บัวเรศ คำทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บัวเรศ คำทอง
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดำรงตำแหน่ง
24 เมษายน พ.ศ. 2512 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2514
ก่อนหน้าพล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์
ถัดไปศ.นพ.บุญสม มาร์ติน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 สิงหาคม พ.ศ. 2453
จังหวัดสุรินทร์
เสียชีวิต27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 (91 ปี)
คู่สมรสสุมนา วสุวัต

ศาสตราจารย์กิตติคุณ บัวเรศ คำทอง (21 สิงหาคม พ.ศ. 2453 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ประวัติทั่วไป[แก้]

ศาสตราจารย์กิตติคุณ บัวเรศ คำทอง หรือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บัวเรศ คำทอง เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2453 ณ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เป็นบุตรคนที่ 4 ของนายทรัพย์ และนางเปาว์ คำทอง ในปี 2487 ได้สมรสกับนางสาวสุมนา วสุวัต มีบุตร 2 คน คือนายปวเรศ คำทอง และ ดร.นันทิตา (ชมพูนุช) คำทอง ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 รวมสิริอายุได้ 91 ปี

ประวัติการศึกษา[แก้]

ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง ได้รับการศึกษาระดับต้นที่จังหวัดสุรินทร์และระดับมัธยมศึกษาที่ จังหวัดอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2471 สำเร็จการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย (มัธยมปีที่ 8) จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยมีผลการเรียนดีตลอดหลักสูตร ได้รับการจารึกชื่อบนจาริกานุสรณ์ ในระหว่างปีพ.ศ. 2471-2473 เข้าศึกษาในคณะ อักษรศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ และใน พ.ศ. 2473 ได้รับพระราชทานทุน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเคมี ได้รับปริญญา B.Sc. (Honors) และ Ph.D. ในปี 2481 โดยมีผลการศึกษาดีเด่น จึงได้รับการจารึกชื่อที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศอังกฤษ

ประวัติการทำงาน[แก้]

ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง ได้กลับมาปิติภูมิ ในพ.ศ. 2481 และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์วิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์แผนกวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2498 ตลอดเวลาที่รับราชการอยู่ ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง ได้มีบทบาททางราชการหลายอย่าง อาทิ เช่น

  • กรรมการสอบคัดเลือกผู้ไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศตามความต้องการของ ก.พ. และคุรุสภา
  • กรรมการผู้แทนคณะวิทยาศาสตร์ในกรรมการบัณฑิตวิทยาลัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัย
  • กรรมการสอบไล่ชั้นประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย และวิชาชุดครู ป.ป., ป.ม. ของกระทรวงศึกษาธิการ
  • ราชบัณฑิตในสาขาเคมี
  • กรรมการ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเคมีและเภสัชศาสตร์
  • กรรมการเตรียมการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • อนุกรรมการพิจารณาการทำกรดซัลฟุริค ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
  • กรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ
  • กรรมการสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมมาตั้งแต่แรกเริ่ม รวมทั้งชุมนุมวิทยาศาสตร์)
  • เป็นผู้หนึ่งที่เขียนสารานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน
  • ได้มีส่วนร่วมในการเขียนตำราต่างๆ ที่ใช้อยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตำราที่ใช้อยู่ในระดับฝึกหัดครู ป.ป., ป.ม. และระดับเตรียมอุดมศึกษา อันนับได้ว่ามีส่วนเผยแพร่วิชาการได้ทางหนึ่งด้วย

จนถึง พ.ศ. 2506 ได้เป็นคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในปี พ.ศ. 2507 ทางราชการได้ขอโอนให้ไปรับราชการในตำแหน่ง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในพ.ศ. 2512-2514 เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพ.ศ. 2514-2523 ได้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นภารกิจอันหนัก แม้กระนั้นก็ดีศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง ก็ยังแบ่งเวลาเข้าสอนวิชาเคมีให้แก่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยตัวเองเท่าที่จะทำได้ สำหรับราชการสำคัญอันเป็นงานภายใต้การดำเนินงานของท่านพอประมวลได้ดังนี้

  • พ.ศ. 2507 งานบริหารและวิชาการ ในคณะวิทยาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ มีนักศึกษาในปีแรกนี้ประมาณ 300 คน
  • พ.ศ. 2508 งานบริหารและวิชาการเพิ่มเติมคือ คณะเกษตรศาสตร์ และรับโอนคณะแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน)
  • พ.ศ. 2511 งานบริหารและวิชาการเพิ่มเติมคือ คณะศึกษาศาสตร์
  • พ.ศ. 2513 งานบริหารและวิชาการเพิ่มเติมคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์

ในปีที่ 7 แห่งการดำเนินงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีจำนวนนักศึกษาเพิ่มจากปีแรก 300 คน เป็น 6,400 คน มีหอพักสำหรับนักศึกษาชาย-หญิง รวม 10 หอพัก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ผลิตบัณฑิตไปแล้ว1,272 คน อนุปริญญาและประกาศนียบัตรพยาบาลและผดุงครรภ์ 429 คน

อนึ่ง ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการขยายงานอีกโดยสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ลงมติเห็นชอบที่จะให้มีคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์คณะพยาบาล และคณะเทคนิคการแพทย์ เพิ่มขึ้นอีก 4 คณะ

ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำรงตำแหน่งในทางราชการอีกหลายตำแหน่ง อาทิเช่น กรรมการมหาวิทยาลัย (ก.ม.) กรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการเวนคืนที่ดินมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการพัฒนามหาวิทยาลัย กรรมการการศึกษาแห่งชาติ

  • พ.ศ. 2510 ได้ให้ได้การต้อนรับพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมาเยือนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ President Franz Jonas แห่งสาธารณรัฐออสเตรีย
  • พ.ศ. 2511 ได้ให้ได้การต้อนรับอาคันตุกะของรัฐบาล คือ รองประธานาธิบดี C.K. Yen แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พระราชอาคันตุกะได้แก่ Ferdinand E. Marcos แห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และพระเจ้า Shah Mohammed Reza Pahlevi และพระราชินี Farah แห่งประเทศอิหร่าน ซึ่งพระราชอาคันตุกะทั้ง 3 รายนี้ได้มาเยือนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในทางสังคมได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมไทย-อเมริกัน (TATCA) ประจำปี2513 และอุปนายกสโมสรโรตารี่เชียงใหม่หลายสมัยด้วย

ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 1 สมัย ในปีพ.ศ 2514-2516 และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปีพ.ศ. 2516-2518 นอกจากงานบริหารและวิชาการแล้วได้ดำเนินการสืบเนื่องโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์จนสำเร็จ ตลอดจนติดต่อขอการสนับสนุนด้านบุคลากร งบประมาณและสถานที่ จนสามารถเปิดการสอนได้

ในวโรกาสเด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตเป็นครั้งแรกที่วิทยาเขตปัตตานี ได้ทูลเกล้าถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขอความช่วยเหลือจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการสร้างสระว่ายน้ำที่วิทยาเขตหาดใหญ่ และดำเนินการหาทุนเพื่อจัดสร้างพระราชาอนุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาเขตปัตตานี ตลอดจนติดต่อขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ในด้านทุนการศึกษา บุคลากร และอุปกรณ์การศึกษา

ปริญญากิตติมศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ. 2510 ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในการเสด็จพระราชดำเนิน เนื่องในการฉลอง 50 ปี แห่งวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2510
  • พ.ศ. 2515 ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • พ.ศ. 2516 ได้รับปริญญา D.Sc. (Honorary) จาก University of Aston in Birmingham เก็บถาวร 2012-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สหราชอาณาจักร
  • พ.ศ. 2525 ได้รับพระราชทานกิตติบัตรเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณในสาขาวิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงานวิชาการ[แก้]

หนังสือ ตำรา (เท่าที่ค้นพบจากฐานข้อมูลห้องสมุดต่างๆ)[แก้]

  • คู่มือถาม-ตอบวิทยาศาสตร์ทั่วไปสำหรับชั้น เตรียมอุดมศึกษา และ ฝึกหัดครู ป.กศ., ทองศุข พงศทัต บัวเรศ คำทอง และ คณิต มีสมมนต์, พระนคร : โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2501.
  • แบบเรียนวิชาแสง สำหรับชั้นเตรียมอุดมศึกษา (ม. 7-8) และ ป.ป., สนั่น สุมิตร ทองศุข พงศทัต, บัวเรศ คำทอง, กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2499.
  • อนินทรีย์เคมี, ทองศุข พงศทัต, บัวเรศ คำทอง และเทพ เชียงทอง, กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2514.
  • ตำราอนินทรียเคมี, ทองศุข พงศทัต บัวเรศ คำทอง และเทพ เชียงทอง, กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2509.
  • ประโยชน์ของวิชาเคมีต่อมนุษย์, ทองศุข พงศทัต กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา บัวเรศ คำทอง พร้อม วัชระคุปต์ และต่อพงศ์ โทณะวณิก, พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2505.
  • เรียนเขียนสมการเคมี โดยตนเอง สำหรับชั้น ม.ศ 4-5 และฝึกหัดครู ป.กศ., ศาสตราจารย์ ทองศุข พงศทัต ศาสตราจารย์ บัวเรศ คำทอง และ อาจารย์ พ.อ. คณิต มีสมมนต์, สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์
  • คู่มือคำนวณวิชาเคมี พร้อมด้วยภาคบรรยาย สำหรับชั้นเตรียมอุดมศึกษา (ม.๗-ม.๘) กวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัย และนักเรียนฝึกหัดครู ป.ป และป.ม., อาจารย์ ทองศุข พงศทัต และอาจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง เรียบเรียง, 2500.
  • Tutorial Chemical calculation สำหรับมหาวิทยาลัย, ทองศุข พงศทัต บัวเรศ คำทอง และกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพไพศาล, 2503.
  • แบบเรียนวิชาเคมี, ทองศุข พงศทัต บัวเรศ คำทอง และ คณิต มีสมมนต์, กรุงเทพมหานคร : ม.ป.พ., 2509.

บทความ (ค้นจาก http://library.stks.or.th เก็บถาวร 2013-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน)[แก้]

  • การศึกษาวิทยาศาสตร์ชั้นสูง ในชุมนุมวิทยาศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่1 (2490) หน้า 1.
  • เส้นด้ายเส้นไหม ในชุมนุมวิทยาศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 (ธ.ค. 2490) หน้า 29.
  • การสอนวิชาเคมีในมหาวิทยาลัย ในวารสารวิทยาศาสตร์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 6 (มิ.ย. 2510) หน้า514. [ISSN 0125-0515]
  • ข้อบกพร่องในการตอบข้อสอบขั้นเตรียมอุดมศึกษา : เคมี ในวารสารวิทยาศาสตร์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 (ก.พ. 2506) หน้า 145. [ISSN 0125-0515]

บทความที่ค้นพบในฐานข้อมูลออนไลน์ (SCOPUS)[แก้]

  • 1. Furano-compounds. Part III. Euparin

Kamthong, B., Robertson, A.

Journal of the Chemical Society (Resumed), 1939, Pages 925-930.

  • 2. Furano-compounds. Part V. The synthesis of tetrahydroeuparin and the structure of euparin

Kamthong, B., Robertson, A.

Journal of the Chemical Society (Resumed), 1939, Pages 933-936.

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๗, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๑๒๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๓, ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๐
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๗๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๖, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๕
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๓๖, ๒๗ ธันวาคม ๒๕๐๖

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า บัวเรศ คำทอง ถัดไป
พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(24 เมษายน พ.ศ. 2512 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2514)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บุญสม มาร์ติน