นีโม...ปลาเล็ก หัวใจโต๊...โต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นีโม...ปลาเล็ก หัวใจโต๊...โต
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับแอนดรูว์ สแตนตัน
บทภาพยนตร์
เนื้อเรื่องแอนดรูว์ สแตนตัน
อำนวยการสร้างแกรม วอลเทอร์ส
นักแสดงนำ
กำกับภาพ
ตัดต่อเดวิด เอียน ซอลเทอร์
ดนตรีประกอบทอมัส นิวแมน
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายบวยนาวิสตาพิกเชอส์
ดิสทริบิวชัน
วันฉาย30 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 (2003-05-30)(สหรัฐ)
3 ตุลาคม ค.ศ. 2003 (2003-10-03)(ไทย)
ความยาว100 นาที[1]
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[1]
ทำเงิน940.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[1]

นีโม...ปลาเล็ก หัวใจโต๊...โต (อังกฤษ: Finding Nemo) เป็นภาพยนตร์คอมพิวเตอร์แอนิเมชันอเมริกันแนวผจญภัย ฉายเมื่อปี ค.ศ. 2003 สร้างโดย พิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ และจัดจำหน่ายโดย วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์ กำกับและเขียนบทร่วมโดย แอนดรูว์ สแตนตัน และมี ลี อุนคริช เป็นผู้กำกับร่วม บทภาพยนตร์เขียนโดย บ็อบ ปีเตอร์สัน, เดวิด เรย์โนลส์และสแตนตัน จากเนื้อเรื่องโดยสแตนตัน ภาพยนตร์แสดงนำจากการให้เสียงโดย อัลเบิร์ต บรูกส์, เอลเลน ดีเจนเนอริส, อเล็กซานเดอร์ กูลด์และวิลเลม เดโฟ ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของ มาร์ลิน ปลาการ์ตูนที่มีนิสัยปกป้องเกินเหตุ โดยเขาร่วมเดินทางกับ ดอรี ปลาขี้ตังเบ็ดฟ้า เพื่อตามหา นีโม ลูกชายของเขาที่หายตัวไป ระหว่างทาง มาร์ลินเรียนรู้ที่จะเสี่ยงและตกลงกับนีโมว่าเขาจะดูแลตัวเอง

ภาพยนตร์ฉายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 เป็นภาพยนตร์พิกซาร์เรื่องแรกที่ได้รับรางวัล รางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และได้เข้าชิงอีกสามสาขา ได้แก่ บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและลำดับเสียงยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ทำเงิน 871 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก จากการฉายครั้งแรก[2] ทำให้เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ทำเงินสูงสุด ณ ช่วงเวลานั้น และเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดอันดับที่สองในปี ค.ศ. 2003

นีโม...ปลาเล็ก หัวใจโต๊...โต เป็นภาพยนตร์ลงแผ่นดีวีดีที่ขายดีที่สุดตลอดกาล ด้วยยอดขายมากกว่า 40 ล้านชุด ณ ปี ค.ศ. 2006[3] และเคยเป็นภาพยนตร์เรต G (ทั่วไป) ที่ทำเงินสูงสุด ก่อนที่ ทอย สตอรี่ 3 จะทำเงินแซงไป ภาพยนตร์ฉายใหม่ในรูปแบบสามมิติเมื่อปี ค.ศ. 2012 สถาบันภาพยนตร์อเมริกัน จัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมาอันดับที่สิบ โดยเป็นส่วนหนึ่งของรายการ 10 ทอป 10[4] นีโม...ปลาเล็ก หัวใจโต๊...โต ได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งในร้อยภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 จากโพลของนักวิจารณ์นานาชาติประจำปี ค.ศ. 2016 ซึ่งจัดโดย บีบีซี[5] ภาพยนตร์ภาคต่อ ผจญภัยดอรี่ขี้ลืม ฉายเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016

โครงเรื่อง[แก้]

มาร์ลิน เป็นปลาการ์ตูนที่อาศัยอยู่ในดอกไม้ทะเลบริเวณเกรตแบร์ริเออร์รีฟ คอรัล ภรรยาของเขาและไข่ปลาส่วนใหญ่ของพวกเขาโดนปลาสากโจมตี เหลือเพียงไข่ปลาที่เสียหายใบเดียว มาร์ลินตั้งชื่อว่า นีโม

หลายปีต่อมา มาร์ลินนั้นมีนิสัยปกป้องนีโมเกินเหตุ ในวันเปิดเทอมวันแรกของนีโม มาร์ลินทำให้นีโมอับอาย และทั้งสองทะเลาะกัน ระหว่างที่มาร์ลินกำลังคุยกับครูของนีโม นีโมก็ว่ายเข้าใกล้เรือเร็วที่อยู่ใกล้ ๆ อย่างท้าทาย ทำให้เขาถูกจับโดยนักประดาน้ำสองคน มาร์ลินไล่ตามเรืออย่างสิ้นหวังและพบกับ ดอรี ปลาขี้ตังเบ็ดฟ้าที่ป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมระยะสั้นเฉียบพลัน โดยเธอเสนอตัวช่วยเหลือมาร์ลิน ทั้งคู่เผชิญหน้าปลาฉลามสามตัวที่สาบานว่าจะไม่กินปลา มาร์ลินค้นพบหน้ากากของนักประดาน้ำที่ตกลงมาจากเรือ เขาบังเอิญทำมันไปกระแทกโดนดอรี ทำให้เธอเลือดกำเดาไหล กลิ่นเลือดของเธอทำให้ปลาฉลามตัวหนึ่งบ้าคลั่ง ขณะที่พวกเขากำลังหนี พวกเขาบังเอิญไปทำให้ทุ่นระเบิดเก่าทำงาน ซึ่งทำให้มาร์ลินและดอรีหมดสติไป

นีโมถูกจับใส่ลงในตู้ปลาของห้องทำฟันของทันตแพทย์ในซิดนีย์, ออสเตรเลีย เขาพบกัน "แก๊งตู้ปลา" ประกอบด้วย บับเบิลส์ ปลาขี้ตังเบ็ดเหลือง, พีช ดาวทะเล, ฌาคส์ กุ้งพยาบาล, โบล์ต ปลาปักเป้าฟันสี่ซี่, เกอร์เกิล ปลารอยัลแกรมมา, เด็บ ปลาสลิดหิน และหัวหน้ากลุ่ม กิลล์ ปลาโนรีเทวรูป นีโมรู้ว่าเขาจะถูกมอบให้กับดาร์ลา หลานสาวของทันตแพทย์ ซึ่งเคยทำปลาตัวก่อนหน้านี้เสียชีวิต กิลล์วางแผนหลบหนีที่เสี่ยงอันตราย โดยให้นีโมที่สามารถใส่เข้าไปในท่อกรองของตู้ปลาได้ ติดใบพัดด้วยก้อนกรวด บังคับให้ทันตแพทย์ใส่ปลาลงในถุงพลาสติกในขณะที่เขาทำความสะอาดตู้ปลา เปิดโอกาสให้พวกเขากลิ้งออกไปนอกหน้าต่างและลงไปในท่าเรือ นีโมพยายามทำตามแผน แต่ก็ล้มเหลวและเกือบถูกฆ่า

มาร์ลินและดอรีตื่นขึ้นมาโดยปราศจากอันตราย แต่หน้ากากก็ตกลงไปในร่องลึก พวกเขาดำลงไปและเผชิญหน้ากับ ปลาตกเบ็ด ที่ไล่ตามพวกเขา ดอรีจำที่อยู่เขียนไว้บนแว่นได้แล้ว พวกเขาก็หนีไป ดอรีและมาร์ลินได้รับการบอกทางจากฝูงปลาเฉี่ยว แต่มาร์ลินไม่สนใจคำแนะนะของพวกเขา เขาเชื่อว่าเป็นเส้นทางอื่นนั้นปลอดภัยกว่า พวกเขาสะดุดเข้าไปในดงแมงกะพรุน และโดนหนามของมัน ทำให้พวกเขาหมดสติไป พวกเขาตื่นขึ้นในกระแสน้ำของออสเตรเลียตะวันออก ร่วมกับกลุ่มของเต่าทะเล ประกอบด้วย ครัชและสเควิร์ต ลูกชายของเขา มาร์ลินบอกพวกเขาเกี่ยวกับภารกิจของเขา และเรื่องราวถูกส่งต่อข้ามมหาสมุทรไปยังซิดนีย์โดยที่ ไนเจล นกกระทุง บอกเรื่องนี้ให้กับแก๊งตู้ปลา ด้วยแรงบันดาลใจจากความกล้าหาญของพ่อ นีโมจึงพยายามอีกครั้งเพื่อขัดขวางตัวกรองและประสบความสำเร็จ และในไม่ช้าตู้ปลาก็ถูกปกคลุมไปด้วย สาหร่ายสีเขียว

มาร์ลินและดอรีออกจากกระแสน้ำของออสเตรเลียตะวันออก และถูกกลืนโดยวาฬสีน้ำเงิน ดอรีพยายามสื่อสารกับวาฬ พวกเขาถูกพ่นออกจากรูพ่นน้ำของวาฬที่ท่าเรือซิดนีย์ พวกเขาพบกับไนเจล โดยเขาช่วยทั้งคู่หนีจากฝูงนกนางนวลและพาพวกเขาไปที่ห้องทำฟันของทันตแพทย์ ทันตแพทย์ได้ติดตั้งตัวกรองไฮเทคตัวใหม่ ขัดขวางการหลบหนีของแก๊งตู้ปลา เมื่อดาร์ลาเดินทางมาถึง นีโมแกล้งตายเพื่อเอาตัวรอด และเมื่อมาร์ลิน, ดอรีและไนเจลเดินทางมาถึงห้องทำฟัน ไนเจลสร้างความปั่นป่วน ทำให้ดาร์ล่ากลัว และทำให้ห้องทำฟันตกอยู่ในความโกลาหล มาร์ลินเห็นนีโมแกล้งตาย เชื่อว่านีโมตายแล้ว หลังจากทันตแพทย์โยนไนเจล (พร้อมกับมาร์ลินและดอรี) ออกไป กิลล์ช่วยนีโมหลบหนีผ่านท่อระบายน้ำที่นำไปสู่มหาสมุทร

มาร์ลินผู้สิ้นหวังกล่าวอำลาดอรีและเริ่มเดินทางกลับบ้าน การจากไปของมาร์ลินทำให้ดอรีสูญเสียความทรงจำ นีโมเดินไปถึงมหาสมุทรและพบกับดอรี แต่เธอจำเขาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ความจำของเธอกลับมาอีกครั้งหลังเธออ่านว่า "ซิดนีย์" บนท่อระบายน้ำ ดอรีและนีโมรวมตัวกับมาร์ลินอีกครั้ง แต่เรือลากอวนจับเธอพร้อมกับฝูงปลากะรัง นีโมจึงเข้าไปในอวน และเขากับมาร์ลินสั่งให้ปลาทุกตัวว่ายลง แรงรวมของพวกปลาทำลายอวนของเรือ ทำให้พวกมันหนีไปได้ มาร์ลินและนีโมคืนดีกัน

หลังจากกลับบ้านที่แนวปะการัง มาร์ลินมีความมั่นใจมากขึ้น ในขณะที่ดอรียังคงเป็นเพื่อนกับเหล่าฉลาม มาร์ลินและดอรีเห็นนีโมเดินทางไปโรงเรียน

ที่ห้องทำฟัน ที่กรองตู้ปลาเสียและเหล่าแก๊งค์ถูกจับใส่ถุงแล้วหนีลงในท่าเรือ พวกเขายังคงติดอยู่ในถุงและไตร่ตรองว่าจะทำอย่างไรต่อจากนี้

การเปิดตัว[แก้]

ภาพยนตร์ได้รับการเปิดตัวครั้งแรก ณ วันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 ส่วนในระบบวีเอชเอสและดีวีดีได้รับการเปิดตัว ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2003 และเปิดตัวในรูปแบบบลูเรย์ดิสก์ที่บางแห่งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2012 หลังจากความสำเร็จในการเปิดตัว เดอะ ไลอ้อน คิง อีกครั้งในรูปแบบ 3 มิติ ดิสนีย์และพิกซาร์ จึงได้ประกาศการเปิดตัว นีโม...ปลาเล็กหัวใจโต๊...โต อีกครั้งในรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งมีแผนเปิดตัวในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2012 [6]

การตอบรับ[แก้]

นีโม...ปลาเล็ก หัวใจโต๊...โต ได้รับการยกย่องในเวทีสากล ซึ่งปัจจุบันมีค่าระดับที่ 98% ในเว็บไซต์รอทเทนโตเมโต้ จากค่าระดับเต็มที่มีอยู่ 100% โดยนักวิจารณ์ชั้นนำ และค่าเฉลี่ยที่ระดับ 89% ในเว็บไซต์เมต้าคริติค รวมถึงได้รับสี่ดาวจากเว็บไซต์เอ็มไพร์[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Finding Nemo". Box Office Mojo. IMDb. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 21, 2020. สืบค้นเมื่อ June 18, 2021.
  2. "Finding Nemo (2003)". Box Office Mojo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 31, 2012.
  3. Boone, Louis E.Contemporary Business 2006, Thomson South-Western, page 4 – ISBN 0-324-32089-2
  4. "Top 10 Animation". American Film Institute. สืบค้นเมื่อ June 16, 2014.
  5. "The 21st Century's 100 greatest films". BBC. August 23, 2016. สืบค้นเมื่อ December 16, 2016.
  6. Smith, Grady (October 4, 2011). "'Beauty and the Beast,' 'The Little Mermaid,' 'Finding Nemo,' 'Monsters, Inc.' get 3-D re-releases". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-14. สืบค้นเมื่อ October 27, 2011.
  7. "Finding Nemo (2002)". Rotten Tomatoes.com. สืบค้นเมื่อ 2008-02-12.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]