บุญเสริม สาตราภัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุญเสริม สาตราภัย
เกิด7 มีนาคม พ.ศ. 2471
เชียงใหม่, มณฑลพายัพ
เสียชีวิต16 สิงหาคม พ.ศ. 2560 (89 ปี)
สัญชาติไทย ไทย
อาชีพช่างภาพ
มีชื่อเสียงจากช่างภาพประวัติศาสตร์ล้านนา

บุญเสริม สาตราภัย หรือที่รู้จักกันในนาม ลุงบุญเสริม เป็นช่างภาพประวัติศาสตร์ชาวเชียงใหม่ ภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของเชียงใหม่และล้านนาส่วนใหญ่ล้วนเป็นฝีมือการถ่ายภาพของบุญเสริม

ประวัติ[แก้]

บุญเสริม เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2471 ณ บ้านพักนายไปรษณีย์โทรเลขเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์เชียงใหม่แม่ปิง) เป็นบุตรของพระอาจโทรการ (เอื้อน สาตราภัย) นายไปรษณีย์โทรเลขเชียงใหม่คนแรก มารดาชื่อ คำไฝ ไชยวัณณ์ บุญเสริมมีบุตรสาว 2 คน คือ อัญชลี คอฟฟ์แมนน์ และ ปวีณา อะบายานิ

การศึกษา[แก้]

บุญเสริม จบการศึกษาชั้นอนุบาล ที่โรงเรียนสาขาดาราวิทยาลัย เชิงสะพานนวรัฐฝั่งตะวันออก ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 จึงย้ายไปเรียนต่อชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เนื่องจากโรงเรียนสาขาดารา เป็นโรงเรียนสำหรับสตรี และศึกษาต่อจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 2

พ.ศ. 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ โรงเรียนปรินส์ฯ ถูกรัฐบาลเข้ายึดครอง เพราะเป็นโรงเรียนของคณะมิชชั่นนารีอเมริกันซึ่งเป็นคู่สงครามกับไทย ได้มีการสร้างค่ายพักสำหรับทหารไทยขึ้นในเขตโรงเรียน เมื่อเปิดเทอมใหม่ในปี พ.ศ. 2485 บุญเสริมจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

การทำงาน[แก้]

บุญเสริม เริ่มทำงานครั้งแรกที่ร้านขายปุ๋ยวิทยาศาสตร์ของพี่สาวที่ตลาดต้นลำไย ซึ่งเป็นร้านขายปุ๋ยวิทยาศาสตร์แรกของเมืองเชียงใหม่ ระหว่างที่ทำงานที่นี่ บุญเสริมได้รับการแนะนำและการฝึกสอนทางด้านเทคนิคการถ่ายภาพจากนายแพทย์อุทัย สนธินันท์ พี่เขยซึ่งเป็นช่างฝีมือถ่ายรูปมือดี ด้วยความรักและความมุ่งมั่นในการถ่ายรูป บุญเสริมได้ฝึกฝนเทคนิคการทำงานด้านนี้ตลอดเวลา เมื่อมีเวลาว่างจากการขายปุ๋ยนั้นเขามักออกไปตระเวณถ่ายรูปสถานที่และโบราณสถานต่าง ๆ ในเมืองเชียงใหม่อยู่เสมอ รวมทั้งมีโอกาสติดตามพี่เขยออกไปถ่ายรูปในต่างจังหวัดต่าง เพราะพี่เขยเป็นหัวหน้าหน่วยควบคุมไข้มาลาเรียภาคเหนือมักจะต้องออกตรวจท้องที่

การทำงานดังกล่าวช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการถ่ายรูปให้เขาอย่างมาก จนบุญเสริมคุ้นเคยกับนักหนังสือพิมพ์เชียงใหม่แทบทุกคน เนื่องจากในช่วงนั้นสำนักพิมพ์ต่างๆ ยังไม่มีช่างภาพเป็นของตัวเอง เพราะกล้องถ่ายรูปมีราคาแพง ฉะนั้นเมื่อมีการรายงานข่าวใหญ่ครั้งใด จึงมักจะมาขอให้เขาไปช่วยถ่ายรูปให้

ในปี พ.ศ. 2503 เขาได้เข้าทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนเมือง ในหน้าที่ผู้สื่อข่าว เขาเคยร่วมคณะสำรวจชนเผ่า "ผีตองเหลือง" กับไกรศรี นิมมานเหมินท์ และเป็นที่มาของสารคดีเรื่องผีตองเหลือง ลงในหนังสือพิมพ์คนเมือง และได้รับรางวัลผลงานยอดเยี่ยมจากมูลนิธีวิชาการหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นประธาน โดยได้รับโล่เกียรติยศจากพลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เมื่อปี พ.ศ. 2506 นับเป็นนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้[1] เขาทำงานอยู่ที่สำนักพิมพ์คนเมืองจนถึง พ.ศ. 2513 จึงย้ายไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์จนถึง พ.ศ. 2525 จึงลาออกจากงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งนับเป็นการหันหลังให้กับวงการหนังสือพิมพ์อย่างสิ้นเชิง

ถึงแก่กรรม[แก้]

เขาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อ้างอิง[แก้]

  1. บุญเสริม ศาสตราภัย และสังคีต จันทนะโพธิ. (2520) อดีตลานนา กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • บุญเสริม สาตราภัย : ไม่เคยลืม. มราบรีหรือชนเผ่าตองเหลือง. (2551). ค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2551
  • บุญเสริม สาตราภัย คนเก็บอดีตล้านนา. (2551). ค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2551
  • บุญเสริม สาตราภัย. (2550). ล้านนา ... เมื่อตะวา. เชียงใหม่: บุ๊คเวิร์ม.
  • บุญเสริม สาตราภัย. (2551). ค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2551
  • บุญเสริม สาตราภัย. (2551). สัมภาษณ์. 11 กรกฎาคม.
  • โลกล้านนา. (2551). บุญเสริม สาตราภัย. บุคคลทางวัฒนธรรม. ค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2551
  • ไอเดียล้านนา. (2551). บุญเสริม สาตราภัย ผู้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ล้านนา. (2551).