมนตรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศอีกว่า ให้พระราชเสาวนีย์อันกำหนดวันที่ยี่สิบกรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันที่มหามิคสัญญีรำลึก” นับแต่วันที่ยี่สิบแปดกรกฎาคม คริสต์ศักราชสองพันห้า (พุทธศักราชสองพันห้าร้อยสี่สิบแปด) สืบไป

พสกนิกรและชนที่เกี่ยวข้องทั้งปวงจงเชื่อฟังประกาศนี้และถือปฏิบัติโดยทั่วกัน

เพื่อเป็นหลักเป็นฐานแห่งการนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประทับตราแห่งแคนาดารับรองประกาศพระราชเสาวนีย์นี้และให้พิมพ์เผยแพร่ ขอเอเดรียน คลาร์กซัน ผู้เป็นที่รักและนับถือในพระองค์ เหล่าพลเรือนแห่งแคนาดา เหล่าทหารแห่งแคนาดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้สำเร็จราชการกรุงแคนาดา กับทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งแคนาดา จงเป็นพยานเทอญ

ประกาศ ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงออตตาวา วันที่สิบ เดือนธันวาคม คริสต์ศักราชสองพันสาม (พุทธศักราชสองพันห้าร้อยสี่สิบหก) เป็นปีที่ห้าสิบสองในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระราชเสาวนีย์
ช็อง-โกลด วีลลียาด์
รองอธิบดีกรมจ่าศาลแห่งแคนาดา

อ้างอิง[แก้]

  • Canada Gazette[ลิงก์เสีย]: Official Newspaper of the Government of Canada.
  • Shane K. Bernard, The Cajuns: Americanization of a People (Jackson: University Press of Mississippi, 2003).
  • Warren A. Perrin, Acadian Redemption: From Beausoleil Broussard to the Queen's Royal Proclamation (Erath, La.: Acadian Heritage and Cultural Foundation, 2004).