บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์
เกิด21 เมษายน พ.ศ. 2449
ตลาดปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี
เสียชีวิต29 มกราคม พ.ศ. 2525 (76 ปี)
กรุงเทพมหานคร
อาชีพนักธุรกิจ
มีชื่อเสียงจากผู้มีส่วนช่วยเหลือเชลยสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

พันโท บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ (21 เมษายน พ.ศ. 2449 – 29 มกราคม พ.ศ. 2525) อดีตนักธุรกิจและนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี ผู้มีส่วนช่วยเหลือเชลยสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อดีตนักธุรกิจกิจการรถเมล์บุญผ่อง รถเมล์เอกชนวิ่งรับผู้โดยสารในกรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

ครอบครัว[แก้]

พันโทบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ เกิดวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2449 ที่ตลาดปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรชายคนโตในบรรดาบุตรทั้งหมด 7 คน ของนายแพทย์ขุนสิริเวชชะพันธุ์ (เขียน สิริเวชชะพันธุ์) กับนางลำเจียก สิริเวชชะพันธุ์ บุญผ่องมีพี่น้องทั้งหมด 7 คน คือ

  1. พันโทบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์
  2. นายแผน สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี 3 สมัยและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
  3. นายผล สิริเวชชะพันธ์
  4. นายผวน สิริเวชชะพันธ์
  5. นางบุหงา เจริญรัถ
  6. นายศิลป์ สิริเวชชะพันธ์
  7. นางบุปผา กฤษณามระ

พันโทบุญผ่องสมรสกับนางสุรัตน์ สิริเวชชะพันธ์ (นามสกุลเดิม: ชอุ่มพฤษ์) ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกันทั้งหมด 1 คน คือ นางผณี ศุภวัฒน์

การศึกษา[แก้]

พันโทบุญผ่อง จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนวิสุทธรังษี โรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรีแล้วได้ไปศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2469 หลังจากนั้นได้เข้ารับราชการที่กรมรถไฟเป็นเวลา 8 ปี จึงลาออกมาประกอบอาชีพค้าขายกับบิดาและพี่น้องที่บ้านจังหวัดกาญจนบุรี โดยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของครอบครัว บุญผ่องมีบ้านเรือนอยู่ที่ตึกแถวถนนเลียบริมแม่น้ำแม่กลอง เป็นตึกสูง 3 ชั้น โดยมีชื่อร้านว่า “Boonpong and Brothers” (บุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์)

ต่อมานายบุญผ่อง ได้ลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี และได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483–พ.ศ. 2485 นับเป็นนายกเทศมนตรีคนที่ 3 ของเมืองกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพอดี ซึ่งนายบุญผ่องขณะนั้นมีอายุเพียง 40 ปี[1]

บทบาทในสงครามโลกครั้งที่ 2[แก้]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นมีแผนในการสร้างทางรถไฟเพื่อที่จะตัดต่อไปยังประเทศพม่า จึงมีการต้อนเชลยศึกซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารสัมพันธมิตรชาติอังกฤษ, ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์มาที่กาญจนบุรีเพื่อสร้างทางรถไฟ จึงได้มาติดต่อขอซื้ออาหารจากร้านบุญผ่องแอนด์บราเดอร์ ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว ของนายบุญผ่อง เพื่อให้ไปส่งถึงที่ค่ายที่บริเวณเขาช่องไก่ เลียบแม่น้ำแควน้อย (ช่องเขาขาดในปัจจุบัน) นายบุญผ่องเมื่อได้เข้าไปถึงในค่ายเห็นสภาพความเป็นอยู่ของเชลยแล้วพบว่ามีความเป็นที่อยู่ที่ทรมานอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่บาดเจ็บล้มป่วยจากโรคมาเลเรียและการทำงานหนัก แต่ไม่มียารักษา จากสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าดิบทึบ มีเชลยที่ต้องเสียชีวิตจากการนี้เป็นจำนวนมาก นายบุญผ่องจึงแอบลักลอบนำยาตลอดจนอาหารและจดหมายติดต่อต่าง ๆ เข้าไปยังค่ายก่อสร้าง โดยซ่อนไว้ในหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ แม้จะต้องเสี่ยงต่อชีวิต ซึ่งในครั้งหลัง ๆ นายบุญผ่องได้ให้บุตรสาวเพียงคนเดียวเอาเข้าไปให้แทน จากการที่สร้างมิตรภาพแก่ทหารญี่ปุ่น จนได้รับความไว้วางใจ กระทั่งได้รู้จักกับนายแพทย์ เอ็ดเวิร์ด "เวรี่" ดันล็อป แพทย์ทหารชาวออสเตรเลีย หนึ่งในเชลยศึก

หลังสงครามยุติ บุญผ่องได้รับเหรียญ w:King's Medal for Courage in the Cause of Freedom และเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จฯเยือนเมืองไทยใน พ.ศ. 2515 ได้รับสั่งให้บุญผ่องและภรรยาเข้าเฝ้าและร่วมโต๊ะเสวยด้วย สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้พระราชทานยศพันโทแก่นายบุญผ่อง และพระราชทานบรรดาศักดิ์ท่านเซอร์ แก่น.พ.ดันล็อปอีกด้วย ทั้งคู่ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิ "Weary Dunlop Boon Pong Exchange Fellowship" ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ให้ทุนแก่นักศึกษาแพทย์ชาวไทย โดยเฉพาะศัลยแพทย์ ไปศึกษาต่อด้านแพทยศาสตร์ที่ประเทศออสเตรเลีย[2][3]

วีรกรรมที่พันโทบุญผ่องได้สร้างไว้ ทำให้ได้รับการยกย่องอย่างมากจากชาติสัมพันธมิตร และได้รับฉายาจากนายแพะทย์ดันล็อปว่า "The Quiet Lions" (สิงโตเงียบ) เนื่องจากในช่วงต้นที่ติดต่อกันนั้น พันโทบุญผ่องต้องระมัดระวังตัวมาก โดยหลังสงคราม ได้เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อประกอบกิจการรถเมล์ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตอบแทนน้ำใจนายบุญผ่อง ด้วยการมอบรถที่ยึดได้จากกองทัพญี่ปุ่นเกือบ 200 คัน ให้ไปเป็นรถประกอบกิจการ ในนาม บริษัท บุญผ่อง จำกัด เรียกกันว่า รถเมล์สายสีน้ำเงิน นับเป็นคู่แข่งรถเมล์ขาวของบริษัท นายเลิศ ของเลิศ เศรษฐบุตร[2]

เสียชีวิต[แก้]

พันโทบุญผ่อง ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2525 ด้วยโรคเส้นเลือดในหัวใจพอง มีการตีพิมพ์ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย รายงานว่า วีรบุรุษสงครามโลกชาวไทยได้เสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดในหัวใจพอง มีการสัมภาษณ์อดีตทหารผ่านศึกหลายคน กล่าวยกย่องความกล้าหาญและทำให้พวกเขารอดชีวิตมาได้เพราะผู้ชายไทยคนนี้[ต้องการอ้างอิง]

เรื่องราววีรกรรมของพันโทบุญผ่องได้ถูกถ่ายทอดเป็นละครโทรทัศน์เรื่อง บุญผ่อง เมื่อกลางปี พ.ศ. 2556 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส[1][4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "ย้อนประวัติ รู้จักกับบุญผ่อง จากไทยพีบีเอส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-19. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
  2. 2.0 2.1 "บุญผ่อง วีรชนช่องเขาขาด โดยธีรภาพ โลหิตกุล จากคมชัดลึก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-15. สืบค้นเมื่อ 2013-05-17.
  3. “บุญผ่อง” ละครสะท้อนเรื่องราวความกล้าหาญ - มีมนุษยธรรม จากไทยพีบีเอส[ลิงก์เสีย]
  4. ลาก่อนเวรี่... ลาทีบุญผ่อง จากโอเคเนชั่น