บักวีต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บักวีต
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Core eudicots
อันดับ: Caryophyllales
วงศ์: Polygonaceae
สกุล: Fagopyrum
สปีชีส์: F.  esculentum
ชื่อทวินาม
Fagopyrum esculentum
Moench
ชื่อพ้อง[1]
  • Fagopyrum cereale Raf.
  • Fagopyrum dryandrii Fenzl
  • Fagopyrum emarginatum (Roth) Meisn.
  • Fagopyrum emarginatum Moench
  • Fagopyrum fagopyrum (L.) H.Karst. nom. inval.
  • Fagopyrum polygonum Macloskie nom. illeg.
  • Fagopyrum sagittatum Gilib. nom. inval.
  • Fagopyrum sarracenicum Dumort.
  • Fagopyrum vulgare Hill ex Druce nom. inval.
  • Fagopyrum vulgare T.Nees
  • Polygonum emarginatum Roth
  • Polygonum fagopyrum L.

บักวีต ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagopyrum esculentum เป็นพืชในวงศ์ Polygonaceae เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นเหลี่ยม กลวง ใบที่อยู่ด้านบนเกือบจะไม่มีก้านใบ ดอกออกเป็นช่อ ก้านดอกสั้นสีแดงกุหลาบจนถึงสีขาว ผลเป็นผลแห้งเมล็ดล่อนสีน้ำตาลดำไปจนเกือบดำ เมล็ดสีเขียวอ่อนแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมแดง การปลูกบักวีตเป็นอาหารพบที่เทือกเขาหิมาลัยตั้งแต่อินเดีย เนปาล ไปจนถึงพม่า จีนและมองโกเลีย รวมทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปลูกทางภาคเหนือของเวียดนามและไทย บักวีตสามารถเติบโตได้ในดินที่ไม่ดี ปลูกธัญพืชอื่น ๆ ไม่ได้ผล ถ้าดินมีไนโตรเจนหรือความชื้นสูง ทำให้เฝือใบ

ดอกบักวีต

สายพันธุ์[แก้]

บักวีตแบ่งตามลักษณะของผลได้เป็นกลุ่มพันธุ์จำนวน 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มพันธุ์ esculentum หรือ var. emarginatum เป็นพันธุ์ที่พบในจีน ญี่ปุ่นและอินเดีย ผลมีปีก
  • var. vulgare ผลเมื่อตัดตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม
  • กลุ่มพันธุ์ Pyramidatum ผลเป็นทรงปิรามิด

การใช้ประโยชน์[แก้]

เมล็ดและดอกแห้งของบักวีต

เมล็ดเมื่อเอาเปลือกออกแล้วมาโม่เป็นแป้งใช้ทำอาหารได้หลายอย่างเช่น ขนมปัง แพนเค้ก เกี๊ยวและเส้นก๋วยเตี๋ยวเช่น โซบะ โจ๊ก เค้ก และขนมปังกรอบ ในสมัยโบราณ บักวีตเป็นอาหารในยามขาดแคลนของญี่ปุ่น โดยนำเมล็ดบักวีตมารับประทานเช่นเดียวกับข้าว เช่นต้มกับน้ำทำเป็นข้าวต้ม บดเป็นแป้งแล้วมาทำเส้นโซบะ มีการนำเมล็ดบักวีตที่เรียก groat มาปรุงอาหาร ถ้าเมล็ดคั่วแล้วเรียก kasha แป้งจากบักวีตไม่มีกลูเตน การทำโซบะสดแบบดั้งเดิมที่ใช้แป้งจากบักวีต 90 – 100% จึงต้องใช้ฝีมือในการนวดแป้ง เส้นโซบะที่ผลิตทางอุตสาหกรรมจะผสมแป้งสาลีถึง 60% ในญี่ปุ่นนิยมมอบเส้นโซบะให้เพื่อนบ้านที่ย้ายมาอยู่ใหม่ นิยมรับประทานในการส่งท้ายปีเก่า ในงานเลี้ยง นิยมรับประทานโซบะเป็นจานสุดท้าย

ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักได้ ทุกส่วนของลำต้นเหนือดินมีฟลาโวนอยด์ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นยา ในแถบเทือกเขาหิมาลัย นำบักวีตไปผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยังผลิตน้ำผึ้งจากแปลงปลูกบักวีตได้ด้วย โดยจะได้น้ำผึ้งสีเข้ม ลำต้นใช้ทำหญ้าแห้งเลี้ยงสัตว์ได้แต่ควรให้รวมกับหญ้าอื่น ๆ เมล็ดบักวีตที่ไม่กะเทาะเปลือกมีเส้นใยสูง นอกจากนั้น ยังมีกรดอะมิโนไลซีนสูง

อ้างอิง[แก้]

  • พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10: ธัญพืช. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 125
  • ทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ใน 75 วันโซบะจะคืนสู่แผ่นดิน. ครัว ปีที่ 19 ฉบับที่ 222 ธันวาคม 2555 หน้า 91 - 95
  1. "The Plant List: A Working List of All Plant Species". สืบค้นเมื่อ 3 October 2014.