บัวตอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บัวตอง
ดอกบัวตอง
ดอกบัวตอง (ข้างหลัง)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: แอสเทอริด
อันดับ: อันดับทานตะวัน
วงศ์: วงศ์ทานตะวัน
สกุล: Tithonia
(Hemsl.) A.Gray
สปีชีส์: Tithonia diversifolia
ชื่อทวินาม
Tithonia diversifolia
(Hemsl.) A.Gray
ชื่อพ้อง
  • Mirasolia diversifolia Hemsl.[1]

บัวตอง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tithonia diversifolia (Hemsl.) A.Gray.) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก เป็นไม้ดอกมีอายุยืนยาวหลายปี สามารถสูงได้ถึง 5 เมตร ออกดอกเป็นช่อเดียว บริเวณปลายกิ่ง มีสีเหลืองคล้ายดอกทานตะวัน แต่มีขนาดเล็กกว่า ดอกวงนอกเป็นหมัน กลีบเรียวมีประมาณ 12–14 กลีบ ดอกวงในสีเหลืองส้มเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ใบของบัวตองเป็นใบเดี่ยว รูปไข่หรือแกมขอบขนาน มีขนขึ้นเล็กน้อยประปราย บริเวณ ปลายใบเว้า มีขนขึ้นเล็กน้อยประปราย ปลายใบเว้าลึก 3–5 แฉก ชอบขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น จะออกดอกสวยงามที่สุดบนยอดดอยที่สูงกว่า 800 เมตรขึ้นไป โดยจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมเท่านั้น ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด[2]

ในประเทศไทย บัวตองมิใช่พืชพื้นเมือง แต่มีสถานที่ที่มีดอกบัวตองขึ้นอย่างงดงามกว้างขวางเป็นทุ่งและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป คือ ดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีที่มาจากการที่บาทหลวง ชาวเม็กซิโกผู้หนึ่งนำมาปลูก และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่จะกลายมาเป็นทุ่งบัวตองอย่างในปัจจุบัน[3] และถือเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน[2]

ข้อมูลด้านนิเวศวิทยา[แก้]

พืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน[แก้]

บัวตองเป็นพืชที่ทนต่อความร้อนและความแห้งแล้ง สามารถขยายทรงพุ่มให้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในต่างประเทศเช่น ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกและออสเตรเลีย จะพบตามข้างถนนและรบกวนพืชท้องถิ่นได้เป็นวงกว้าง มีการปล่อยสารพิษยับยั้งการเติบโตของพืชต้นอื่น มีอายุยืนยาว ต้นแตกหน่อได้ดี นอกจากนี้บัวตองมีเมล็ดที่มีน้ำหนักเบาและผลิตได้จำนวนมาก จึงสามารถแพร่พันธุ์ไปได้อย่างรวดเร็ว[4][5]

การรุกรานในประเทศไทย[แก้]

บัวตองเป็นพืชที่มักก่อความเสียหายต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ พบบัวตองระบาดในพื้นที่สูงเกินระดับ 800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป พบระบาดมากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบาดปานกลางในเชียงใหม่และเชียงราย ระบาดน้อยในพื้นที่จังหวัดลำปาง ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย[6]

การควบคุมจำนวน[แก้]

บัวตองไม่สามารถกำจัดโดยการถางหรือขุดทำลายได้ และเป็นไม้ดอกที่มีความสวยงาม ทำให้คนนำเมล็ดไปขยายพันธุ์และหลุดเข้าสู่ธรรมชาติ จึงควรควบคุมโดยการห้ามไม่ใหคนนำเมล็ดไปเพาะขยายพันธุ์ ส่วนที่เป็นวัชพืชในธรรมชาติ ถ้ายังระบาดไม่มาก สามารถควบคุมโดยการถางลำต้นและขุดรากทำลายทิ้งก่อนที่จะมีการออกดอก แต่ถ้าพื้นที่การระบาดมีวงกว้าง ควรใช้สารเคมีในการควบคุม เช่น สารเคมีในกลุ่มไกลโฟเสท[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Tithonia diversifolia". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ 2011-05-19.
  2. 2.0 2.1 "บัวตอง". panmai.com. สืบค้นเมื่อ 19 November 2014.
  3. "นายคงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์". สืบค้นเมื่อ 19 November 2014.
  4. "Tithonia diversifolia". Global invasive species database. Tithonia diversifolia. สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "Tithonia diversifolia (Tithonia)". Invasive Species Compendium. Tithonia diversifolia. สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 "บัวตอง". สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นรุกรานในประเทศไทย ( IAS in Thailand ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-18. สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help) อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "six" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Tithonia diversifolia ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Tithonia diversifolia ที่วิกิสปีชีส์ แม่แบบ:WestAfricanPlants