บัตรภาพตราไปรษณียากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บัตรภาพตราไปรษณียกรชุด นิโคไล โกโกล

บัตรภาพตราไปรษณียากร (อังกฤษ: maximum card) หรือ เรียกสั้น ๆ ว่าบัตรภาพฯ ประกอบไปด้วยแสตมป์ผนึกบนด้านหน้าของโปสการ์ดที่มีภาพสอดคล้องกัน และตราประทับก็ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องราวบนแสตมป์อีกด้วย การสะสมในลักษณะนี้เรียกว่า maximaphily และเป็นที่นิยมมากในยุโรป แต่เดิมนักสะสมต้องค้นหาโปสการ์ดที่เกี่ยวข้องเอง แต่ในปัจจุบันไปรษณีย์ของหลาย ๆ ประเทศรวมไปถึงประเทศไทยได้ออกบัตรภาพฯ สำเร็จรูปมาจำหน่ายให้กับนักสะสมแสตมป์

สำหรับประเทศไทย บัตรภาพฯ ที่จำหน่ายมี 2 แบบ คือ บัตรภาพฯ แบบธรรมดา ซึ่งเป็นโปสการ์ดเปล่า ยังไม่ได้ติดแสตมป์ และบัตรภาพฯ แบบสมบูรณ์ ซึ่งติดแสตมป์และประทับตราเรียบร้อยแล้ว แบบธรรมดามักออกวางจำหน่ายก่อนแสตมป์ออกจริงประมาณสองอาทิตย์เพื่อมีเวลาให้นักสะสมเตรียมตัว ส่วนแบบสมบูรณ์จะออกพร้อมแสตมป์ชุดที่เกี่ยวข้อง

บัตรภาพฯ ชุดแรกของไทยคือ ชุดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ (แสตมป์วันแรกจำหน่าย 22 มกราคม พ.ศ. 2527) โดยบัตรภาพฯ รุ่นแรก ๆ มีเฉพาะแบบธรรมดาเท่านั้น บัตรภาพฯ แบบสมบูรณ์ชุดแรกคือ ชุดสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมาย พ.ศ. 2529 (แสตมป์วันแรกจำหน่าย 5 ตุลาคม พ.ศ. 2529) ปัจจุบันไปรษณีย์ของไทยได้ยกเลิกการออกบัตรภาพฯ แล้ว นักสะสมจำเป็นต้องหาโปสการ์ดมาติดแสตมป์และประทับตราด้วยตัวเอง

บัตรภาพฯ สามารถส่งได้ทางไปรษณีย์ได้ โดยที่ทางไปรษณีย์ไทยวางกฎเกณฑ์ของบัตรภาพฯว่าจะต้องติดแสตมป์ด้านที่เขียนที่อยู่ผู้รับของโปสการ์ดให้พอกับค่าไปรษณีย์อีกด้วย นอกเหนือจากแสตมป์ที่ติดบนด้านที่เป็นรูปภาพ