บารนาบัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นักบุญบารนาบัส
อัครทูต
เสียชีวิตราว ค.ศ. 61
เกาะไซปรัส
นิกายทุกนิกายในศาสนาคริสต์
สักการสถานหลักอารามนักบุญบารนาบัส ไซปรัส
วันฉลอง11 มิถุนายน
องค์อุปถัมภ์ประเทศไซปรัส, เมืองแอนติออก

บารนาบัส (กรีก: Βαρναβᾶς) เป็นคริสต์ศาสนิกชนผู้มีบทบาทสำคัญในการประกาศข่าวดีมาตั้งแต่ยุคแรก ได้รับยกย่องว่าเป็น "อัครทูต"[1] แม้จะไม่ได้รับแต่งตั้งจากพระเยซูโดยตรง (ก่อนถูกตรึงกางเขน) ชาวมุสลิมและคริสต์ศาสนิกชนบางคน เช่น เคลเมนต์แห่งอะเล็กซานเดีย เชื่อว่าท่านเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารนักบุญบารนาบัส และทอร์ทิวเลียนกล่าวว่าท่านเขียนจดหมายถึงชาวฮีบรูด้วย

ประวัติ[แก้]

เรื่องราวของบารนาบัสปรากฏอยู่หลายครั้งในพันธสัญญาใหม่ ทำให้ทราบว่าเดิมเขาชื่อโยเซฟ เป็นชาวยิวจากเผ่าเลวี เกิดที่เกาะไซปรัส มีศรัทธาในพระเยซูอย่างมากถึงขนาดขายที่ดินของตน แล้วนำเงินทั้งหมดไปมอบให้บรรดาอัครทูต พวกอัครทูตจึงตั้งสมญาเขาว่าบารนาบัส ซึ่งแปลว่าบุตรแห่งการให้กำลังใจ[2] ในปี ค.ศ. 48 บารนาบัสทราบถึงการกลับใจของเปาโล และเห็นว่าคริสตชนยังหวาดกลัวเขาอยู่ จึงพาเปาโลไปพบอัครทูต เล่ายืนยันว่าเปาโลรับเชื่อแล้วและได้มีส่วนร่วมในการประกาศข่าวดีอย่างไร จนเปาโลเป็นที่ยอมรับของคริสตจักร[3] ท่านยังได้รับมอบหมายจากคริสตจักรในกรุงเยรูซาเลมให้ไปเมืองแอนติออก เพื่อส่งเสริมความเชื่อของชาวกรีกที่เพิ่งกลับใจ ความดีของเขาและการที่เขาเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธฺ์และความเชื่อทำให้มีผู้มารับเชื่อจำนวนมาก[4]

ทั้งบารนาบัสและเปาโลได้เดินทางไปประกาศศาสนาร่วมกันเสมอในช่วงแรก เช่น ในปี ค.ศ. 49 ทั้งสองได้นำจดหมายของอัครทูตไปฝากคริสตชนชาวกรีกในเมืองแอนติออก แต่หลังจากนั้นทั้งสองก็ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเพราะบารนาบัสจะพายอห์น มาระโก ลูกพี่ลูกน้องของตน ติดตามไปด้วย แต่เปาโลไม่ยอมเพราะเห็นว่ามาระโกเป็นคนโลเล พึ่งพาอาศัยไม่ได้ ที่สุดทั้งสองก็แยกทางกัน บารนาบัสพามาระโกลงเรือไปประกาศศาสนาที่เกาะไซปรัส[5]

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1 ซึ่งเขียนขึ้นราว ค.ศ. 53-57 ได้กล่าวถึงบารนาบัสว่ายังคงทำงานหาเลี้ยงตนเอง[6] ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 61-63 ที่เปาโลติดคุกอยู่ที่กรุงโรม มาระโกได้อยู่ติดตามเปาโลด้วย[7] จึงสันนิษฐานว่าบารนาบัสอาจไม่มีชีวิตแล้วในขณะนั้น[8]

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อสืบ ๆ กันมาในบางคริสตจักรว่าบารนาบัสเป็นผู้ก่อตั้งคริสตจักรที่เมืองมิลาน เคยไปประกาศศาสนาที่เมืองอะเล็กซานเดรียและกรุงโรม และได้พลีชีพเป็นมรณสักขีที่เกาะไซปรัส แต่เรื่องเหล่านี้ถูกแต่งขึ้นในสมัยหลัง จึงไม่น่าเชื่อถือ[8]

อ้างอิง[แก้]

  • พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011, สมาคมพระคริสตธรรมไทย
  1. กิจการ 14ซ14
  2. "กิจการ 4:36-7". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2014-06-13.
  3. กิจการ 9:26-8
  4. กิจการ 14:22-4
  5. กิจการ 15:36-41
  6. 1 โครินธ์ 9:6
  7. โคโลสี 4:10
  8. 8.0 8.1 สารานุกรมคาทอลิก, St. Barnabas