ปรมัตถธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปรมัตถ์)

ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นอภิธรรม (อภิธรรม คือ ธรรมที่ยิ่งใหญ่) เป็นสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ประสูติและตรัสรู้ สภาพธรรมทั้งหลายก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงด้วยพระองค์เองว่า ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และธรรมทั้งปวงไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น ปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมนั้น มิใช่ธรรมที่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่มีจริง ฉะนั้น ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จึงเป็นการรู้ความจริงของปรมัตถธรรม ตามลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ

ปรมัตถธรรม มี 2 ประเภท คือ รูปธรรม และ นามธรรม (หรือ รูป และ นาม หรือ รูปธาตุ และ นามธาตุ) 1. รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ 2. นามธรรม เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ (อารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏ และรู้ได้ เป็นได้ทั้ง รูปธรรม และนามธรรม เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งที่จิตรู้นั้น ภาษาบาลีเรียกว่า อารมฺมณ หรือ อาลมฺพน)

ปรมัตถธรรม มี 4 ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน

  1. จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น จิต (วิญญาณ) เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม มีลักษณะไตรลักษณ์ (อนิจจัง - ไม่เที่ยง ทุกขัง - ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป อนัตตา - บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน)
  2. เจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต เจตสิกแต่ละเจตสิกมีลักษณะและกิจต่างกันตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ เจตสิกเป็นสภาพรู้อื่นๆ ที่ไม่ใช่จิต (ได้แก่: เวทนา - คือความรู้สึกสุข ทุกข์หรือเฉยๆ ที่เกิดทางกายหรือใจ; สัญญา - คือความจำได้ รู้ชื่อ รู้จัก; สังขาร - คือความนึกคิดปรุงแต่งอื่นๆ เช่น รัก โกรธ เมตตา ปัญญา เป็นต้น) เป็นนามธรรม มีลักษณะไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
  3. รูป รูปเป็นสภาพไม่รู้ เช่น สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เป็นรูปธรรม มีลักษณะไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
  4. นิพพาน เป็นธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น นิพพานจึงไม่เกิดดับ นิพพานเป็นขันธวิมุตติ คือพ้นจากขันธ์ นิพพานเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม เป็นอนัตตา

แยกประเภท (บางทีเรียกว่า ดวง) ได้ดังนี้

  1. จิต มี 89 หรือ 121 ประเภท โดยพิเศษ
  2. เจตสิก มี 52 ประเภท
  3. รูป มี 28 ประเภท
  4. นิพพาน

โดยจัดเป็นรูป 28 นับเป็นรูปธรรม จัดจิต 89 หรือ 121 โดยพิเศษ เจตสิก 52 นิพพาน 1 เป็นนามธรรม

สังขารธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้น มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมอื่นๆที่ไม่ใช่นิพพาน

วิสังขารธรรม คือ ธรรมที่ไม่เกิดขึ้น ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ นิพพาน

(ปัจจัย คือ ธรรมซึ่งอุปการะอุดหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่)

สังขตธรรม คือ ธรรมที่เกิดดับ ได้แก่ ธรรมอื่นๆที่ไม่ใช่นิพพาน

อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่เกิดดับ ได้แก่ นิพพาน

จิต จำแนกโดยการเกิด คือ โดยชาติ มี 4 ชาติ คือ กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต กุศลจิตเป็นจิตที่ดี ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดผล คือ กุศลวิบาก อกุศลจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ เป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลที่เป็นทุกข์ ไม่น่าพอใจ คือ อกุศลวิบาก ส่วนกิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก จึงไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิต สำหรับวิบากจิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นผลจากกุศลจิต หรืออกุศลจิต และปรากฏในชีวิตประจำวันของสัตว์ทั้งหลายที่มีขันธ์ห้า เมื่อจิตรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าพอใจ ก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าไม่พอใจ ก็เป็นอกุศลวิบาก

จิต จำแนกโดยภูมิ มี 4 ภูมิ คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต ในภูมิที่เป็นกามาวจรจิต จิตมีทั้ง 4 ชาติ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต จิตมี 3 ชาติ คือยกเว้นอกุศลจิตและโลกุตตรจิต จิตมี 2 ชาติ คือโลกุตตรกุศล และโลกุตตรวิบาก

ปรมัตถธรรม 3 ประเภทแรกเป็นขันธ์ 5 คือ

  1. จิตปรมัตถ์ 89 หรือ 121 ประเภท ทุกประเภท เป็น วิญญาณขันธ์
  2. เจตสิกปรมัตถ์ 52 ประเภท - เวทนาเจตสิก 1 เป็น เวทนาขันธ์ - สัญญาเจตสิก 1 เป็น สัญญาขันธ์ - เจตสิก (ที่เหลือ) 50 เป็น สังขารขันธ์
  3. รูปปรมัตถ์ 28 ประเภท ทุกประเภท เป็น รูปขันธ์

ส่วนนิพพานเป็นขันธวิมุต

ความหมายของปรมัตถธรรม[1] ปรมัตถธรรม คือธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้แน่นอนที่ดำรงลักษณะเฉพาะของตนไว้โดยไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมที่ปฏิเสธความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตนโดยสิ้นเชิง มี ๔ ประการคือ

๑. จิต

๒. เจตสิก

๓. รูป

๔. นิพพาน

ซึ่งมีความหมายโดยย่อดังนี้

จิต คือธรรมชาติที่ทำหน้าที่เห็น, ได้ยิน, รับกลิ่น, รับรส, รู้สัมผัส ถูกต้อง ตลอดจนธรรมชาติที่ทำให้เกิดการคิด นึก สภาวะของจิตมีทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ อย่าง (โดยพิสดาร) แต่เมื่อกล่าวโดยลักษณะแล้วมีเพียง ๑ เท่านั้น คือ รู้อารมณ์ (อารมณ์ในที่นี้หมายถึง รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งต่าง ๆ และเรื่องราวต่างๆ ที่จิตไปรับรู้)

จิตเป็นนามธรรม และมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น วิญญาณ, มโน, มนัส, มนินทรีย์, มโนธาตุ, มโนวิญญาณธาตุ และ มนายตนะ เป็นต้น

เจตสิก คือธรรมชาติที่ประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิต ทำให้เกิดความรู้สึก นึก คิด ที่แตกต่างกัน ทั้งทางที่ดีและไม่ดี มีทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ เจตสิกเป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต สภาพของจิต เป็นเพียงประธานในการรู้อารมณ์ แต่การที่จิตโกรธ หรือจิตโลภ เป็นเพราะ มีเจตสิกเข้าประกอบปรุงแต่งให้เกิดความโกรธหรือความโลภนั่นเอง จิต เปรียบเสมือนเม็ดยา เจตสิกเปรียบเสมือนตัวยาที่อยู่ในเม็ดยา จิตเกิดโดย ไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกเกิดโดยไม่มีจิตก็ไม่ได้เช่นกัน

รูป คือ ธรรมชาติที่แตกดับ ย่อยยับ สลายไปด้วยความเย็นและความร้อน ในร่างกายของคนเราและสัตว์ทั้งหลายนั้นมีรูปประชุมกันอยู่ทั้งหมด ๒๘ ชนิด และรูปที่ประชุมกันอยู่นี้แต่ละรูปต่างก็แตกดับย่อยยับสลายไปตลอดเวลา หาความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้เลย

นิพพาน เป็นธรรมชาติที่พ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด พ้นจากการ เวียนว่ายตายเกิด นิพพานโดยปริยายมี ๒ ลักษณะคือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ยังเป็นไปกับขันธ์ ๕ หมายถึง การที่ประหารกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว (กิเลสนิพพาน) แต่ขันธ์ ๕ ยังมีการเกิดดับสืบต่ออยู่ (ยังมีชีวิตอยู่)

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ปราศจากขันธ์ ๕ ได้แก่นิพพานของพระอรหันต์ (ผู้หมดจดจากกิเลส) และสิ้นชีวิตไปแล้ว (คือ กิเลสก็ไม่เหลือ ขันธ์ ๕ ก็ไม่เหลือ) หรือที่เรียกว่า ปรินิพพาน (ปริ = ทั้งหมด) เมื่อปรินิพพานแล้ว จิต เจตสิกและรูปจะหยุดการสืบต่อและดับลงโดยสิ้นเชิง (คือเมื่อปรินิพพานไปแล้วก็จะไม่มีการเกิดอีกหรือไม่มีภพชาติต่อไปอีก)

นิพพาน เป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชน ทั้งหลายจะต้องพยายามเข้าถึงให้จงได้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวก เป็น อริยบุคคล และเป็นทายาทผู้รับมรดกธรรมในพุทธศาสนานี้

อ้างอิง[แก้]

  • สุจินต์ บริหารวนเขตต์, ปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขป และภาคผนวก, มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา, 2536 (หรือ เว็บไซด์ บ้านธัมมะ)
  1. ศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาทางไกลของอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย