ประภัสร์ จงสงวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นายประภัสร์ จงสงวน)
ประภัสร์ จงสงวน
ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
ดำรงตำแหน่ง
12 พฤศจิกายน 2555 – 10 กรกฎาคม 2557
ก่อนหน้ายุทธนา ทัพเจริญ
ถัดไปประเสริฐ อัตตะนันทน์ (รักษาการ)
ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
แห่งประเทศไทย
ดำรงตำแหน่ง
17 ตุลาคม 2540 – 1 กันยายน 2551
รักษาการแทนเยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว (รักษาการ)
ก่อนหน้าธีระพงษ์ อรรถจารุสิทธิ์
ถัดไปชูเกียรติ โพธยานุวัตร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด18 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 (68 ปี)
กรุงเทพมหานคร
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองพลังประชาชน (2550–2551)
เพื่อไทย (2551–2561,2565–ปัจจุบัน)
ไทยรักษาชาติ (2561–2562)
ไทยสร้างไทย (2564–2565)

ประภัสร์ จงสงวน เป็นอดีตกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

ประภัสร์ จงสงวน จบการศึกษาจากระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเมื่อ พ.ศ. 2521 จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาอาชญวิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท[1] สหรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2524

การทำงาน[แก้]

เดิมทีเขาต้องการเป็นตำรวจสหรัฐอเมริกา[1] แต่เนื่องจากมารดาเรียกตัวกลับไทย ประภัสร์ตระหนักดีถึงชีวิตราชการตำรวจไทย เขาจึงหันไปทำงานด้านกฎหมาย โดยการทำงานที่สำนักงานกฎหมาย ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน[1] ซึ่งส่วนใหญ่ได้ทำคดีเกี่ยวกับภาครัฐ โดยเฉพาะกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จนได้รู้จักกับ เจ้าพนักงานอัยการ จุลสิงห์ วสันตสิงห์ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ประภัสร์ได้เข้ามาทำงานที่การทางพิเศษตามคำชวนของอัยการจุลสิงห์ ในตำแหน่งนิติกร[1] โดยทำงานภายใต้นายสุขวิช รังสิตพล ผู้อำนวยการการทางพิเศษในขณะนั้น ประภัสร์ในตำแหน่งนักกฎหมายช่วยให้ไทยบอกเลิกสัญญารถไฟฟ้าลาวาลิน โดยที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถฟ้องร้องการทางพิเศษ

ต่อมาในปี 2537 นายสุขวิชได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เขาจึงยืมตัวประภัสร์ชั่วคราว มาเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของตนเอง ในสมัยรัฐบาลชวน 1 [1] แล้วจึงย้ายกลับไปทำงานที่การทางพิเศษ จนได้ขึ้นเป็นรองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นตำแหน่งสุดท้ายจนถึง พ.ศ. 2540 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) รับผิดชอบงานโครงการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน และดำรงตำแหน่งนี้ยาวนานถึงปี 2551

ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[แก้]

พ.ศ. 2551 ประภัสร์ที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการฯ รฟม.อยู่ ได้รับการทาบทามจากพรรคพลังประชาชน ให้ลงสมัครในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2551 ในนามของตัวแทนจากพรรคพลังประชาชน ซึ่งทำให้เขาต้องลาออกจากการเป็นผู้ว่าการฯรฟม. ในการเลือกตั้งครั้งนั้น ประภัสร์ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียง 543,488 คะแนน มากเป็นลำดับสองรองจากอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์

ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย[แก้]

หลังจากการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ประภัสร์เข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 เขาได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี และลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งประภัสร์ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2555[2]

ในตำแหน่งนี้ เขาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของรัฐบาลในการผลักดันโครงการปฏิรูประบบราง เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย, รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟทางคู่ โดยเป็นกรรมาธิการพิจารณา พรบ. โครงสร้างพื้นฐานสองล้านล้านบาท ในช่วงการดำรงตำแหน่งผู้ว่ารฟท.ของเขา มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อาทิ การรื้อและทำทางรถไฟใหม่ทั้งหมดในเขตภาคเหนือตอนบน, แก้แบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต จาก 3 เป็น 4 ทาง, แก้แบบให้สถานีกลางบางซื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง, จัดซื้อขบวนรถด่วนพิเศษจำนวน 8 ขบวน (115 ตู้) เพื่อให้บริการในสี่เส้นทาง (อุตราวิถี, อีสานวัฒนา, อีสานมรรคา, ทักษิณารัถย์)

ในเดือนกรกฎาคม 2557 มีกระแสกดดันจากประชาชนบางส่วนอย่างรุนแรงให้ประภัสร์ลาออก หลังเกิดเหตุพนักงานการรถไฟก่อเหตุฆ่าข่มขืนผู้โดยสารในรถไฟ นายประภัสร์ปฏิเสธไม่ยอมลาออก [3] คณะรัฐประหารเห็นโอกาสปลดนายประภัสร์ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม พลเอกประยุทธ์จึงปลดประภัสร์ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ต่อมา ศาลปกครองกลางพิพากษาว่านายประภัสร์ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยชดใช้นายประภัสร์เป็นจำนวนเงิน 3.1 ล้านบาท[4]

ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[แก้]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ลำดับที่ 26 แต่พรรคไทยรักษาชาติ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ประภัสร์ จงสงวน แห่ง รฟม.ผอ.รัฐวิสาหกิจปลอดการเมือง? เก็บถาวร 2019-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2540.
  2. ครม. มีมติเห็นชอบ 'ประภัสร์ จงสงวน' นั่งผู้ว่าการ รฟท. 12 พฤศจิกายน 2555. ไทยรัฐ.
  3. ประยุทธ์ปลดประภัสร์พ้นผู้ว่าฯรฟท. เก็บถาวร 2014-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โพสต์ทูเดย์, 10 กรกฎาคม 2557
  4. ศาลปกครองสั่ง รฟท. จ่าย 3.1 ล้าน ชดเชยเลิกจ้าง “ประภัสร์ จงสงวน” ประชาชาติธุรกิจ. 5 กันยายน 2561
  5. เปิด 108 รายชื่อผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไทยรักษาชาติ ติดบ่วงยุบพรรค
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2013-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ข หน้า ๒๑๗, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๕๗, ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า ประภัสร์ จงสงวน ถัดไป
ยุทธนา ทัพเจริญ
ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
(12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557)
ประเสริฐ อัตตะนันทน์
(รักษาการ)
ธีระพงษ์ อรรถจารุสิทธิ์
ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการรถไฟฟ้ามหานคร

ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
(17 ตุลาคม พ.ศ 2540 - 1 กันยายน พ.ศ. 2551)
เยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว
(รักษาการ)